แน่ใจนะ ว่าคุณไม่ได้กำลังเป็นเหยื่อของแชร์ลูกโซ่

แน่ใจนะ ว่าคุณไม่ได้กำลังเป็นเหยื่อของแชร์ลูกโซ่

หลายๆคนเคยได้ยินคำว่า “โจรปล้นสิบครั้งก็ไม่เท่าไฟไหม้ครั้งเดียว” กันใช่ไหมครับ

แต่ในปัจจุบัน มีอีกหลายเหตุการณ์ที่ทำให้เราสามารถล้มละลายได้มากกว่าไฟไหม้ ส่วนตัวผมเอง ผมคิดว่า ไฟไหม้สิบครั้ง ก็อาจจะไม่เท่ากับการโดนฉ้อโกงเพียงครั้งเดียว...ถึงแม้จะโดนโจรขึ้นบ้าน แต่โจรก็เอาตัวบ้านของเราไปไม่ได้ ถึงแม้ไฟจะไหม้บ้าน ไฟก็เอาที่ดินเราไปไม่ได้ แต่การโดนฉ้อโกงนั้น นอกจากทรัพย์สินเงินทอง ที่ดินแล้ว ความสูญเสียอาจจะไปถึงขั้นชีวิตเลยทีเดียว วันนี้ผมมีบทความดีดีจากนักวางแผนความเสี่ยงของบริษัท Wealth Creation International Co., Ltd. คุณปิติพงษ์ รุ่งเรืองวุฒิกุล CFP® จะมาขยายความเกี่ยวกับความเสี่ยงจากการโดนฉ้อโกงให้ทุกท่านได้ลองอ่านกันดูนะครับ

"จับกาแฟแคชแบค สูบเงิน 3,000 ล้านบาท ผู้เสียหาย ตายแล้ว 3" พาดหัวใหญ่หนังสือพิมพ์เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เป็นบทเรียนให้เราได้ทราบว่า ต่อให้ผ่านไปกี่ยุคสมัย ก็ยังมีคนตกเป็นเหยื่อของการฉ้อโกง ด้วยแชร์ลูกโซ่อยู่เสมอ นับตั้งแต่ แชร์แม่ฉงชม้อย ในปี 2520 ผ่านมากว่า 40 ปี ก็ไม่มีทีท่าว่าแชร์ลูกโซ่จะหายไปจากสังคมไทย

แชร์ลูกโซ่คืออะไร?แชร์ลูกโซ่คือการฉ้อโกงรูปแบบหนึ่งโดยการระดมทุนจากประชาชนให้มาร่วมลงทุน โดยอ้างว่าจะให้ผลตอบแทนที่สูงเพื่อจูงใจให้คนมาร่วมลงทุน โดยมักจะอ้างว่าจะนำเงินไปลงทุนในธุรกิจที่มีกำไรดีทำให้มีผลตอบแทนสูงมาจ่ายคืนแก่ผู้ลงทุน แต่แท้จริงแล้วไม่ได้มีการนำเงินไปลงทุนในธุรกิจ แต่อาศัยการนำเงินจากผู้ลงทุนรายใหม่ไปจ่ายแก้ผู้ลงทุนรายเก่าเป็นทอดๆ ไปเรื่อย และเมื่อตัวบริษัทรวมเงินได้จนถึงจุดหนึ่งแล้ว ก็จะเริ่มจ่ายผลตอบแทนช้าลงจนถึงไม่จ่ายโดยอาจจะหาข้ออ้างต่างๆ จนสุดท้ายแล้วก็จะปิดบริษัทหนีไปพร้อมกับเงินของนักลงทุน ก่อให้เกิดความเสียหายของผู้ลงทุน ปัจจุบัน แชร์ลูกโซ่มีการอ้างอิงถึงการนำเงินไปลงทุนในธุรกิจหลายๆอย่างเช่น การเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยน, การลงทุนในบริษัทต่างประเทศ, การลงทุนในสกุลเงินดิจิตอล, หรือแม้แต่กองทุนฌาปนกิจ เป็นต้น

