S2B จากวิทยาศาสตร์สู่ธุรกิจ

S2B จากวิทยาศาสตร์สู่ธุรกิจ

S2B ถอดความโดยตรงมาจาก Science-to-Business หรือ จากวิทยาศาสตร์สู่ธุรกิจ โดยหยิบยืมคำย่อทางการตลาดที่คุ้นเคยกัน

เช่น B2C หมายถึงการตลาดที่บริษัทขายสินค้าของตนตรงไปยังผู้บริโภค หรือ B2B หมายถึงการตลาดที่บริษัทขายสินค้าไปยังบริษัทหรือธุรกิจอื่นที่ไม่ได้เป็นผู้บริโภคหรือผู้ใช้สินค้าโดยตรง หรือในศัพท์ดั้งเดิมที่เคยใช้คำว่า ธุรกิจ “ขายปลีก” และ “ขายส่ง” นั่นเอง

การตลาดแบบ S2B โดยคร่าวๆ ก็จะหมายถึง การนำผลงานการวิจัยจากห้องแล็ปมาสร้างสรรค์เป็นธุรกิจ หรือการนำผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์มาสร้างคุณค่าเพิ่มในเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งในปัจจุบัน ผู้บริโภคต่างก็คุ้นเคยและชื่นชมกับสินค้าหรือบริการที่นำเทคโนโลยีทันสมัยมาผนวกเข้ากับผลิตภัณฑ์หรือบริการเดิมๆ ที่เคยใช้กันอยู่

แหล่งที่มาของวัตถุดิบสำหรับการตลาด S2B หนีไม่พ้นที่จะต้องมาจากห้องแล็ป ไม่ว่าจะอยู่ในมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย องค์กร และหน่วยงานภาครัฐ ที่มีบุคลากรและอุปกรณ์เครื่องมือเฉพาะสำหรับค้นคว้าทดลองโดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์เพื่อแสวงหา สูตรสำเร็จ ที่จะนำมาประยุกต์ใช้เป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการเชิงพาณิชย์ที่จะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดีกว่าสิ่งที่มีอยู่ในตลาด

หัวใจสำคัญของธุรกิจแบบ S2B อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ การเน้นถึง ความใหม่ หรือ ความแปลกใหม่” ที่จะนำเสนอต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ความแปลกใหม่” ที่ยังไม่เคยมีมาก่อน

ทำให้ธุรกิจ S2B ไม่สามารถนำเครื่องมือหรือวิธีการทางการตลาดที่ใช้กับสินค้าหรือบริการที่ผู้บริโภคคุ้นเคยมาอยู่ก่อนแล้ว เพื่อนำเสนอและเปรียบเทียบความใหม่ที่แตกต่างออกไปจากสินค้าหรือบริการเดิม แต่จะต้องให้ความสำคัญกับการแนะนำ หรือ “สอน” ให้ผู้บริโภคให้สามารถเข้าถึง “ความใหม่” เหล่านี้ และสามารถนำไปใช้งานได้โดยสะดวก

หลายท่านก็คงเคยปวดหัวกับการใช้งานโทรศัพท์มือถือในยุคแรกๆ กว่าที่จะสามารถใช้สมาร์ทโฟนได้อย่างคล่องแคล่วในปัจจุบัน

แต่เนื่องจากระยะห่างระหว่างนักวิทยาศาสตร์กับนักธุรกิจยังมีช่องว่างขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพื้นฐาน องค์ความรู้ และประสบการณ์ที่แตกต่างกันไปอย่างสิ้นเชิง ทำให้เกิดอุปสรรคอย่างมากต่อการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้ามาสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจของไทยเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่พัฒนาแล้ว

กระบวนการของธุรกิจ S2B จึงจำเป็นที่จะต้องมีโครงสร้างที่แตกต่างไปจากธุรกิจธรรมดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ว่า วัตถุดิบที่จะป้อนเข้าสู่ธุรกิจ คือ ผลการวิจัย ที่จะต้องได้รับการแปลความไปสู่ภาษาที่ผู้ประกอบการหรือนักธุรกิจสามารถเข้าใจได้

โดยจะต้องมีตัวเชื่อมสำคัญ ก็คือบุคลากรหรือหน่วยงานพิเศษที่มีความสามารถในการอธิบายผลของฝั่งงานวิจัยเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องในฝั่งธุรกิจเข้าใจได้

ดังนั้น ในกระบวนการสำคัญของ S2B จึงจำเป็นที่จะต้องมีระบบนิเวศที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงหน่วยงานวิจัยกับอุตสาหกรรม หรือ University – Industry Linkage ในลักษณะของความร่วมมือระหว่าง ผู้สร้างเทคโนโลยี กับ ผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ที่จะต้องพูดจาภาษาเดียวกันให้เข้าใจ

ในขณะที่กระบวนการด้านการสร้างเทคโนโลยีจากองค์กรวิจัยต่างๆ มักจะมีผู้เกี่ยวข้องไม่มากนัก เช่น นักวิจัย และผู้กำกับนโยบายการวิจัย ปัญหามักจะเกิดขึ้นในส่วนของผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งมีความหลากหลายของผู้เกี่ยวข้องมากกว่า

เริ่มตั้งแต่ในส่วนของความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของผู้ประกอบการ นักการตลาด รวมไปถึงเจ้าของแหล่งทุนสนับสนุนธุรกิจ ซึ่งอาจมีได้ตั้งแต่ ธนาคาร ธุรกิจเงินร่วมลงทุน หรือแม้กระทั่งหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ให้การสนับสนุนธุรกิจเทคโนโลยี ซึ่งอาจมีความเข้าใจหรือความไม่เข้าใจในตัวเทคโนโลยีหรือผลงานวิจัยมากน้อยต่างกัน

ผู้เล่นที่อาจมีส่วนทำให้อุปสรรคเหล่านี้ลดลงได้ก็คือ บรรดาธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่เจ้าของหรือผู้ร่วมก่อตั้ง มีพื้นฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพียงพอ และมีวิสัยทัศน์ที่เห็นถึงความเป็นไปได้ของงานวิจัยที่สามารถนำมาสร้างเป็นธุรกิจที่แตกต่างได้

ความยากของการทำธุรกิจ S2B หรือธุรกิจไฮเทค จึงมาจากการที่ต้องหาส่วนผสมต่างๆ ดังกล่าวให้ลงตัว ด้วยการมีวิสัยทัศน์ของผู้บริหารประเทศ ความเข้าใจของหน่วยงานด้านการวิจัยที่สามารถแยกแยะงานวิจัยเพื่อแสวงหาองค์ความรู้ใหม่ และการวิจัยเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันเชิงธุรกิจของประเทศ และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีพื้นฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เพียงพอ

เพื่อสร้าง สตีฟ จ๊อบส์ หรือ บิล เกต ขึ้นมาในประเทศไทยของเราได้บ้าง!!??!!