Yield Curve Inversion กับ Recession

Yield Curve Inversion กับ Recession

เดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ประเทศไทยเข้าสู่ ช่วงเวลาแห่งการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 8 ปี ที่ผ่านมา

 ถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญ ที่มีผลต่อบรรยากาศการลงทุน แต่วันนี้เราจะยังไม่พูดถึงเรื่องนี้แต่จะขอไปพูดปรากฏการณ์ ที่ทำให้ ตลาดการเงินโลกผันผวน เนื่องจากนักลงทุนได้กังวลกับการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจกิจที่แย่กว่าคาดการณ์ จนนำไปสู่ปรากฏการณ์เส้นอัตราผลตอบแทนของสหรัฐฯ แบบลาดลง หรือเรียกกันว่า “Inverted yield curve”  ยกตัวอย่างให้เห็นภาพจะได้ว่า หากคุณต้องการถือครองพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี จะได้รับผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยที่น้อยกว่าการถือครองตั๋วเงินคลังอายุ 3 เดือน

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า Inverted yield curve เป็นภาวะผิดปกติในตลาดตราสารหนี้ คือ พันธบัตรรัฐบาลอายุยาวให้ผลตอบแทนน้อยกว่าพันธบัตรรัฐบาลอายุสั้น  ซึ่งภาวะดังกล่าวถือเป็นภาพสะท้อนความกังวลของนักลงทุน ที่มีต่อภาพเศรษฐกิจว่าจะเกิดปัญหาหรืออาจถึงขั้นเกิดภาวะวิกฤติ ทำให้มีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางมีแนวโน้มที่จะลดอัตราดอกเบี้ยลงในระยะอันใกล้

หากย้อนดูข้อมูลในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา จะพบว่าภาวะผิดปกติในตลาดพันธบัตรลักษณะดังกล่าว มักเกิดขึ้นก่อนที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญภาวะถดถอยจริงทุกครั้ง โดยเฉลี่ยประมาณ 4-6 ไตรมาสล่วงหน้า ฉะนั้น เราอาจสรุปได้ว่า Inverted yield curve เป็นหนึ่งสัญญาณเตือนภัยก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งต้องใช้ควบคู่กับสัญญาณเชิงลบทางเศรษฐกิจอื่น ๆ อาทิ การเพิ่มขึ้นของอัตราการผิดนัดชำระหนี้ การรายงานผลประกอบการธุรกิจเป็นขาดทุน รวมถึงการประกาศปลดคนงานของบริษัทจดทะเบียน เป็นต้น

แต่ทว่า ความแม่นยำของสัญญาณบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ มีโอกาสคลาดเคลื่อนเมื่อเทียบกับในอดีตด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ 1) ภายหลังวิกฤติการเงินปี 2551 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรฯ ระยะยาว ถูกบิดเบือนด้วยมาตรการ QE1-3 ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) 2) ส่วนต่างผลตอบแทนพันธบัตรฯ อายุ 10 ปี กับ 2 ปี (UST 2-10 Spread) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเครื่องบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจที่แม่นยำ ยังมีค่ามากกว่าศูนย์ (+15bps ข้อมูล ณ วันที่ 29 มี.ค. 62) และ 3) Fed สาขานิวยอร์ก ประเมินความน่าจะเป็นของการเกิดภาวะถดถอยอีก 12 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 24.62% ซึ่งยังต่ำกว่าเกณฑ์ชี้วัดที่ 30%

อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่อยากขอทิ้งท้ายไว้ คือ บาดแผลจากวิกฤติการเงินในอดีตถือว่าเป็นบทเรียนที่สำคัญ ซึ่งช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการกำกับดูแลสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ได้เป็นอย่างดี แต่การถดถอยของเศรษฐกิจในบางช่วงเวลาเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การลงทุนแบบผสมผสานโดยให้ความสำคัญต่อความเสี่ยงให้มากกว่าผลตอบแทนน่าจะเหมาะสมกับสภาวะกาณ์ ความไม่แน่นอนทั้งเศรษฐกิจ และการเมืองที่เป็นอยู่ ณ ตอนนี้  

ทั้งนี้สำหรับนักลงทุนที่ไม่สามารถรับความเสี่ยงได้ในระดับสูง การจัดพอร์ตให้ลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ ยังเป็นทางเลือกที่ดี โดยแนวโน้มตลาดตราสารหนี้ในไทยช่วงนี้ คาดว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปัจจัยในประเทศเป็นหลัก เนื่องจากในสัปดาห์นี้จะมีการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตร (Bond Switching Program) ในวันที่ 4 เม.ย. มูลค่าธุรกรรม 90,000 ล้านบาท ซึ่งอาจทำให้มีแรงขายในพันธบัตรรุ่นที่เป็น Destination Bonds โดยปัจจุบันอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทย อายุ 2 ปี เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.7% อายุ 5 ปี  เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2.07% และ 10 ปี เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2.5% ทั้งนี้ หากสนใจลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ช่วงนี้ แนะนำลงทุนกองทุนตราสารหนี้ที่มี Duration สั้น เนื่องจากอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะกลางและระยะยาวมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น