นวัตกรรม ฟิล์ม Fuji และ เครื่องสำอางญี่ปุ่น

นวัตกรรม ฟิล์ม Fuji และ เครื่องสำอางญี่ปุ่น

ในยุคประเทศไทย และอุตสาหกรรม 4.0 คำหนึ่งที่มักจะได้ยินอยู่เสมอ คือ “นวัตกรรม” นะครับ

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กล่าวในหลายเวทีว่า ปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ คือ “ผลิตภาพ” เพราะเป็นสิ่งสะท้อนถึงความสามารถในการจัดการระบบเศรษฐกิจ ให้สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดทางทรัพยากรในด้านต่าง ๆ ได้ และ หัวใจสำคัญของผลิตภาพ คือ นวัตกรรม

น่าสนใจมากว่า เบอร์หนึ่งของประเทศด้านนโยบายการเงิน แต่ให้ความสำคัญกับผลิตภาพและนวัตกรรมของประเทศ ว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

แนวคิดที่มักได้รับการอ้างอิงในการให้ความหมายของนวัตกรรม คือ องค์ประกอบ 3 ประการ ความใหม่, ความคิดสร้างสรรค์, และ มีคุณค่าหรือประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

ความใหม่ นั้น เป็นได้ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์ใหม่ (Product), บริการใหม่ (Service), ขั้นตอนกระบวนการทำงานใหม่ (Process) หรือ รูปแบบทางธุรกิจใหม่ (Business Model) โดยจะเป็นการปรับปรุงต่อยอดจากของเดิม หรือพัฒนาขึ้นใหม่เลยก็ได้

ความใหม่ที่เกิดขึ้นต้องใช้ ความคิดสร้างสรรค์ หรือ ความรู้ เป็นหลักการในการพัฒนา ไม่ใช่มาจากการลอกเลียนแบบ

และปัจจัยสุดท้าย คุณค่า คือสิ่งที่ทำให้นวัตกรรมต่างออกไปจาก สิ่งประดิษฐ์ หรือ งานวิจัย เพราะนวัตกรรมให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ที่วัดเป็นตัวเงินโดยตรงหรือไม่ก็ได้ มีคำกล่าวของอดีตรองประธานบริษัท 3M กล่าวถึงเรื่องนี้ได้อย่างเห็นภาพคือ

“Research is the transformation of money into knowledge. Innovation is the transformation of knowledge into money.”

นวัตกรรม ยังได้รับการอธิบายอีกมุมหนึ่ง เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับ Kaizen ในแบบญี่ปุ่น ซึ่งเน้นการมีส่วนร่วมจากพนักงานทุกคน โดยปรับปรุงอย่างต่อเนื่องทีละเล็กละน้อย ในขณะที่นวัตกรรมเป็นการก้าวกระโดดเข้าสู่สภาวะใหม่ด้วยระยะเวลาที่รวดเร็ว

ในยุค 4.0 ปัจจัยสำคัญหนึ่งที่เป็นตัวเร่ง ให้คลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงสาดซัดเข้ามารุนแรงขึ้น คือ เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว บางเทคโนโลยีเข้ามาเสริมต่อรูปแบบธุรกิจที่มีอยู่แล้ว แต่บางเทคโนโลยีทำในสิ่งตรงกันข้ามคือ ทำให้ธุรกิจรูปแบบเดิมอยู่ไม่ได้อีกต่อไป

ไม่กี่ปีก่อน มือถือ Nokia ยังมีฐานะเบอร์หนึ่งในตลาดโลกอยู่เลย แต่ตอนนี้หายไปจากตลาดแล้วในเวลาแค่ไม่กี่ปี เพราะไม่สามารถปรับตัวได้ ตามยุคสมัยของ Smart phone ที่บุกเบิกด้วย iPhone เมื่อปี 2007

ลักษณะแบบนี้ คำที่ถูกนำมาใช้อธิบายความคือ Disruptive Technology สื่อถึง Technology ที่ส่งผลอย่างมากต่อสภาวะปัจจุบัน จนทำให้ธุรกิจเดิมแข่งขันไม่ได้อีกต่อไป หรือส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนจำนวนมากในสังคม

กรณีศึกษา ที่มักถูกใช้เล่าถึงอยู่เสมอในเรื่องนี้ คือ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายภาพในอดีต คือ ฟิล์ม กล้องฟิล์ม การล้างอัดภาพ กับการเข้ามาของเทคโนโลยี Digital เมื่อตลาดของกล้องฟิล์ม ตกลงอย่างฮวบฮาบ ด้วยการแทนที่ของกล้อง Digital ภายในระยะเวลาแค่ 5 ปี ช่วง 1999-2004

