สร้างเมืองแห่งอนาคตด้วยข้อมูล

สร้างเมืองแห่งอนาคตด้วยข้อมูล

ในปี 2017 เมื่อหน่วยงาน Waterfront Toronto เปิดประมูลพื้นที่คีย์ไซด์ (Quayside) ริมน้ำในเมืองโตรอนโตของแคนาดาเพื่อสร้างสมาร์ทซิตี้

บริษัทไซด์วอค แล็บซ์ ของกูเกิลเป็นผู้ชนะการประมูลเพื่อพัฒนาพื้นที่ริมน้ำแห่งนี้ ด้วยเฟสเริ่มต้นที่มีขนาด 30 ไร่ใช้เงินลงทุนถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้เห็นถึงความสนใจของกูเกิลในการสร้างเมืองใหม่ขึ้นจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล โดยหว้งที่จะแก้ปัญหาความแออัดของเมือง ปรับปรุงการให้บริการและช่วยให้ผู้คนสามารถเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยได้เอง

ยังมีโครงการสมาร์ทซิตี้ที่เริ่มต้นสร้างเมืองจากที่ดินว่างเปล่าอื่นอีก อาทิ เมืองซองโด (Songdo) ในประเทศเกาหลีใต้และเมืองมา สดาร์ซิตี้ (Masdar City) ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตลอดจนสมาร์ทซิตี้ที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่อย่างในกรุงอัมสเตอร์ดัม สิงคโปร์และสต๊อกโฮมที่ต่างพัฒนาพื้นที่เมืองให้เป็นเมืองแห่งอนาคตที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

เมืองเพื่อผู้คนอยู่อาศัย

เมื่อเวลาผ่านไปจำนวนพลเมืองที่เลือกอาศัยในเมืองใหญ่จะเพิ่มมากขึ้น ประมาณว่าในปี 2030 พลเมืองมากกว่า 60% เลือกที่จะอาศัยในเมืองใหญ่ ดังนั้นการจัดวางผังเมืองและการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม เช่น การจัดวางอาคาร ถนนหนทางและสวนสาธารณะ รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรเช่น ระบบน้ำไฟฟ้าและแสงสว่าง ตลอดจนการให้บริการอาทิ การสาธารณสุข การคมนาคมและการจัดการขยะของเมือง จึงจำเป็นต้องถูกบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยคำนึงถึงการอยู่อาศัยและการใช้ชีวิตอย่างผาสุกของผู้คนในเมืองเป็นสำคัญ

สมาร์ทซิตี้อาจช่วยตอบโจทย์การอยู่อาศัยในอนาคต แต่การสร้างสมาร์ทซิตี้ไม่ใช่เป็นเพียงการลงทุนกับเทคโนโลยีเท่านั้น หากแต่เป็นการเลือกใช้สมาร์ทเทคโนโลยีที่เหมาะกับสภาพแวดล้อมที่พึงมี เพื่อช่วยในการใช้ชีวิตของผู้คนให้เกิดความผาสุก มีสุขภาวะที่ดี ประหยัดการใช้ทรัพยากรและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ โดยสมาร์ทเทคโนโลยีควรถูกนำมาใช้ในการตัดสินใจและเพิ่มคุณภาพของการใช้ชีวิต รวมถึงการจัดการมลพิษทางอากาศน้ำและเสียง การรักษาสุขอนามัยที่ดีและเพิ่มความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

 

แปลงข้อมูลเป็นโซลูชั่น

การลงทุนในสมาร์ทซิตี้จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากในการติดตั้งระบบ อาทิ การติดตั้งเซ็นเซอร์ (Sensor) และเครือข่ายการกระจายและรับสัญญาน ระบบโครงสร้างพื้นฐานทางอินเตอร์เน็ตที่ปลอดภัยรวดเร็ว การใช้ระบบคลาวด์คอมพิวติ้งเพื่อบันทึกข้อมูลและจัดเก็บข้อมูลในลักษณะ Big Data ตลอดจนการประมวลผลข้อมูลโดยการใช้แอพพลิเคชั่นที่เหมาะสมต่อการทำงานเพื่อใช้ในการตัดสินใจ

 ตัวอย่างเมื่อ Dr. Cheong Koon Hean สถาปนิกนักวางผังเมืองของสิงคโปร์ได้ใช้ข้อมูลจำนวนมากที่รวบรวมจากเซ็นเซอร์ป้อนเข้ายังแอพพลิเคชั่นจำลองผังเมือง (Computer Simulation) เพื่อศึกษาผลกระทบของทิศทางลม แสงอาทิตย์และความร้อนที่ได้จากแอพพลิเคชั่นการวางผังเมืองจำลองเมื่อมีการปรับทิศทางของอาคาร ลักษณะหรือความสูงของอาคาร และใช้ข้อมูลการประมวลผลจากแอพพลิเคชั่นเพื่อตัดสินใจจัดวางผังเมืองที่น่าอยู่ประหยัดพลังงานและเหมาะสมให้กับเมืองใหม่อย่าง Punggol Northshore หรือตัวอย่างการปรับปรุงด้านการจราจรและการประหยัดพลังงานที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่อย่างซานดิเอโก (San Diego) โดยการวิเคราะห์ข้อมูลจากเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งไว้กับเสาไฟแสงสว่างของเมือง เพื่อให้เข้าใจถึงกิจกรรมการใช้ท้องถนนของคนในเมือง ทำให้สามารถปรับปรุงการให้บริการและรักษาความปลอดภัยได้ดียิ่งขึ้น

การติดตั้งเซ็นเซอร์และกล้องจับความเคลื่อนไหวในจุดต่างๆ ของเมืองเพื่อให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ในการเก็บข้อมูลการประเมินผลและตรวจสอบการให้บริการนับเป็นหนึ่งในหัวใจการทำงานของสมาร์ทซิตี้ แต่ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคลเช่นกัน โดยในบางเมืองใหญ่ถึงกับมีการติดตั้งกล้องในลักษณะ Facial Recognition ที่ใช้ระบบ AI เพื่อตรวจสอบผู้คนบนท้องถนน จนสร้างความไม่พึงพอใจให้กับผู้คนเช่นกัน

 

เป้าหมายคือความสุข

การสร้างเมืองที่มีศักยภาพในการเติบโตช่วยให้ผู้คนมีรายได้และธุรกิจมีการลงทุนและการผลิตต่อเนื่อง ซึ่งต้องเข้าใจถึงจุดเด่นของเมืองและผู้คนเพื่อนำมาใช้เป็นจุดแข็งในการออกแบบและพัฒนาเมือง เช่น ความสามารถด้านการผลิต การมีแหล่งทรัพยากรบุคคลที่สามารถฝึกฝนให้มีความเชี่ยวชาญ การมีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นจุดเด่นตลอดจนความได้เปรียบของพื้นที่ตั้ง จึงสามารถช่วยสร้างรายได้และความสำเร็จให้กับเมือง โดยเฉพาะต้องคำนึงว่าสมาร์ทซิตี้ไม่ใช่เป็นแต่เมืองที่มีความทันสมัย แต่ควรตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่มีความสุขของผู้คนในเมือง และเปิดโอกาสในการสร้างรายได้ให้เพียงพอกับความเป็นอยู่ที่เหมาะสมและยั่งยืนอีกด้วย