"5 เทรนด์" สำคัญออกแบบ พัฒนาอสังหาฯ 2019 - 2030

"5 เทรนด์" สำคัญออกแบบ พัฒนาอสังหาฯ 2019 - 2030

เมื่อคราวที่แล้วได้กล่าวถึงเทรนด์สำคัญในการออกแบบและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 2 ประการ คือ การออกแบบอย่างยั่งยืน (Green Design)

และการออกแบบการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ขนาดเล็ก (Small Space Utilization) ไปแล้วทั้งในเชิงแนวคิดและแนวทางการประยุกต์ใช้ (Concept and Application) คราวนี้มาเก็บรายละเอียดของเทรนด์สำคัญอีก 3 ประการที่ผู้ประกอบการ ผู้ออกแบบ และผู้มีส่วนได้เสียจะต้องคำนึงถึงในทศวรรษข้างหน้าเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งเชิงมูลค่าและคุณค่า 

เทรนด์ที่ 3 คือ อาคารอัจฉริยะ (Smart Building) ซึ่งฟังเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว แต่ความสำคัญอยู่ที่บรรดาระบบอัจฉริยะทั้งหลายที่ใส่ให้ไปนั้นตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและผู้ใช้อาคารหรือไม่ (Behavioral)? และระบบอัจฉริยะนั้นใช้งานได้สะดวกหรือไม่ (User-friendly)? อาคารอัจฉริยะคืออาคารที่มีระบบที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ได้ดี (Human Centric Design) และสามารถเป็นได้ทั้งแบบที่ใช้เทคโนโลยีในการควบคุมและสั่งการ (Active-based) เช่น ระบบเปิดปิดไฟฟ้า ระบบควบคุมอุณหภูมิ และระบบติดตามและควบคุมการใช้พลังงานแบบอัตโนมัติ เป็นต้น และระบบที่ใช้คนและธรรมชาติช่วย (Passive-based) เช่น ระบบระบายอากาศผ่านผนังและฝ้าเพดาน การใช้กันสาดในการควบคุมทิศทางของแสงและบังแดด การออกแบบให้ลดการใช้พลังงานและใช้แสงจากธรรมชาติมากขึ้น รวมถึงการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติที่ใช้การลงทุนและมีค่าบำรุงรักษาน้อยจะเป็นเทรนด์ที่ยังพัฒนาเชิงนวัตกรรมต่อไปได้อีกมาก

นอกจากเทรนด์เชิงการออกแบบที่กล่าวไปแล้ว เทรนด์ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่สำคัญอีกประการคือ การพัฒนาโครงการในพื้นที่โครงข่ายคมนาคม (Transit Oriented Development: TOD) ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนแนวคิดการแบ่งปันและพึ่งพาซึ่งกันและกัน โดยจะเห็นการพัฒนาที่เน้นการใช้ประโยชน์ร่วมกันเป็นกลุ่มอาคารที่เอื้ออาศัยกัน เช่น อาคารชุดพักอาศัย อาคารสำนักงาน อาคารพาณิชยกรรมและห้างร้าน รวมถึงสถานีขนส่งและที่จอดรถ มากกว่าการพัฒนาโครงการในลักษณะอาคารโดดหรืออาคารที่มีการใช้ประโยชน์ประเภทเดียว 

สิ่งที่เป็นผลกระทบตามมา คือ การใช้สอยจะมีความหลากหลายมากขึ้นและมีข้อกำหนดทางกฎหมายและระเบียบต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเป็นจำนวนมาก ผู้ประกอบการจะต้องพัฒนาศักยภาพและมองหาพันธมิตร/ปิยมิตรทางธุรกิจเพื่อให้การพัฒนาได้ประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ใช้งาน เพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจและใช้ชีวิต รวมถึงประหยัดเวลาและทรัพยากรในการเดินทางและพลังงานในการใช้สอย 

เทรนด์สำคัญประการสุดท้าย คือ เทรนด์การออกแบบและพัฒนาโครงการในราคาที่ผู้บริโภคสามารถจับต้องได้ (Affordable Design) ไม่ว่าเทรนด์ที่กล่าวมาข้างต้นจะได้รับการพัฒนาไปเพียงใด แต่หัวใจสำคัญของการพัฒนาโครงการคือจะต้องสร้างความสมดุลและเลือกการออกแบบและวิธีการพัฒนาโครงการในราคาที่ผู้บริโภคสามารถจับต้องได้ 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคนี้ที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มาก มีทางเลือกมากขึ้น และแสดงความเป็นตัวตนมากขึ้น หลายท่านอาจตีความว่า Affordable Design คือการทำผลิตภัณฑ์ราคาถูก แต่ในความเป็นจริงแล้ว Affordable Design เป็นการใส่ใจในรายละเอียดการออกแบบที่ส่งผลและสะท้อนคุณค่าในใจและความต้องการของผู้บริโภคไม่เพียงแต่เฉพาะก่อนซื้อแต่รวมไปถึงการใช้สอยและอยู่อาศัยทั้งคุณภาพชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นการออกแบบเชิงกายภาพ (Physical Environment) ที่คัดสรรสิ่งสำคัญต่อการอยู่อาศัยเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการดูแลและบริหารชุมชน (Community Management) เพื่อให้ได้มาซึ่งชุมชนน่าอยู่ ซึ่งผู้ประกอบการอื่นๆ ในวงการเริ่มให้ความสำคัญและพัฒนาตามแนวทางนี้เพิ่มมากขึ้น