ยอดขายกล้อง Digital ขยายตัวได้เพียงระยะหนึ่ง ก็เจอคู่แข่งใหม่ คือโทรศัพท์มือถือที่ยกระดับความสามารถในการถ่ายภาพของตัวเอง กลายเป็นอุปกรณ์ถ่ายภาพแทนที่กล้อง ควบคู่ไปกับการเข้ามาของ Social Network ยอดขายกล้อง Digital หายไปมากกว่า 70% ในปี 2010-2014

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น กระทบอย่างรุนแรงต่อเจ้าตลาด อย่างไม่ทันตั้งตัว เมื่อปรับตัวไม่ทัน และวางวิสัยทัศน์ตนเองผิดพลาดครั้งใหญ่ ฟิล์ม Kodak ล้มละลาย อย่างที่รับทราบกันอยู่แล้วในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ท่านผู้อ่านคงยังจำคู่แข่งสำคัญ ที่ขับเคี่ยวกันมาโดยตลอดกับ Kodak อย่างฟิล์ม Fuji ได้นะครับ แล้ว Fuji ต้องล้มละลาย แบบเดียวกับ Kodak หรือเปล่า? คำตอบคือ ผลที่เกิดขึ้นกับสองบริษัทยักษ์ใหญ่ ต่างกันอย่างสิ้นเชิงครับ

เมื่อการปรับตัว คือสิ่งที่ทั้งธุรกิจและบุคคลหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทางรอดของ Fujifilm ในช่วงระยะเวลาเดียวกันคือปรับกลยุทธ์ครั้งใหญ่ หนึ่งในนั้นคือ ข้ามไปยังน่านน้ำธุรกิจใหม่ นั่นคืออุตสาหกรรมเครื่องสำอาง

องค์ความรู้ที่มีอยู่เดิมในอุตสาหกรรมฟิล์มถ่ายภาพ ถูกนำมาวิจัยต่อยอด ศาสตร์ด้านเคมีในการผลิต ที่ช่วยคงความสดใสของภาพสี ได้ถูกยกพัฒนายกระดับ เพื่อแสวงหาโอกาสธุรกิจใหม่ๆที่มีศักยภาพ ด้วยการประยุกต์ใช้เพื่อการบำรุงผิวพรรณ สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่

ณ ปัจจุบัน ธุรกิจเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงรักษาผิวของ Fujifilm กลายเป็นหน่วยงานเสาหลัก ที่ทำกำไรสูงสุดให้กับบริษัท ด้วยการแยกออกมาเป็น Brand ใหม่ในชื่อ Astalift

ปัจจัยเกื้อหนุนสำคัญข้อหนึ่งคือ เมื่อเครื่องสำอางกลายเป็น อุตสาหกรรมดาวรุ่งใหม่ของญี่ปุ่น การส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวสูงขึ้น ประกอบกับความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ของสินค้า “Japan Quality”

ความต้องการเครื่องสำอางสัญชาติญี่ปุ่น มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปี 2559 มูลค่าการส่งออกเครื่องสำอางเติบโตถึง 29% จากปีก่อนหน้า สวนทางกับหลายอุตสาหกรรมอื่นที่ยังคงชะงักงัน กับภาวะเศรษฐกิจที่หยุดนิ่งมามากกว่า 20 ปีแล้ว

เครื่องสำอางหลายแบรนด์ ประกาศปรับโครงสร้างฐานการผลิตครั้งใหญ่ ด้วยการเน้นให้ญี่ปุ่นเป็นฐานการผลิตหลักอีกครั้ง เพื่อชูจุดขาย “Made in Japan” ด้วยการขยายกำลังการผลิต และสร้างโรงงานใหม่ ปัจจัยทั้งหมดนี้ ส่งผลเชิงบวกต่อธุรกิจใหม่ของ Fujifilm

นอกจากเครื่องสำอางแล้ว Fujifilm ยังบุกเบิกธุรกิจอื่นๆด้วย เช่น สินค้าเวชภัณฑ์ การพัฒนายาต้านมะเร็ง ยารักษาโรคที่เกิดการการเสื่อมของเซลล์ประสาท และอาการติดเชื้อต่างๆ

จากเรื่องราวทั้งหมด ทำให้เราได้เห็นนวัตกรรมที่เข้ามาถูกที่ถูกเวลา ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้บริหารองค์กร ทำให้องค์กรหนึ่งสามารถปรับตนเอง เข้าสู่โอกาสทางธุรกิจใหม่ได้สำเร็จ ในขณะที่อีกรายถูกเทคโนโลยีใหม่ ซัดออกจากไปตลาด

เป็นกรณีศึกษาที่เรียนรู้ได้ว่า การปรับตัวตามสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป คือความอยู่รอดของธุรกิจครับ

 โดย... 

กฤชชัย อนรรฆมณี 

Lean and Productivity Consultant / Trainer

[email protected]