คิดนอกคอก ทำนอกคัมภีร์ กับ สู่จุดจบ!

คิดนอกคอก ทำนอกคัมภีร์ กับ สู่จุดจบ!

สำหรับผู้ติดตามเหตุการณ์บ้านเมืองมานาน การแนะนำหนังสือเรื่อง “สู่จุดจบ! The Coming Collapse of Thailand” ให้คนไทยอ่าน

โดยนายกรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามิใช่ของใหม่ ย้อนไปในสมัยรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งปี 2544 นายกฯ มักนำหนังสือภาษาอังกฤษมาแนะนำให้รัฐมนตรีและคนไทยโดยทั่วไปอ่าน ปรากฏการณ์นั้นแม้จะค่อนข้างแปลก แต่ผมมองว่าน่าจะเกิดประโยชน์มากหากรัฐบาลนำข้อคิดดีๆ ที่ได้จากเนื้อหามาใช้ในการบริหารประเทศและคนไทย รวมทั้งรัฐมนตรีมีเวลาและความแตกฉานด้านภาษาจนสามารถเข้าถึงเนื้อหาได้ สองเรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่ที่ผมมองว่ารัฐบาลให้ความสำคัญต่างกันมาก

หนังสือที่นายกฯ แนะนำในช่วงนั้น ผมเคยอ่านมานานแล้วบ้างและกำลังจะอ่านอยู่บ้าง ผมจึงถือโอกาสทำบทคัดย่อภาษาไทยพร้อมคำแนะนำหรือวิจารณ์ลงพิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ หลังเวลาผ่านไปชั่วระยะหนึ่ง ผมจึงแน่ใจว่า นายกฯ มิได้จริงใจในการนำข้อคิดดีๆ ของหนังสือมาใช้ ตรงข้ามกลับพยายามนำสิ่งที่ไม่ดีเข้ามา การแนะนำหนังสือจึงกลายเป็นเรื่องการคุยเขื่องของนายกฯ ว่า ตนมีความรู้เหนือผู้อื่นอันเป็นการประชาสัมพันธ์ทางการเมืองพร้อมกันไปด้วย เพื่อจะชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญ ผมจึงนำบทคัดย่อและวิจารณ์ของหนังสือที่นายกฯ แนะนำ 9 เล่มมารวมกันเป็นหนังสือชื่อ คิดนอกคอก ทำนอกคัมภีร์ และมอบให้สำนักพิมพ์โอ้พระเจ้าพับลิชชิ่ง จัดพิพม์เมื่อเดือน ก.ย.2547 ปรากฏว่าผู้อ่านจำนวนมากสนใจ หนังสือจึงได้รับการตีพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง

หนังสือ 9 เล่มได้แก่ As the Future Catches You; Business @ the Speed of Thought; Execution; It’s Alive; Leading at the Speed of Growth; Rethinking the Future; Ten Deadly Marketing Sins; The Mystery of Capital และ What the Best CEOs Know นอกจากนี้ยังมีการแนะนำเรื่อง Lateral Thinking ในบทส่งท้ายของ “คิดนอกคอก ทำนอกคัมภีร์” อีกด้วย เนื่องจากหนังสือของผมเล่มนี้ไม่มีวางขายแล้ว ผมจึงนำบทคัดย่อและวิจารณ์หนังสือ 10 เล่มดังกล่าวขึ้นเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนาให้ผู้สนใจดาวน์โหลดได้ (www.bannareader.com) บางส่วนของบทคัดย่อและวิจารณ์เหล่านี้ได้ถูกนำไปรวมไว้ในการแนะนำหนังสือของคณะบ้านพิษณุโลกโดยการพิมพ์ออกมาชื่อว่า “109 เล่มหนังสือควรอ่านจากนายกฯ ทักษิณ”

หนังสือ 10 เล่มดังกล่าวยกเว้น The Mystery of Capital มีข้อคิดดี ๆ และไม่มีการแนะนำให้ทำความฉ้อฉล แต่นายกฯ ไม่นำมาใช้จึงได้กลายเป็นนักโทษหนีคดีอยู่ในปัจจุบัน ไม่เพียงเท่านั้น เขากลับใช้เงินหลวงเชิญผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Mystery of Capital มาปรึกษาและนำข้อคิดผิดๆ ในหนังสือเล่มนี้มาใช้ เช่น การจะเปลี่ยนอะไรต่อมิอะไรแม้กระทั่งทางเท้าเป็นทุน

ต่อมา พ.ญ.นภาพร ลิมป์ปิยากร กับผม ได้ร่วมกันทำบทคัดย่อหนังสือภาษาอังกฤษอีกจำนวนมากเพื่อช่วยผู้ขาดเวลาหรือความแตกฉานภาษาอังกฤษให้เข้าถึงได้ บทคัดย่อเหล่านั้นอาจดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนาและของสโมสรหนอนหนังสือ (www.bookishclub.com) เนื้อหาของหนังสือเหล่านี้บางส่วนเป็นฐานของการวิเคราะห์ที่นำไปสู่ข้อสรุปของหนังสือเรื่อง “สู่จุดจบ!

เมื่อการแนะนำหนังสือที่มีข้อคิดดี ๆ โดยนายกฯ ในอดีตมิได้หยุดยั้งรัฐบาลจากการทำอะไร ๆ ที่มองได้ว่า คิดนอกคอก ทำนอกคัมภีร์เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า รัฐบาลต่อไปจะไม่ทำให้ประวัติศาสตร์เกิดซ้ำรอย?

ขอตอบว่าผมไม่แน่ใจนักเนื่องจาก 2 ปัจจัยหลักด้วยกัน นั่นคือ (1) นายกฯ คนปัจจุบันมักอ้างถึงเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นคำตอบโจทย์ของเมืองไทยดังที่ตั้งไว้ในหนังสือเรื่อง “สู่จุดจบ!” แต่รัฐบาลแทบมิได้ทำอะไรอย่างมีนัยสำคัญที่ทำให้มองได้ว่า ยึดเศรษฐกิจพอเพียงเป็นฐานของการบริหารประเทศ หากเป็นนายกฯ ต่อไป เขาคงไม่เปลี่ยนแนวนโยบายเดิม (2) นักการเมืองรุ่นใหม่ที่ได้รับความนิยมสูง เปล่งคำดูแคลนออกมาแบบเต็มปากเต็มคำว่า เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเพียงวาทกรรมและพรรคอื่นซึ่งอาจร่วมกับเขาตั้งรัฐบาล ก็ไม่ชูเศรษฐกิจพอเพียง ฉะนั้น เป็นไปไม่ได้ที่พวกเขาจะใช้เศรษฐกิจพอเพียงอันเป็นคัมภีร์ที่ประเสริฐยิ่งบริหารประเทศ

ด้วยเหตุดังกล่าว การคิดนอกคอก ทำนอกคัมภีร์จะยังมีอยู่ต่อไปในยุคหน้า นั่นหมายความว่าการบริหารและการพัฒนาของไทยยังมุ่งเดินไป สู่จุดจบ!