SET Well-Being Index” ดัชนีใหม่สะท้อนอุตสาหกรรมเด่น

SET Well-Being Index” ดัชนีใหม่สะท้อนอุตสาหกรรมเด่น

ในช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยมีการเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 ตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET) มี Market Capitalization กว่า 16 ล้านล้านบาท

และมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ย 56,409 ล้านบาทต่อวัน ในด้านผลการดำเนินงานนั้น หลักทรัพย์จดทะเบียนใน SET จำนวน 533 หลักทรัพย์  (ไม่รวมกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานและบริษัทในกลุ่มที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนหรือบริษัทที่แก้ไขการดำเนินงานไม่ได้ตามกำหนด) มียอดขายรวม 11,871,726 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.36% และกำไรจากการดำเนินงานหลัก (Core operating profit) 1,079,375 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.47% ซึ่งสะท้อนให้เห็นความแข็งแกร่งในด้านปัจจัยพื้นฐาน และทำให้ตลาดไทยมีความน่าสนใจต่อผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

การเติบโตและความน่าสนใจของบริษัทไทยหลายแห่งนั้นไม่ได้จำกัดแค่ในประเทศ แต่มีความสามารถแข่งขันในระดับสากล จากสถิติเมื่อ 31 มกราคม 2019 ของ Bloomberg พบว่ามีหุ้นไทยหลายหลักทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่และน่าสนใจเมื่อพิจารณาจากกลุ่มอุตสาหกรรมในระดับสากล (Global Industry classification standard –GICs)

ตัวอย่างเช่น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ผู้ให้บริการ 6 สนามบินนานาชาติในประเทศไทย รองรับจำนวนผู้โดยสารกว่า 140 ล้านคนต่อปี มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 ในจำนวน 57 บริษัทที่ให้บริการสนามบินที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ผู้ให้บริการโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำในประเทศไทย อยู่ในอันดับ 4 จากจำนวน 203 บริษัทที่ให้บริการโรงพยาบาลทั่วโลก  ซึ่งให้บริการทั้งคนไทยและคนต่างชาติ ในปัจจุบัน BDMS มีจำนวนลูกค้าเป็นคนต่างชาติสูงกว่า 30% ของจำนวนคนไข้ที่ใช้บริการ  เป็นต้น

ทั้งนี้ หากสังเกตบริษัทไทยที่มีขนาดใหญ่ โดดเด่น และเป็นที่สนใจของต่างชาตินั้น มักอยู่ในกลุ่มธุรกิจด้านบริการ ซึ่งสอดคล้องกับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ภาคบริการมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้นด้วยการเติบโตสูงถึง 6.5% ( ในช่วงปี 2009 – 2018) ซึ่งสูงกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมที่ประมาณ 3.1% ในช่วงเดียวกัน

โดยภาคธุรกิจบริการที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทย ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยว ภาคธุรกิจบริการด้าน healthcare ภาคสินค้าเกษตร เป็นต้น  ทั้งนี้ การท่องเที่ยวนั้นนับเป็นจุดเด่นของประเทศไทย โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยปีละ 10.2%  ในส่วนของ Healthcare นั้น ในปี 2561 ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับจาก The International Healthcare Research Center (IHRC) ให้อยู่อันดับที่ 6 ของโลก มีสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองมาตรฐานในระดับสากล JCI (Joint Commission International Accreditation) มีทั้งหมด 61 แห่ง แบ่งเป็นโรงพยาบาล 47 แห่ง และคลินิก 14 แห่ง

ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายอันดับ 3 ของโลกสำหรับนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) โดยสามารถสร้างรายได้ประมาณ 600 ล้านเหรียญ สรอ. ต่อปี เป็นรองเพียงประเทศสหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้ (ข้อมูลจาก International Medical Travel Journal) นอกจากนี้ ประเทศไทยที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ครัวของโลก” ยังมีความโดดเด่นในภาคอุตสาหกรรมอาหารที่สามารถส่งออกอาหารสด อาหารแปรรูป สินค้าเกษตร และสินค้าอุตสหกรรมการเกษตร คิดเป็นมูลค่ารวมถึง 42,429 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2561 หรือคิดเป็น 16.3% ของสัดส่วนการส่งออกทั้งหมด

เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสในการเติบโตของบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจดังกล่าว ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศในอนาคต และจะช่วยสร้างรายได้ให้คนไทย ตลาดหลักทรัพย์จึงได้มีแนวคิดในการจัดทำดัชนี SET Well-Being Index (SETWB) เพื่อให้สะท้อนความเคลื่อนไหวของราคาหลักทรัพย์ที่อยู่ในหมวดธุรกิจด้านบริการและการเกษตรที่มีศักยภาพในการแข่งขันและเป็นธุรกิจที่ผู้ลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ

โดยดัชนี SET Well-Being จะประกอบไปด้วยหลักทรัพย์ขนาดใหญ่จำนวน 30 บริษัท จาก 7 หมวดธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการและภาคการเกษตร ได้แก่ หมวดธุรกิจการเกษตร หมวดธุรกิจพาณิชย์ หมวดธุรกิจแฟชั่น หมวดธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม หมวดธุรกิจการแพทย์ หมวดธุรกิจการท่องเที่ยวและสันทนาการ และหมวดธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ โดยจะคัดเลือกบริษัทที่มีผลประกอบการดี (สามารถสร้างผลกำไรได้ 2 ใน 3 ปี) มีสภาพคล่องในการซื้อขาย และจำกัดน้ำหนักของหลักทรัพย์แต่ละตัวในดัชนีไว้ที่ไม่เกิน 10%

แม้ว่าการคัดเลือกหุ้นสำหรับหลักทรัพย์ในดัชนี SET Well-Being จะพิจารณาจากหุ้นขนาดใหญ่จากหมวดธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการและภาคการเกษตร แต่ก็ไม่ได้มีความซ้ำซ้อนกับรายชื่อหุ้นในดัชนี SET50 ที่เป็นตัวแทนของบริษัทจดทะเบียนที่มีขนาดใหญ่มากนัก โดยรายชื่อบริษัทในดัชนี SET Well-Being ที่ประกาศในเดือนเมษายน 2562 นั้น มีเพียง 16 บริษัทเท่านั้นที่อยู่ในดัชนี SET50 เนื่องจากเป็นหุ้นที่มาจากหมวดธุรกิจที่อยู่ในช่วงเติบโต และยังมีศักยภาพที่เติบโตอีกในอนาคต ดังนั้น ดัชนี SET Well-Being จึงน่าจะเป็นหนึ่งในทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุนที่ต้องการกระจายการลงทุนไปยังหลักทรัพย์อื่นๆ ที่มีโอกาสเติบโตสูงนอกดัชนี SET50 ได้

ผู้ลงทุนที่สนใจดัชนี SET Well-Being และหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบของดัชนีนั้น สามารถศึกษาข้อมูลรายชื่อหลักทรัพย์ที่ใช้คำนวณดัชนี เกณฑ์การคัดเลือก และวิธีการคำนวณดัชนีได้ที่เว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ฯ www.set.or.th/SETWB โดยดัชนีดังกล่าวเริ่มเผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา รวมทั้งคาดว่าจะมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนนำดัชนี SET Well-Being ไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้ผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้สะดวกขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้