แรงจูงใจของโบนัส กับปัญหาของเทียนไข (The candle problem)

แรงจูงใจของโบนัส กับปัญหาของเทียนไข (The candle problem)

เคยได้ยินเรื่องปัญหาเทียนไขกันไหมครับ? การทดลองเรื่อง The candle problem นี่ถือว่าดังพอสมควรในบริบทของจิตวิทยา

การทดลองนี้ถูกคิดค้นขึ้นในปี 1945 โดยนักจิตวิทยาชื่อดังอย่าง Karl Duncker ที่ต้องการทดสอบกลุ่มทดลองเกี่ยวกับการแก้ปัญหาและการตัดสินใจ ซึ่งการทดลองก็ดูเหมือนจะง่าย คือให้กลุ่มทดลองทำการแก้ไขปัญหาซึ่งมีโจทย์อยู่ว่า ให้ทำยังไงก็ได้เมื่อจุดเทียนแล้วไม่ให้น้ำตาเทียนหยดลงมาที่โต๊ะ โดยอุปกรณ์ที่ให้กลุ่มทดลองเห็นตรงหน้านั้นจะประกอบไปด้วย

เทียนไข ไม้ขีดไฟ และกล่องที่ใส่เข็มหมุด ดังรูปภาพที่แนบด้านล่างนี้

แรงจูงใจของโบนัส กับปัญหาของเทียนไข (The candle problem)

ผลการทดสอบพบว่ากลุ่มคนที่ถูกทดสอบใช้เวลานานมากในการแก้ไขปัญหา ซึ่งวิธีการแก้ปัญหานั้นก็คือนำหมุดออกมาจากฝากล่อง แล้วติดฝากล่องเข้ากับผนัง จากนั้นจุดเทียน เท่านี้น้ำตาเทียนก็ไม่หยดลงมาบนโต๊ะแล้ว คือการทดลองนี้จะบอกเป็นนัยให้เราทราบว่า เราต้องใช้ทุกอย่างที่มีในการแก้ไขปัญหา แล้วอย่ามอง หรือยึดติดสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่ามันเอาไว้ใช้แค่ทำอะไรเพียงอย่างหนึ่ง เหมือนกับฝากล่องที่เอาไว้ใส่แค่หมุดในตอนแรก

ผู้ทดลองเลยเกิดสงสัย จึงสร้างการทดลองอีกแบบนึงขึ้นมาโดยอยากรู้ว่าจะมีผลลัพธ์ต่างกันหรือไม่ การทดสอบนั้นเหมือนเดิมทุกอย่าง เปลี่ยนเพียงแต่คราวนี้นำฝากล่องกับหมุดแยกกันเลยให้เห็นชัดๆ ว่าหมุดกับกล่องไม่ได้เกี่ยวข้องกัน

ผลคือผู้ที่ถูกทดสอบสามารถแก้ไขปัญหาได้ในเวลาอันสั้น ทำไมจึงเป็นแบบนั้น?

เพราะการทดลองแบบแรก ผู้เข้าร่วมการทดลองจะต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหา ต้องคิดนอกกรอบออกมาว่าจะสามารถใช้สิ่งไหน หรืออะไรที่มีบ้างเพื่อให้การแก้ไขปัญหานั้นสามารถลุล่วงไปได้ แต่การทดลองแบบที่สองผู้เข้าร่วมการทดลองนั้นแทบจะไม่ต้องใช้ทักษะความคิดสร้างสรรค์เลย เพียงแค่เห็นว่ามันเป็นภาชนะ หยิบมารองแล้วหมุดเข้ากับผนังก็เป็นอันเสร็จ 

แล้วมันเกี่ยวอะไรกันกับโบนัส?

ในปี 1962 มีนักจิตวิทยาชาวแคนาดาอีกท่านชื่อ Sam Glucksberg ทำการทดลองที่คล้ายกันกับของ Duncker คือยังใช้ปัญหาเทียนไขนี่อยู่ แต่เพิ่มเรื่องของรางวัลที่เป็นตัวเงินเข้ามาด้วย กล่าวคือ ถ้าผู้เข้าร่วมการทดลองสามารถแก้ไขปริศนาเทียนไขได้ภายใน 1 นาที 2 นาที หรือภายในเวลาที่กำหนด คนนั้นจะได้รับเงินจำนวน 10เหรียญ, 5 เหรียญ ลดหลั่นลงมาตามลำดับ

แบ่งกลุ่มการทดลองออกเป็นสองกลุ่มเหมือนเดิม แต่คราวนี้ผลลัพธ์ที่ออกมานั้นเรียกได้ว่าน่าสนใจ แล้วก็เป็นที่พูดถึงกันอยู่บ่อยครั้งในปัจจุบัน

