Own Sandbox : เครื่องมือใหม่ในการสนับสนุน Fintech

Own Sandbox : เครื่องมือใหม่ในการสนับสนุน Fintech

ในยุคที่เทคโนโลยีทางการเงิน (Financial Technology : FinTech) เกิดขึ้นและพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว แนวทางและกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลในเรื่องดังกล่าว

ย่อมต้องมีการปรับปรุงเพื่อให้เอื้อต่อสภาพแวดล้อมดังกล่าวด้วยเช่นกัน ดังนั้น เมื่อกลางเดือนมีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ เรื่อง แนวทางการเข้าร่วมทดสอบและพัฒนานวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีใหม่มาสนับสนุนการให้บริการทางการเงิน หรือ “Regulatory Sandbox” โดยเปิดโอกาสให้มีการสร้าง Sandbox ในรูปแบบใหม่ หรือ “Own Sandbox” ที่เป็นของสถาบันการเงินเอง สำหรับผู้เขียน หลักเกณฑ์ใหม่ในเรื่อง Own Sandbox นั้นน่าสนใจ จึงขอหยิบมาอธิบายในบทความฉบับนี้ 

FinTech และ Sandbox

FinTech มาจากการผสมระหว่างคำว่า Financial และ Technology ดังนั้น FinTech จึงเป็นการให้บริการหรือสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงินในรูปแบบต่าง ๆ โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นพื้นฐาน ซึ่งผู้ให้บริการพยายามออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ “เข้าถึงง่าย สะดวก และรวดเร็ว” เพื่อวัตถุประสงค์ในการลดต้นทุนการให้บริการ และเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน

ดังนั้น เมื่อผู้ให้บริการเลือกใช้เทคโนโลยีในรูปแบบใหม่ โจทย์ที่สำคัญของ Regulators คือ จะกำกับเทคโนโลยีที่ยังไม่เคยมีมาก่อนนั้นอย่างไร? และจะมั่นใจได้อย่างไรว่า การให้บริการผ่านเทคโนโลยีดังกล่าวจะมีแนวทางในการคุ้มครองผู้บริโภคที่เหมาะสม และมีการบริหารความเสี่ยงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ เพื่อตอบโจทย์เช่นว่านี้ Regulators ทั่วโลก จึงเกิดแนวคิดในการทดสอบนวัตกรรมเหล่านั้นผ่านกลไกของ “Sandbox” หรือ การกำหนดพื้นที่สำหรับการทดสอบนวัตกรรม FinTech ในสภาพแวดล้อมการให้บริการที่จำกัด (เช่น จำกัดจำนวนลูกค้าที่สามารถเข้าใช้บริการ) ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดจาก Regulators สำหรับประเทศไทยเองก็เช่นกัน ธปท. ได้กำหนดหลักเกณฑ์เรื่องการทดสอบนวัตกรรม FinTech ผ่านกลไกของ Regulatory Sandbox ตั้งแต่ปลายปี 2559

จาก Regulatory Sandbox ถึง Own Sandbox

เดิมที เมื่อผู้ให้บริการทางการเงิน คิดค้นนวัตกรรม FinTech ในรูปแบบใหม่ (ที่ยังไม่เคยมีมาก่อน) ผู้ให้บริการจะต้องนำนวัตกรรมนั้นเข้าร่วมทดสอบใน Regulatory Sandbox ของ ธปท. ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด และหากประสบความสำเร็จตามหลักเกณฑ์ จะสามารถยื่นขอใบอนุญาตในการให้บริการได้ทันที โดยกระบวนการทั้งหมดนี้ ในทางปฏิบัติ ธุรกิจมักพบอุปสรรคในเรื่องระยะเวลาการนำเสนอเทคโนโลยีออกสู่ตลาด (เนื่องจากกระบวนการทดสอบใน Regulatory Sandbox จะใช้เวลาอย่างน้อยหกเดือนขึ้นไป) ประกอบกับเทคโนโลยีในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้บริการ/นวัตกรรมบางอย่างที่ส่งมาทดสอบใน Regulatory Sandbox อาจไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดและความต้องการของผู้บริโภค

ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวข้างต้น จึงเกิดแนวคิดที่ว่า นวัตกรรมบางอย่างอาจไม่จำเป็นต้องส่งมาทดสอบใน Regulatory Sandbox ของ ธปท. ทั้งหมด ผู้ให้บริการสามารถสร้าง Own Sandbox ของตนเองได้ และทดสอบนวัตกรรมเหล่านั้นภายใต้การดูแลและความรับผิดชอบของผู้ให้บริการเอง ซึ่ง ธปท. จะทำหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินการของ Own Sandbox โดยการกำหนดให้ผู้ให้บริการที่มี Own Sandbox มีหน้าที่รายงานแผนการทดสอบนวัตกรรมใน Own Sandbox ของตนให้ ธปท. ทราบตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด

อะไรบ้างที่ทดสอบใน Own Sandbox ได้?

