รัฐบาลพันธมิตรน้อยไปรอดยาก

รัฐบาลพันธมิตรน้อยไปรอดยาก

พอมองเห็นแนวโน้มการเมืองไทยว่า หากไม่มีระบอบอื่นมาคั่นกลางเหมือนที่เป็นมา 2 ครั้งในรอบ 13 ปี ก็คงจะวุ่นอีกไม่น้อยไปกว่า 5 ปี

ด้วยว่ารัฐบาลที่จัดตั้งได้ทุกครั้งจะอายุไม่ยืน เกิดภาวะอำนาจไม่เด็ดขาดของสองขั้วอำนาจที่ไม่มีวันจับมือกันได้ พรรคเล็กหรือแม้แต่มุ้งย่อยในพรรคใหญ่ก็มีอิทธิพลเพียงพอที่จะเป็นตัวแปรที่เกิดการล่มของรัฐบาล ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใด ทำอย่างไรได้เมื่อระบบการเลือกตั้งถูกออกแบบมาให้ได้ ส.ส.แบบนี้ พรรคใหญ่ต้องหาทางจับมือกับพรรคย่อยเบี้ยหัวแตก พันธมิตรระดับกลางเป็นสิ่งสำคัญ แต่ปัจจุบันนี้ไม่ใช่เหมือนเมื่อในอดีตก่อนปี 2540 ที่สำคัญแค่ในสภาล่าง สภาบน 250 เสียงก็มีน้ำหนักด้วย และแท้ที่จริงสภาบนนี่แหล่ะเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้การเมืองไม่มั่นคงในยุคที่สังคมไทยแบ่งความคิดเห็นทางการเมืองออกเป็นสองฟากแบบไม่เผาผี

ขอยกตัวอย่างต่างประเทศสัก 2 เหตุการณ์มาเล่าให้เห็นภาพว่าพรรคชนะเลือกตั้งอันดับ 1 ต้องอดตั้งรัฐบาล เพราะเคี่ยวสู้พรรคอื่นไม่ได้ แม้ว่ามี ส.ส.ในสภามากที่สุดและควรได้รับเกียรติเชิงสุภาพบุรุษที่ว่าพรรคอันดับ 1 ต้องได้สิทธิในการรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลก่อน บังเอิญที่ว่าตัวอย่างจากอินเดียและอิสราเอลที่จะเล่าต่อไปนี้ ก็จะจัดเลือกตั้งทั่วไป เม.ย.2562 เดือนนี้พอดีทั้งสองประเทศ

พ.ค.39 พรรค Bharatiya Janata Party (BJP) เอาชนะยักษ์ใหญ่เก่าแก่คือพรรค Indian National Congress (INC) ด้วยที่นั่ง 161 ต่อ 140 แม้ว่าป็อปปูล่าโหวตนั้น คองเกรสได้มากกว่าคือ 96 ล้านต่อ 67 ล้านก็ตาม ประธานาธิบดีอินเดียจึงสั่งให้นาย Atal Bihari Vajpayee ผู้นำพรรค BJP เป็นนายกและรวบรวมเสียงจากพรรคต่าง ๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลก่อนตามมารยาท  เพราะที่นั่งรวมต่ำกว่ากึ่งหนึงของ 545 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฏร แต่นาย Vajpyee ไม่สามารถรวมเสียงได้ต้องลาออกภายในเวลาแค่ 13 วัน เพระรวบรวมเสียงไม่ได้ พรรคอันดับ 3 คือ Janata Dal ได้เสียงแค่ 46 แถมหัวหน้าพรรคคือนาย Deve Gowda ไม่ได้ลงสมัครเลือกตั้งด้วยซ้ำกลายเป็นตาอยู่ รวบรวมเสียงมากที่สุด ได้เป็นนายก 10 เดือนก็โดนบีบให้ออก ถึงแม้ว่า BJP จะล้มเหลวในครั้งนั้น แต่ประชาชนก็ชอบพรรคนี้ฝังลึกเสียแล้ว นาย Vajpayee ก็ได้เป็นนายกในเวลาต่อมา ทุกวันนี้อินเดียก็บริหารประเทศโดยพรรค BJP และมีแนวโน้มว่าคงจะชนะเลือกตั้งอีกครั้ง 11 เม.ย.2562