กลุ่มแรกที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหา พอมีตัวเงินเป็นรางวัลเข้ามาเกี่ยวข้องกลับแก้ไขปัญหาได้แย่ลง คือใช้เวลาในการแก้ไขปัญหามากขึ้น แต่อีกกลุ่มนึงกลับทำได้ดีขึ้น หรือพอๆ กับเดิม ไม่มีแย่ลงกว่าเดิมเลย

ผลการทดลองนี้จะบอกอีกนัยหนึ่งว่า หากต้องแก้ไขปัญหาที่ยากและต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหา ประกอบกับมีตัวเงินเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยแล้วล่ะก็จะทำให้ความสามารถในการแก้ไขปัญหานั้นแย่ลง มีความเป็นไปได้ว่ากลุ่มที่ถูกทดลองอาจจะคิดถึงเรื่องของผลประโยชน์มากกว่าวิธีคิดแก้ไขปัญหาเหล่านั้น

แต่กลับกัน งานที่ไม่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์อะไรในการแก้ไขปัญหา งานประเภทเห็นแล้วสามารถทำได้เลย เหมือนงาน routine ที่ต้องเจอในแต่ละวัน การให้ incentive เป็นตัวเงินหรือสิ่งของนั้นจะช่วยให้คนที่ต้องทำงานแบบเดิมซ้ำๆ ทำผลงานได้ดีขึ้น

ในปัจจุบันเราจึงมี incentive มากมายหลายอย่างให้กับพนักงานที่ต้องทำงานแบบเดิมซ้ำๆ อาจจะเพื่อเป้าของบริษัท ผลกำไรที่มากขึ้น หรือปริมาณการขายที่มากขึ้น ซึ่งแบบนี้มันเวิร์ค แต่เราคงไม่ค่อยได้เห็น(หรืออาจจะไม่เคยเห็นเลย) สำหรับอาชีพอย่างดีไซน์เนอร์ วิศวกร หรือแม้แต่สถาปนิก ที่ขยันปั้มแบบ ปั้มงานขึ้นมามากๆ แล้วจะได้ incentive ตามปริมาณ งานที่ทำ

การให้โบนัสกับพนักงานนั้นเป็นเรื่องดี และในเชิงเดียวกันก็ดีกับบริษัทด้วย เพราะสามารถนำไปคำนวนหักลบให้โดนภาษีน้อยลงมา แล้วไหนจะพวกผลประโยชน์ทางจิตใจของพนักงานอีก

แต่ก็อย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน บางคนก็ไม่ได้ทำอะไรมากมาย แต่ก็คาดหวังโบนัสจากบริษัทเท่ากับคนอื่นๆ ที่ขยันแทบเป็นแทบตาย พอปีนี้โบนัสน้อย หรือโบนัสไม่ออกก็โทษนั่นโทษนี่ โมโหตีโพยตีพายเพียงแค่เห็นว่าคนที่ทำงานบริษัทอื่นได้โบนัสมากกว่า สุดท้ายโบนัสกลับกลายเป็นแค่เครื่องมือสร้างแรงจูงใจเทียม พอได้โบนัสได้สิ่งที่ตัวเองต้องการแล้วก็แยกย้ายออกไป

โบนัสไม่ได้กลายเป็นค่าตอบแทนให้กับพนักงาน และผู้บริหารขององค์กรที่ทำเพื่อเป้าหมายเดียวกันอย่างที่มันควรจะเป็นอีกต่อไปแล้ว ผู้คนคาดหวังแรงจูงใจจากผลตอบแทนมากขึ้น ทั้งๆ ที่บริษัทตั้งใจว่าจ้างมาทำงานโดยใช้ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหา เมื่อบริษัทเห็นว่าพนักงานทำงานได้ไม่ตามประสิทธิภาพ ประกอบกับเทคโนโลยีพัฒนารวดเร็ว และมีราคาถูกลงจนสามารถลงทุนเปลี่ยนแปลงได้

องค์กรก็ค่อยๆ ลดสัดส่วนจากการใช้งานบุคคลไปเป็นซอฟแวร์ ปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์แทน เพราะสามารถลดต้นทุนได้มากกว่าในระยะยาว อีกทั้งไม่ต้องใช้ incentive ใดๆ เข้าล่อ ไม่ต้องมาแบกรับความไม่แน่นอนของอารมณ์พนักงาน สามารถทำงานได้ปริมาณมากกว่า รวดเร็วกว่า และทำได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องสนข้อกฏหมายมากนัก เหมือนการใช้แรงงานคน

จะว่าไปแล้ว แรงจูงใจของพวกค่าตอบแทนนี่อาจจะเกิดขึ้นแค่ในระยะสั้น หากใช้อย่างไม่ถูกต้อง หรือผิดวัตถุประสงค์ก็อาจจะย้อนกลับมาทำร้ายตัวพนักงาน และบริษัททางใดทางหนึ่งก็เป็นได้

โดย...

จิรายุ ลิ่มจินดา

Product Lead at JindaTheme

[email protected]