จากการเกิดขึ้นของ Sandbox สองประเภท นวัตกรรม FinTech ที่จะทดสอบในแต่ละ Sandbox จึงถูกกำหนดให้มีลักษณะที่แตกต่างกัน โดยผู้เขียนขออธิบายและวิเคราะห์ ดังนี้

สำหรับ Regulatory Sandbox ของ ธปท. จะรองรับการทดสอบของนวัตกรรมหรือบริการทางการเงินที่ “ไม่เคยมีมาก่อน” หรือ “ไม่เหมือนกับบริการทางการเงินที่นำเสนออยู่แล้วในประเทศไทย” หรือ “เป็นนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของบริการเดิม” และต้องมีในลักษณะ ดังต่อไปนี้ (1) เป็นนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทางการเงินที่จะพัฒนาไปเป็นโครงสร้างพื้นฐานหรือมาตรฐานกลางสำหรับภาคการเงินที่จำเป็นต้องทดสอบร่วมกัน หรือ (2) เป็นนวัตกรรมที่มีกฎหมายกำหนดให้การให้บริการในลักษณะนั้นต้องทดสอบใน Regulatory Sandbox ของ ธปท. ยกตัวอย่างเช่น การประกอบธุรกิจ Peer-to-Peer Platform Lending Platform (p2p Lending) ภายใต้ประกาศกระทรวงการคลังเรื่อง การกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกรรมสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล เป็นต้น

สำหรับ Own Sandbox ของผู้ให้บริการ จะรองรับการทดสอบนวัตกรรมหรือการให้บริการทางการเงินที่นำเทคโนโลยีในรูปแบบใหม่มาใช้ โดยลักษณะของนวัตกรรมที่ทดสอบได้นั้นจะต้อง “จะไม่พัฒนาไปเป็นโครงข่ายพื้นฐานหรือมาตรฐานกลางที่เกี่ยวข้องกับผู้ให้บริการรายอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องทำการทดสอบระบบร่วมกัน หรือ “ไม่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องทดสอบใน Regulatory Sandbox ของ ธปท.

ดังนั้น อาจวิเคราะห์ได้ว่า นวัตกรรมที่จะทดสอบใน Own Sandbox ของผู้ให้บริการ คือ นวัตกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของผู้ให้บริการเองมากกว่าที่จะมีความเกี่ยวข้องกับผู้ให้บริการรายอื่นเป็นการทั่วไป เช่น การปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการของตนเองให้ทันสมัยขึ้น หรืออาจเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีของผู้ให้บริการในขั้นตอนการให้บริการต่าง ๆ กับลูกค้าของตนเอง ในลักษณะที่ไม่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานกลางใด ๆ ที่ผู้ให้บริการรายอื่นในภาคการเงินต้องตกลงหรือจำเป็นต้องทำการทดสอบร่วมกัน

ขั้นตอนในการสร้าง Own Sandbox เมื่อผู้ให้บริการพิจารณาลักษณะบริการทางการเงินหรือนวัตกรรม FinTech ของตนแล้วพบว่าสามารถสร้างและทดสอบใน Sandbox ของตนเองได้ ผู้ให้บริการจะต้องกำหนดกรอบนโยบาย Own Sandbox โดยต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการของผู้ให้บริการทางการเงินหรือคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมาย (เช่น CEO ของผู้ให้บริการ) และต้องมีการรายงานแผนการทดสอบนวัตกรรม FinTech ใน Own Sandbox (เช่น รายงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ใช้ งบประมาณ จำนวนลูกค้าที่ร่วมทดสอบ การบริการความเสี่ยง/คุ้มครองผู้บริโภค) ให้ ธปท. ทราบทุกไตรมาส ท้ายที่สุด ผู้เขียนเชื่อว่า การที่ ธปท. ได้เปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการสามารถสร้าง Own Sandbox ของตนเองได้ จะเป็นการแก้ปัญหาเรื่อง time to market ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการเริ่มต้นที่ดีในของการพัฒนา FinTech ในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) ในระยะยาวต่อไป 

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน]