จับตากัวลาลัมเปอร์กับการก้าวขึ้นเป็นมหานคร MICE แห่งเอเชีย

จับตากัวลาลัมเปอร์กับการก้าวขึ้นเป็นมหานคร MICE แห่งเอเชีย

ปัจจุบันการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจหรือไมซ์ (MICE) ซึ่งเป็นการรวมกันระหว่างการท่องเที่ยวกับการเดินทางเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมด้านการจัดประชุม

ขององค์กร การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล การจัดประชุมนานาชาติ การแสดงสินค้าหรือการจัดนิทรรศการ นับได้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อรายได้ของมาเลเซีย เพราะจากสถิตินักท่องเที่ยวไมซ์ใช้จ่ายมากกว่านักท่องเที่ยวอื่นถึง 3 เท่า ทำให้ไมซ์ขึ้นแท่นอันดับหนึ่ง ด้านที่มาของรายได้จากภาคการท่องเที่ยวทั้งหมดของประเทศ สำหรับเมืองไมซ์หลักและมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติของมาเลเซีย คือ กรุงกัวลาลัมเปอร์ 

ทั้งนี้ ความนิยมต่อเมืองหลวงแห่งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการสนับสนุนและผลักดันของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนากัวลาลัมเปอร์ให้มีความโดดเด่นทัดเทียมกับเมืองท่องเที่ยวชั้นนำอื่นในเอเชีย เช่น การปรับปรุงการคมนาคมให้สะดวกสบายจากการวางโครงข่ายรถไฟฟ้าระบบรางเชื่อมต่อใจกลางเมืองและเขตรอบนอก ตลอดจนรถไฟ KLIA Ekspres ที่วิ่งตรงสู่สนามบิน KLIA และ สนามบิน KLIA2 ที่รัฐบาลผลักดันให้เป็นศูนย์กลางสายการบินต้นทุนต่ำเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังมีโรงแรมที่พักระดับ 4-5 ดาวจำนวนมากในราคาที่เอื้อมถึง และแหล่งท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมตลอดจนกิจกรรมที่นิยม เช่น สวนสนุก กิจกรรมผจญภัย และสปา รวมถึงห้างสรรพสินค้าชั้นนำตั้งอยู่เกือบทุกหัวถนน ทั้งยังมีย่านบูกิตบินตังที่เต็มไปด้วยไนท์คลับและบาร์อันเป็นสีสันยามค่ำคืนทำให้เมืองมุสลิมแห่งนี้ไม่เคยหลับใหล ด้วยความหลากหลายและโดดเด่นด้านการท่องเที่ยวจึงทำให้ในปี 2017 กัวลาลัมเปอร์ขึ้นแท่นอันดับ 5 ของเมืองยอดนิยมในเอเชีย และอยู่ในอันดับ 9 ของโลก จากการจัดอันดับโดยสถาบัน Euromonitor International และในปีเดียวกันยังเป็นเมืองยอดนิยมอันดับ 1 ของนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมจากการจัดอันดับของ CrescentRating 

สำหรับการผลักดันและสร้างความพร้อมด้านการจัดประชุมนั้น รัฐบาลยังคงเป็นผู้มีบทบาทหลักโดยทำงานร่วมกับ Malaysia Convention & Exhibition Bureau (MyCEB) ซึ่งตั้งเป้าให้มาเลเซียเป็น 1 ใน 5 ผู้นำด้านจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวไมซ์ในเอเชียพร้อมกับผลักดันกัวลาลัมเปอร์ให้เป็น A World Class City ในปี 2020 เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้จึงกำหนดแนวทางพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจในนโยบายระดับชาติและแผนพัฒนาของ MyCEB ทั้งระยะกลางและระยะยาวไล่เรียงตั้งแต่ แผนพัฒนาฉบับที่ 11, Economic Transformation Programme (ETP), นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (National Tourism Policy), National Blue Ocean Strategy (NBOS) จนถึงนโยบายในระดับเมือง เช่น Kuala Lumpur Tourism Master Plan 2015-2025 และ Kuala Lumpur Structure Plan 2020 เพื่อให้มาเลเซียชนะการประมูลงานการประชุมขนาดใหญ่จากต่างประเทศหรือองค์กรระดับนานาชาติ MyCEB จึงตั้ง Kesatria 1Malaysia Programme ขึ้นในปี 2012 โดย Kesatria หรือนักรบมาจากการคัดเลือกบุคคลชั้นนำจากหลายภาคส่วน อาทิ ภาคพลังงาน สัตวแพทย์ ชีวกลศาสตร์ และแพทย์ศาสตร์ ซึ่งล้วนเป็นผู้เคยมีประสบการณ์การจัดงานขนาดใหญ่ระดับนานาชาติให้มาทำหน้าที่ผลักดันและช่วยเหลือสมาคมภายในประเทศในการเข้าร่วมประมูลงานระดับนานาชาติ ซึ่งในปี 2018 กองทัพ Kesatria ประกอบด้วยบุคคลที่มีชื่อเสียงทั้งสิ้น 50 คน และ Kesatria สามารถดึงงานประชุมระดับนานาชาติเข้าประเทศถึง 44 งาน คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 813 ล้านริงกิต 

