การเมืองหลังเลือกตั้ง

การเมืองหลังเลือกตั้ง

การเมืองไทยในขณะนี้ ยังเรียกไม่ได้ว่าเป็น การเมืองช่วงหลังเลือกตั้ง เพราะผลการเลือกตั้งยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการ

คาดว่าจะประกาศอย่างเป็นทางการไม่เกินวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ปลอดภัยสำหรับคณะกรรมการการเลือกตั้งในการตามกติกาที่ว่าให้มีการเลือกตั้งภายใน ๑๕๐ วัน ดังนั้น ในช่วงนี้ จึงอยู่ในช่วงที่ทุกคนใจจดใจจ่อรอผลการเลือกตั้งที่เป็นทางการ ท่ามกลางการร้องเรียนเกี่ยวกับการเลือกตั้งในเขตต่างๆที่ กกต. จะต้องเคลียร์ผลว่าในที่สุดแล้ว จะออกหัวหรือก้อย 

 ถ้าจะประเมินว่า การเมืองไทยเมื่อกลับเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นด่านแรกของความเป็นประชาธิปไตย จะบอกได้ไหมว่า เราจะมีโอกาสกลับเข้าสู่วังวนเดิมๆที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นั่นคือ เมื่อฝ่ายหนึ่งจัดตั้งรัฐบาล อีกฝ่ายก็จะประท้วงคัดค้าน จนนำไปสู่การเมืองบนท้องถนน และมีการใช้ความรุนแรง กับการกล่าวอ้างเรื่องมือที่สามที่เข้ามาป่วนสถานการณ์ จนนำไปสู่ความจำเป็นที่กองทัพจะเข้ามารักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ถ้าเต็มรูปแบบก็คือ เกิดรัฐประหาร ถ้าไม่เต็มรูปแบบก็คือ ประกาศกฎอัยการศึกและสามารถเอาอยู่ 

 เสียงจากกองทัพคือ ผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบัน ประกาศชัดเจนว่า จากการประเมินสถานการณ์ขณะนี้ หากเกิดความไม่สงบทางการเมือง การประกาศกฎอัยการศึกน่าจะเพียงพอที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยไว้ได้ ผู้เขียนเห็นด้วย เพราะเงื่อนไขในขณะนี้ที่ยังไม่มีการประกาศผลการเลือกตั้งที่เป็นทางการ พรรคการเมืองสำคัญจึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเข็นคนลงท้องถนน เพราะพรรคการเมืองอย่างพรรคเพื่อไทยก็มีคะแนนอยู่ในระดับต้น และมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นแกนในการจัดตั้งรัฐบาล 

ส่วนพรรคพลังประชารัฐย่อมไม่มีความจำเป็นต้องป่วนสถานการณ์ เพราะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคกับนายกรัฐมนตรีปัจจุบันเป็นคนๆเดียวกัน 

 แต่ถ้าเมื่อประกาศผลการเลือกตั้งออกมาแล้ว และเกิดความไม่พอใจ ไม่ยอมรับ อีกทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่สามารถให้คำอธิบายให้เป็นที่พอใจแก่คนส่วนใหญ่ได้ สถานการณ์น่าจะเลวร้ายลง เพราะผลการเลือกตั้งจะเป็นตัวที่ไปกำหนดเงื่อนไขต่างๆในอนาคตการเมืองไทย โดยเฉพาะการจัดตั้งรัฐบาล หากด่านนี้ไม่ผ่านหรือไม่เป็นที่ยอมรับ การเมืองไทยก็คงเดินหน้าไปไหนไม่ได้ 

 ผลการเลือกตั้งที่พอเห็นคร่าวๆขณะนี้ สะท้อนอะไรที่น่าสนใจอยู่ ! 

 ก่อนเลือกตั้ง ผู้เขียนเคยตั้งคำถามกับการเมืองไทยไว้ว่า ก. หากคนไทยส่วนใหญ่คิดว่า บ้านเมืองเราพ้นวิกฤตเรื่องความขัดแย้งความรุนแรงที่ดำเนินมากว่าสิบปี ไม่จำเป็นต้องมีผู้นำอย่างพลเอกประยุทธ์ เสียงส่วนใหญ่ก็จะเทคะแนนไปยังฝั่งพรรคการเมืองที่ไม่สนับสนุนหรือร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพลเอกประยุทธ์ 

 ข. แต่ถ้าคนส่วนใหญ่ยังคิดว่า บ้านเมืองยังไม่สงบเรียบร้อยดี ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีผู้นำอย่างพลเอกประยุทธ์คอยดูแล เสียงส่วนใหญ่ก็จะเทไปยังพรรคพลังประชารัฐและพรรคที่สนับสนุนหรือยินดีร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพลเอกประยุทธ์ 