สำหรับตัวผู้ผมแล้ว นับว่าเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจอยู่เหมือนกันที่ยังมีหลายคนต้องตกเป็นเหยื่อของขบวนการแชร์ลูกโซ่ ทั้งๆที่ก็มีข่าวออกมาให้เห็นอยู่เป็นประจำ

จากการสันนิษฐานของผม ผมคิดว่าอาจเป็นเพราะรูปแบบแชร์ลูกโซ่นั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ทำให้หลายๆคนอาจจะไหวตัวไม่ทัน ทำให้อาจจะโดนหลอกได้ แต่ถึงจะเปลี่ยนไปอย่างไร ก็ยังพอจะมีจุดที่จะสังเกตได้ว่า การลงทุนนั้นเป็นแชร์ลูกโซ่หรือไม่ ดังนี้ครับ

เริ่มจากจุดสังเกตที่เห็นได้ชัดที่สุดคือการให้การรับประกันผลตอบแทนที่สูงมาก สำหรับการลงทุนแล้ว การลงทุนที่มีการการันตีผลตอบแทนที่เกิน 7% ต่อปี(อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้เอกชน non-investment grade ที่พอจะหาได้ในปี 2562) นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ แต่สำหรับแชร์ลูกโซ่ สามารถให้ผลตอบแทนได้ถึง 7%-10% ต่อเดือน (200%ต่อปี) ซึ่งถ้าหากมีบริษัทไหนสามารถทำได้จริง ธนาคารก็คงไม่ต้องทำธุรกิจสินเชื่อแล้วละครับ คงเอาเงินไปลงทุนในบริษัทเหล่านี้แทนดีกว่า

จุดสังเกตถัดมาคือความน่าเชื่อถือของตัวธุรกิจ แชร์ลูกโซ่หลายๆเจ้านั้น มักจะมีการอ้างอิงถึงองค์กรหรือบุคคลที่ดูมีความน่าเชื่อถือ หรือมีชื่อเสียง แต่ขอให้ท่านนักลงทุนอย่าพึ่งปักใจเชื่อ ขอให้ลองตรวจสอบให้ชัดเจนเสียก่อน ว่าบุคคลนั้นมีส่วนร่วมกับธุรกิจนี้จริงหรือไม่

ท้ายที่สุดสิ่งที่จะช่วยยืนยันความชัดเจนของธุรกิจ ก็คือตัวงบการเงินของบริษัทนั้นๆ ถ้าบริษัทนั้นไม่ได้เป็นแชร์ลูกโซ่จริง จะต้องสามารถตรวจสอบงบการเงินได้ โดยการนำเลขทะเบียนการค้าไปตรวจสอบบน เวบไซต์ของกระทรวงพาณิชย์ได้เลย (http://www.dbd.go.th)

 จากผลตอบแทนที่สูงเกินจริง มีการแอบอ้างบุคคลหรือองค์กรณ์ที่มีชื่อเสียง และไม่สามารถตรวจสอบงบการเงินได้ สิ่งเหล่านี้คือจุดที่ทำให้เราสังเกตเห็นได้ถึงความไม่ชอบมาพากลของการลงทุนนั้นๆว่ามีโอกาส ที่จะเป็แชร์ลูกโซ่ ได้ครับ แล้วถ้าหาจาก จุดสังเกตทั้ง 3 ข้อนี้แล้ว ยังไม่แน่ใจ ก็สามารถติดต่อไปที่ 1359 ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง เพื่อขอคำปรึกษาได้เลย

 ท้ายที่สุดนี้ผมเชื่อว่าต่อไปจากนี้ แชร์ลูกโซ่ก็จะยังคงอยู่กับสังคมไทยต่อไป โดยอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบให้ดูซับซ้อนและจูงใจมากขึ้น แต่ถึงอย่างไร จุดประสงค์ของแชร์ลูกโซ่ ก็คือการหลอกลวง ฉ้อโกงประชาชน และก่อให้เกิดความสูญเสียมหาศาล สำหรับพวกเราที่มีภูมิคุ้มกันแล้ว นอกจากตัวเราเองแล้ว เรา มาช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้กับคนใกล้ตัว ของเราด้วยนะครับ อย่าให้ใครต้องมาตกเป็นเหยื่อของขบวนการแชร์ลูกโซ่อีกต่อไปเลย