10 ก.พ.2552 อิสราเอลจัดเลือกตั้งรัฐสภา โดยผู้ชนะคือพรรค Kadima พรรคเดิมที่กำลังเป็นรัฐบาลอยู่ ในการเลือกตั้งคราวนี้นาง Tzipi Livni เป็นผู้ถือธงนำเลือกตั้งชนะพรรค Likud พรรคเก่าแก่ซึ่งเป็นฝ่ายค้านในเวลานั้นแค่ 28 ต่อ 27 เสียง  ที่ต่างกันที่เดียวนี้ ก็เพราะ นรม.คนดังที่ประชาชนนับถือคือ Ehud Olmert ถูกดดันให้ลาออกและสงสมัครรับเลือกตั้งใหม่ ได้ นาง Livni พยายามจัดตั้งรัฐบาลอยู่ 10 วันก็ไม่สามารถจัดตั้งได้ เพราะพรรค Likud ล็อบบี้พรรคเล็กๆ ฝ่ายขวาเอาไว้หมดแล้ว พวกพรรคกลางซ้ายทั้งหลายก็มัวแต่ต่อรองผลประโยชน์ ประธานาธิบดี Shimon Perez ของอิสราเอลจึงแต่งตั้งให้นาย Benjamin Netanyahu ผู้นำพรรค Likud เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลหน้าตาเฉย ผลคือนาย Netanyahu ได้เป็นนายกเมื่อ 30 มี.ค.2552 แต่ละสมัยของผู้นำขวาจัด โดย 4 สมัยของอิสราเอลคนนี้เต็มไปด้วยนโยบายแข็งกร้าวต่อศัตรู ตะวันออกกลางร้อนระอุอยู่ตลอดเวลา 9 เม.ย.2562 อิสราเอลจะเลือกตั้งอีกครั้ง ท่ามกลางห่าจรวดของกลุ่มฮามาส

การที่พรรคพันธมิตรมีความสำคัญมากต่อการร่วมรัฐบาล ทำให้การเมืองไทยย้อนกลับไปก่อนปี 2544 คือพรรคต้องร่วมกันหลายพรรค  แต่ที่น่าเป็นห่วงกว่าการที่การเมืองไทยจะกลายสภาพเป็นแบบในอดีตคือ พรรคกี่พรรคก็ได้ไม่มีมิตรแท้ศัตรูถาวร ย้ายพรรคอิสระถ้าเงินถึง จะเข้าจะออกจะไม่ยกมือหรือยกมือจนพรรคต้องล้มง่ายๆ เหมือนการเมืองอิตาลี ญี่ปุ่น นั้นก็ยังเป็นอยู่ แต่เงื่อนไขใหม่ 2 ประการที่ทำให้การเมืองไทยจะยิ่งยุ่งกว่าในอดีตนั้นคือ เวลานี้มีพรรคใหญ่ที่ไม่สามารถจับขั้วกันได้เลย สองขั้วนั้นพัฒนากรอบคิดทางจริยธรรมเข้าสู่สมองของประชาชนฝ่ายสนับสนุนตน ประชาชนไม่ได้เลือกเพราะผลประโยชน์ของตนเท่านั้นแต่เพราะจริยธรรมเชิงอุดมการณ์ซึ่งนำไปสู่การเลือกเชิงยุทธศาสตร์ด้วย  ความเป็นปรปักษ์กันของพรรคการเมืองที่สะท้อนภาพความขัดแย้งถึงรากคิดของคนในสังคมนั้นทำให้การเมืองไทยคล้ายกับไต้หวัน ที่นั่นต่างฝ่ายต่างมีเสียงพอกัน ไม่ยอมกันเพราะจุดหมายปลายทางของการนำชาติต่างกันสุดขั้ว ผลคือการเมืองติดขัด มีการแทรกแซงจากต่างชาติ คนในชาติขาดความสามัคคี

อีกประการหนึ่งก็คือ การฝ่ายหนึ่งมี ส.ว.ในมือแล้ว 250 เสียง แทนที่จะช่วยให้การเมืองไทยเดินหน้า กลับถึงทางตัน ก็เพราะการที่สังคมแบ่งเป็น 2 ขั้วที่พอๆ กัน หรือสรุปสั้นๆ ว่าฝ่ายไหนได้เป็นรัฐบาล อีกฝ่ายก็จะเป็นฝ่ายค้านเต็มสภา  ส.ว.จะช่วยให้แค่ฝ่ายหนึ่งได้เป็นนายก จัดตั้งรัฐบาลกี่ชุดก็ได้ภายใน 5 ปี แต่ละชุดก็ไม่น่าจะมีอายุยืนเพราะในการประชุมสภาที่ปราศจากเสียง ส.ว.มาช่วย จะโดนฝ่ายค้านทีมีจำนวนมากและเกลียดชังการเอาเปรียบขย้ำตลอดเวลา สภาพเช่นนี้การเมืองไทยน่าจะล้มลุกคลุกคลาน กฎหมายผ่านสภายาก ถ้ากลับกัน ฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับ ส.ว.ได้จัดตั้งรัฐบาลบ้าง ถึงกฏหมายอาจผ่านสภาล่างได้ ก็คงจะติดที่สภาสูงอยู่ดี การแก้ปัญหาวันนี้จึงไม่ใช่แค่การแก้รัฐธรรมนูญ แต่ต้องกล้าและมีความสามารถในการแก้เรื่องที่ลึกและซับซ้อนกว่านั้นอีกมาก