ผลการเลือกตั้งที่เทไปทางใดทางหนึ่งชัดเจน ระหว่าง ก. หรือ ข. ก็จะง่ายต่อการเดินหน้าของประเทศไทย ที่ว่าง่ายนี้ก็คือ อย่างน้อยก็ชัดเจนในเรื่องการเลือกระหว่าง นักการเมือง กับ ผู้นำทหารที่ผันตัวมาเป็นนักการเมือง 

 ยิ่งถ้าคะแนนเทมายังข้อ ข. ส่งผลให้พรรคพลังประชารัฐและพรรคพันธมิตรได้คะแนนรวมกันเกิน ๒๕๐ ขึ้นไป การจัดตั้งรัฐบาลก็จะชอบธรรม แม้ว่าจะไม่มั่นคง หากมีคะแนนเกิน ๒๕๐ ไม่มากนัก แต่เชื่อว่า พรรคเพื่อไทยก็ยอมรับได้ เพราะเงื่อนไข ๒๕๐ เป็นตัวเลขกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ถ้าคะแนนออกมาตามสูตรนี้ การจัดตั้งรัฐบาลจะเกิดขึ้นได้ง่าย และการเมืองไทยก็จะเดินหน้าต่อไปได้ แต่ถ้าคะแนนเทมายังข้อ ก. แม้ว่าจะดูว่าเป็นชัยชนะของฝ่ายนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย สามพรรคหลักที่ประกาศไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ แต่ปัญหาคือ ในฝั่งนี้ พรรคทั้งสามนี้ ยากที่จะจับมือร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประชาธิปัตย์กับเพื่อไทย ส่วนภูมิใจไทยนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะง่ายนักที่จะตัดสินใจไปร่วมกับเพื่อไทยในวินาทีนี้

แต่อย่างที่เห็นๆกันขณะนี้ว่า คะแนนเสียงไม่ได้ออกหัวหรือก้อยอย่างใดอย่างหนึ่งข้างต้น แต่มันดันออกตรงกลาง !! 

นั่นคือ เสียงของเพื่อไทยและพันธมิตร กับ เสียงของพลังประชารัฐและพันธมิตร ดูจะปริ่มๆพอๆกัน

เท่ากับว่า เสียงของผู้คนในบ้านเมืองเรายังแตกออกเป็นสองขั้ว ก้ำๆกึ่งๆ ซึ่งถือว่าเป็นภาพสะท้อนที่แย่ที่สุดในบรรดาตัวเลือกที่เป็นไปได้ของผลเลือกตั้ง เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า ถ้าออก ก. หรือ ข. ชัดๆไปเลยก็จะได้รู้กันไปว่า การเมืองจะไปทางไหนด้วยเสียงข้างมากของประชาชน

แต่ถ้าออก ค. นั่นคือ กึ่งๆ และยิ่งมีตัวแปรแทรกซ้อนอะไรต่างๆที่คาดไม่ถึงอย่างที่เกิดขึ้น การเมืองไทยหลังเลือกตั้งจึงอยู่ในเงื่อนไขที่ไม่รู้จะไปทางไหนแน่ 

 แต่ในสภาพการณ์ที่ไม่รู้ว่าจะไปทางไหนแน่นี้ หากทุกฝ่ายยังยอมรับกติกา ยอมรับสภาพของความยืดเยื้อในการต่อรองต่อการรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ที่ว่ายอมรับ เพราะผลการเลือกตั้งที่ออกมาแบบนี้ ไม่มีใครสามารถจะไปกำหนดได้ขนาดนั้น เมื่อเวลาผ่านพ้นไปนานจนทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันแล้วว่า มันถึงทางตัน และรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้กำหนดระยเวลาไว้ว่าจะต้องจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ภายในเมื่อไร และหากจัดตั้งไม่ได้ ต้องทำยังไง ทางออกของเรื่องนี้ก็คือ อาศัยมาตรา ๕ ในรัฐธรรมนูญ นั่นคือ ประเพณีการปกครอง ซึ่งตามประเพณีการปกครองระบอบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ถ้ามีปัญหาดังกล่าวนี้ ก็อาจจะเสนอให้มีการยุบสภา หรือแต่งตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย หรืออาจจะไปถึงการมีรัฐบาลแห่งชาติในกรณีที่อธิบายความจำเป็นของสถานการณ์ได้จริงๆ รัฐสภาของไทยภายใต้เงื่อนไขนั้นน่าจะร่วมตัดสินใจและทูลเกล้าฯเพื่อให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาฯ