สู่จุดจบ! โจทย์และคำตอบ

สู่จุดจบ! โจทย์และคำตอบ

บทความนี้ เขียนเมื่อคืนวันอังคารที่ผ่านมาตามเวลาเมืองไทย ผมมิได้ตั้งใจจะเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้

แต่ในช่วงเวลาที่เตรียมข้อมูลเพื่อเขียนเรื่องอื่นอยู่ มีผู้ส่งสารและคำถามแบบเร่งด่วนจำนวนมากไปถึงทางสังคมออนไลน์ยังผลให้ผมเปลี่ยนเรื่อง เนื้อหาของสารและคำถามดังกล่าวมีที่มาจากแหล่งเดียวกัน นั่นคือ นายกรัฐมนตรีไทยได้แนะนำให้คนไทยอ่านหนังสือของผมชื่อ “สู่จุดจบ! The Coming Collapse of Thailand” ซึ่งสร้างความฉงนใจให้ผมมากเนื่องจากหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ต้นปี 2549 และถูกมือที่มองไม่เห็นห้ามร้านต่าง ๆ วางขาย อย่างไรก็ตาม เนื้อหาเกือบทั้งหมดของหนังสือแนววิชาการเล่มนี้ยังไม่ล้าสมัย และผู้สนในอาจดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์หลายแห่ง รวมทั้งของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com สำหรับผู้ที่เพิ่งได้ยินชื่อของหนังสือ ขอชี้แจงบางอย่างซึ่งอาจช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าจะไปหามาอ่านหรือไม่

สู่จุดจบ! โจทย์และคำตอบ

ในเบื้องแรก ผมไม่สามารถยืนยันได้ว่า ใครสั่งห้ามจำหน่ายหนังสือและด้วยเหตุผลอันใด จริงอยู่ หนังสือพูดถึงสิ่งที่ตอนนั้นเรียกกันว่า “ระบอบทักษิณ บ้างและ “Taksinomics” บ้าง แต่หนังสือมิได้สรุปว่า นโยบายต่างๆ ที่ นช. ทักษิณ ชินวัตรใช้หลังเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อกลางปี 2544 จะมีความเลวร้ายจนทำให้เมืองไทยเดินเข้าสู่ภาวะล้มละลาย หรือถึงกับล่มสลายหายนะ ข้อสรุปหลักได้แก่ กระบวนการพัฒนาของไทยเป็นไปในแนวไม่ยั่งยืนมานานเช่นเดียวกับการพัฒนาของสังคมต่างๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน หากยังดำเนินต่อไปในแนวนั้น การพัฒนาของไทยจะพบจุดจบไม่ว่า นช. ทักษิณ จะหมดอำนาจ หรือครองอำนาจต่อไป ในกรณีที่เขาครองอำนาจต่อไป นโยบายของเขาจะเร่งให้การพัฒนาของไทยพบจุดจบเร็วขึ้น

ปัจจัยที่ทำให้การพัฒนาของไทยไม่ยั่งยืนมีหลายอย่าง ทั้งการทำลายสิ่งแวดล้อม การอาศัยลมหายใจของผู้อื่นมากเกินไป รวมทั้งด้านเงินทุน ตลาดส่งออก การท่องเที่ยวและแนวคิดกระแสหลักซึ่งหมดยุคแล้ว ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมในสังคม และความฉ้อฉล นอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหาซึ่งมาจากปัจจัยเหล่านั้นแล้ว นโยบายของ นช. ทักษิณ ยังทำให้ปัญหาสาหัสยิ่งขึ้นอีกด้วย ร้ายยิ่งกว่านั้น เขานำนโยบายแนวประชานิยมแบบเลวร้ายที่ใช้อยู่ในละตินอเมริกามาใช้ทั้งที่น่าจะรู้ว่านโยบายแนวนี้เป็นเสมือนยาเสพติดที่ทำให้หลายประเทศในละตินอเมริกาประสบปัญหาสาหัสถึงล้มละลายหลายครั้งและพัฒนาต่อไปไม่ได้

หนังสือเรื่อง สู่จุดจบ!สาธยายให้เห็นปัญหาที่ผมมองว่า คนไทยน่าจะรู้โดยเฉพาะผู้กำอำนาจในด้านการวางนโยบายของประเทศ แต่มิได้เสนอทางออกไว้ให้ ฉะนั้น มันจึงเป็นเสมือนการตั้งโจทย์โดยไม่แนบคำตอบไว้ให้ด้วย ขอใช้โอกาสนี้เรียนว่า โจทย์ดังกล่าวมีคำตอบแบบครบถ้วนอยู่ในแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งผมได้พยายามอธิบายหลายต่อหลายครั้งรวมทั้งในหนังสือหลายเล่ม ล่าสุดคือเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง ฉบับส่งเสด็จ ซึ่งดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนาเช่นกัน

อนึ่ง ทุกครั้งที่ผมเอ่ยถึงเศรษฐกิจพอเพียง ผมมีความรู้สึกว่าผู้ฟังมักแสดงอาการเอือมระอาและหมดความสนใจในการสนทนาทันที ทั้งนี้คงเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น คนไทยส่วนใหญ่ไม่เคยสนใจที่จะใช้เวลาศึกษาเนื้อหาของแนวคิดจนเข้าใจอย่างทะลุปรุโปร่ง ผู้ตั้งตนเป็นผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่มักมุ่งการอธิบายไปที่เสี้ยวเดียวเกี่ยวกับการเกษตรเท่านั้น ส่งผลให้เข้าใจผิดว่านั่นคือเศรษฐกิจพอเพียงทั้งหมด หรือไม่ก็เป็นการให้ท่องจำแบบนกแก้วนกขุนทองว่า มีสามห่วงสองเงื่อนไขในแนวการท่องศีลห้า ร้ายยิ่งกว่านั้น ผู้กำอำนาจรัฐเองดูจะไม่เคยทำความเข้าใจให้แตกฉานและนำมาใช้ในการบริหารประเทศอย่างจริงจังแม้จะอ้างถึงอยู่เป็นประจำก็ตาม

ด้วยเหตุดังกล่าวมา ผมใคร่วิงวอนทั้งผู้กำอำนาจรัฐและผู้อ่านคอลัมน์นี้ว่า กรุณาเปิดใจใช้เวลาทำความเข้าใจกระบวนการพัฒนาของเราว่าจะไม่ยั่งยืนดังที่ผมมองหรือไม่และแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่แท้จริงจะเป็นคำตอบโจทย์ได้อย่างไร ทั้งในระดับรัฐและในระดับการปฏิบัติของบุคคล ผมเชื่อมั่นว่าถ้าท่านเปิดใจ ในภาวะที่ปราศจากกิเลสบังตา ท่านจะเห็นทั้งปัญหา หรือโจทย์และทางแก้ หรือคำตอบอย่างแจ้งชัด