เมื่องมองด้านศักยภาพของศูนย์ประชุมในกัวลาลัมเปอร์จะพบว่า รัฐบาลเข้ามามีส่วนในการลงทุนและสร้างศูนย์ประชุมสำคัญขนาดใหญ่หลายแห่ง ด้วยต้องการนำศูนย์ประชุมเหล่านี้มาใช้ในกิจกรรมเฉพาะด้าน เช่น Kuala Lumpur Convention Center หรือ KLCC สร้างขึ้นเพื่อรองรับการประชุมระดับนานาชาติเป็นหลัก ดังนั้น รัฐบาลจึงส่งเสริมการลงทุนด้านเทคโนโลยีและ audio-visual (AV) อย่างต่อเนื่อง และยังเป็นศูนย์ประชุมแห่งแรกที่ติดตั้งระบบ Cisco HDX Wi-Fi system เพื่อรองรับการใช้อินเทอร์เน็ตภายในพื้นที่ศูนย์ประชุมของผู้จัดงานและผู้เข้าร่วมประชุม ปัจจุบัน KLCC เป็น 1 ใน 2 ศูนย์ประชุมของประเทศและในเอเชียที่ได้รับรางวัล Gold Standard venue จาก AIPC (the International Association of Congress Centers) ในปีที่ผ่านมา KLCC ผนึกกำลังสร้างพันธมิตรกับโรงแรมชั้นนำและห้างสรรพสินค้าในพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อผลักดันการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจในชื่อ KLCC Business Events Alliance นอกจากนี้ ยังมีศูนย์ประชุมแห่งใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อปี 2017 คือ Malaysia International Trade & Exhibition Center (MITEC) ตั้งในพื้นที่ใกล้กับศูนย์ประชุม MATRADE ซึ่ง MITEC เป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนโดยรัฐบาลเป็นเจ้าของภายใต้ Ministry of International Trade and Industry ศูนย์ประชุมแห่งนี้เกิดขึ้นเพื่อผลักดันไมซ์ด้านงานแสดงสินค้าภายใต้แผน KL Metropolis Masterplan พร้อมกับพัฒนาให้พื้นที่โดยรอบเป็นเมืองใหม่ประกอบด้วยที่อยู่อาศัย สำนักงาน และห้างสรรพสินค้าหรูหราและทันสมัยอย่างครบวงจร นอกจากนี้ยังมีศูนย์ประชุมอื่นที่รัฐบาลเข้าลงทุน เช่น Sime Darby Convention Center (SDCC) ผ่าน Sime Darby Property ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล ด้วยความพร้อมด้านไมซ์ทั้งหมดนี้ จึงไม่น่าประหลาดใจที่ในปี 2017 กัวลาลัมเปอร์ก้าวขึ้นเป็น 1 ใน 10 เมืองยอดนิยมของเอเชียด้านการจัดประชุมจากการจัดอันดับโดย International Congress and Convention Association (ICCA)

แต่อย่างไรก็ดี แม้รัฐบาลมุ่งมั่นผลักดันภาคการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจอย่างเต็มสูบ ทว่าหนทางที่จะเป็นผู้นำไมซ์ในระดับเอเชียมิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ด้วยความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมทำให้มาเลเซียยังไม่สามารถสร้าง brand image ของตนที่แสดงถึงความแตกต่างอย่างเด่นชัดจากประเทศเพื่อนบ้านได้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวนับเป็นตัวแปรสำคัญต่อการสร้างภาพลักษณ์การท่องเที่ยวภายใต้แคมเปญ Visit Malaysia 2020 หากเมื่อใดมาเลเซียสามารถแสดง ‘ความเป็นของแท้’ ให้ปรากฏตามที่ MyCEB ต้องการนำเสนอ Malaysia Like Never Before คงไม่มีอะไรมาขวางเสือเหลืองให้ขึ้นแท่นผู้นำตามปณิธานที่ตั้งไว้

โดย... 

ผช.ดร.จุฬณี ตันติกุลานันท์

นักวิจัยฝ่าย 1 สกว.