กฎหมายการขายไฟฟ้าจากโซล่ารูฟท็อป

กฎหมายการขายไฟฟ้าจากโซล่ารูฟท็อป

ปัจจุบันกำลังการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศ รัฐบาลจึงส่งเสริมให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในการผลิตไฟฟ้า

เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ

ารผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เป็นทางเลือกหนึ่งในการส่งเสริมดังกล่าว เนื่องจากพลังจากแสงอาทิตย์ เป็นพลังงานทดแทนประเภทหมุนเวียนที่ใช้แล้วเกิดขึ้นใหม่ได้ตามธรรมชาติ การเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์มาเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Module) ที่ติดตั้งบนหลังคาที่พักอาศัยหรืออาคารต่าง ๆ ที่เรียกว่า โซลาร์ รูฟท็อป (Solar Rooftop) โดยรับพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาเปลี่ยนเป็นไฟฟ้ากระแสตรง ก่อนส่งไปยังเครื่องแปลงไฟ (Inverter) เพื่อเปลี่ยนจากไฟฟ้ากระแสตรงเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ แล้วนำพลังงานไฟฟ้าที่ได้ไปใช้งานต่อไป

เมื่อครัวเรือนที่ติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อปใช้ไฟฟ้าปริมาณน้อยกว่าปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ ทำให้มีพลังงานไฟฟ้าเหลือจากการใช้งานและพลังงานไฟฟ้าส่วนเกินนั้นสามารถนำไปขายต่อได้

อย่างไรก็ตาม รัฐได้กำหนดให้รัฐวิสาหกิจ (การไฟฟ้าแห่งประเทศไทย) สามารถเป็นผู้ซื้อแต่เพียงรายเดียวและนำจำหน่ายต่อให้ผู้บริโภค ตามระเบียบคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน (กกพ.) ว่าด้วยการการรับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา พ.ศ. 2556 ข้อ 6 ซึ่งกำหนดให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ซึ่งประกอบด้วย การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าภูมิภาค (กฟภ.) เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (ผู้ผลิตไฟฟ้า ทั้งภาคเอกชน รัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และประชาชนทั่วไปที่มีเครื่องกําเนิดไฟฟ้าของตนเอง โดยมีปริมาณพลังไฟฟ้าขายเข้าระบบไม่เกิน 10 เมกะวัตต์) ณ จุดรับซื้อไฟฟ้า)

ระเบียบดังกล่าว ส่งผลทำให้เอกชนไม่สามารถซื้อขายกันเองได้โดยตรงหรือขายให้กับประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าได้โดยตรง

นอกจากนี้ มาตรา 10 ของพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ยังได้กำหนดให้คณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้กำกับดูแลกิจการพลังงาน ซึ่งมีหน้าที่ในการกำหนดระเบียบและหลักเกณฑ์ในการจัดหาไฟฟ้า ออกประกาศเชิญชวนการซื้อไฟฟ้า และกำกับดูแลขั้นตอนการคัดเลือก ซึ่งระเบียบดังกล่าวได้ให้อำนาจ กกพ.ในการเข้าไปแทรกแซงการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนผู้ผลิตรายเล็กมากได้

อำนาจของ กกพ. ดังกล่าวเป็นการแทรกแซงในด้านกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจ ที่เกิดจากการที่รัฐออกกฎหมายเข้ามาแทรกแซงระบบเศรษฐกิจ ซึ่งในความจริงแล้วหากให้เอกชนผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมากสามารถทำการขายกระแสไฟฟ้าได้อย่างเสรี ส่งผลให้เกิดผู้ผลิตรายเล็กที่สามารถเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้จำหน่ายได้ไปในคราวเดียวกัน โดยเกิดการแข่งขันกันในรูปแบบตลาดเสรีขึ้น จะทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์โดยตรง โดยรัฐควรเป็นเพียงผู้กำหนดราคากลางหรือระเบียบในการแข่งขันทางการค้ามากกว่าการเป็นผู้จัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว

อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่ไฟฟ้าป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบัน เนื่องจากเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ล้วนต้องอาศัยพลังงานจากไฟฟ้าในการทำงานทั้งสิ้น และไฟฟ้าถือเป็นสาธารณูปโภคอย่างหนึ่ง รัฐจึงสามารถเข้ามาควบคุมได้ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการใช้งานอย่างสะดวก ทั่วถึง และเป็นธรรม ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของรัฐในการจัดทำบริการสาธารณะด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน

ดังนี้ การที่รัฐออกกฎหมายเข้ามาแทรกแซงการขายกระแสไฟฟ้าที่ผลิตโดยเอกชนผู้ผลิตรายเล็กมากให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ถือเป็นสิ่งที่เอื้อต่อการจัดทำบริการสาธารณะให้กับประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน แต่ในการออกกฎหมายดังกล่าวที่กำหนดให้เฉพาะแต่การไฟฟ้าแห่งประเทศไทยเท่านั้นที่สามารถเป็นผู้ซื้อและจำหน่ายต่อผู้บริโภคแต่เพียงรายเดียวเท่านั้น เสมือนเป็นการผูกขาดให้กับองค์กรของรัฐ ส่งผลให้ประชาชนขาดอำนาจในการต่อรอง

นอกจากนี้ ระเบียบดังกล่าวยังมีจุดบกพร่องในเรื่องของกระบวนการขั้นตอนในการดำเนินการที่มีความซับซ้อนในการขอติดตั้งเพื่อเป็นผู้ผลิตกระแสไฟฟ้ารายเล็กมากจึงทำให้เกิดความยุ่งยาก อีกทั้งปัญหาในด้านระยะเวลาที่มีความล่าช้าในกระบวนการดำเนินการหรือกระบวนการติดตั้ง

ยิ่งกว่านั้น เมื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop ) เป็นที่นิยมมากขึ้น สิ่งสำคัญอีกประการที่ต้องตระหนักถึง คือ มาตรการการกำจัดขยะแผงโซลาร์เซลล์ เพราะแผงโซลาร์เซลล์ต้องมีวิธีการกำจัดเป็นการเฉพาะ และมีข้อควรระวังอย่างมาก ถ้าการกำจัดไม่ถูกวิธีก็จะส่งผลก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ในกรณีที่ใช้การกำจัดโดยการเผา อาจทำให้เกิดการแพร่กระจายของโลหะหนัก เช่น ตะกั่วและแคดเมียม เนื่องจากในแผงโซลาร์เซลล์มีสารคาร์บอนไดออกไซด์ที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกได้ และหากกำจัดด้วยการฝังกลบ สารพิษดังกล่าวจะกระจายลงสู่ดินและแหล่งน้ำธรรมชาติ ดังนั้นรัฐจึงควรกำหนดมาตรการการนำเข้าหรือการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ที่ได้มาตรฐาน ตลอดจนวิธีการกำจัดอย่างถูกต้อง เพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตด้วย

การที่รัฐได้ออกระเบียบมาเเทรกเเซงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาเพื่อการจำหน่ายระหว่างครัวเรือนนั้น รัฐควรเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ผลิตรายเล็กในการจำหน่ายเพื่อใช้อุปโภคระหว่างครัวเรือนด้วยกันเอง รัฐไม่ควรเป็นผู้ผูกขาดแต่เพียงผู้เดียว หากแต่รัฐยังคงหน้าที่ในฐานะผู้ออกกฎหมายมาบังคับใช้และคุ้มครองให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชน ซึ่งในปัจจุบันนี้เทคโนโลยีเริ่มเข้ามีบทบาทอย่างมากในระบบการบริหารจัดการในหลาย ๆ ด้าน รวมไปถึงด้านการซื้อขายออนไลน์ โดยมีรูปแบบที่ช่วยให้การเข้าถึงสินค้าหรือบริการสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ในอนาคตอันใกล้นี้ เราอาจจะสามารถซื้อไฟฟ้าพลังงานเเสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาผ่านระบบบล็อกเชน (blockchain) ก็เป็นได้.

โดย... 

พรพล เทศทอง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์