ยืนหนึ่ง ถึงนานัปการ

ยืนหนึ่ง ถึงนานัปการ

ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ก่อน ได้มีโอกาสไปสอนหนังสือนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างจังหวัดที่เจริญและน่าอยู่แห่งหนึ่ง

เด็กๆ ราว 100 คนที่มานั่งเรียนนั้นมาจากชั้นปีที่ 2 คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ และการสื่อสาร เนื้อหาการสอนก็ว่าด้วยความรู้ความเข้าใจในศาสตร์แห่งการสื่อสาร ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ ทั้งเรื่องราวสมัยเก่าและเทรนด์สมัยใหม่

ด้วยความที่เข้าใจดีว่าการบรรยายให้กลุ่มผู้ฟังในยุคนี้ ไม่ว่าจะรุ่นราวคราวไหน ต้องใช้วรยุทธ์ทุกกระบวนท่า ที่จะตรึงความสนใจของผู้ฟังให้อยู่กับเนื้อหาเรื่องราวได้ตลอด เพราะเราต้องแข่งขันกับสิ่งที่ทรงพลังที่สุด ใกล้ชิดและมีอิทธิพลที่สุดกับมนุษย์ยุคนี้ นั่นคือ “โทรศัพท์มือถือ”

เช่นนี้แล้ว กิจกรรมที่ให้ผู้เรียนได้ทำสลับกับได้ฟัง จึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยช่วงหนึ่งของการสอน ลองให้นักศึกษาโบยบินไปสู่วัยเยาว์แบบสมัยเป็นเด็กนักเรียนชั้นประถม ลอง “เขียนตามคำบอก” กันดู ซึ่งปรากฏว่ากิจกรรมง่ายๆ นี้ สามารถสร้างความตื่นเต้นได้เป็นอย่างดี เด็กๆ บางคนที่ทำท่าจะสัปหงกคารวะในยามบ่าย ก็มีทีท่ากระปรี้กระเปร่าแอคทีฟขึ้นทันใด โดยกติกาคือให้เขียน “คำง่ายมักใช้ผิด” ตามคำบอกจำนวน 20 คำ ถ้าใครเขียนถูกทุกคำ จะมีรางวัลมอบให้

คำที่เลือกมาให้เด็กๆ ได้เขียนกันนั้น คือ 20 คำเหล่านี้ ได้แก่ เว็บไซต์ ไต้หวัน คลิก นานา โพสต์รูป ลำไย ลายเซ็น รสชาติ ซีรีส์ นานัปการ นะคะ สวัสดีค่ะ โอกาส สถิต ผัดกะเพรา ยำถั่วพู อนุญาต ดำรง จำนง ทูนหัว

ปฏิกิริยาโดยส่วนใหญ่ระหว่างที่ทำกิจกรรมนี้ จะมีเสียงหัวเราะ สลับกับพูดพึมพำ เมื่อเด็กๆ พบว่าคำบางคำที่ดูแล้วง่าย แถมคุ้นเคยเพราะอยู่ในชีวิตประจำวัน แต่พอให้เขียนจริงๆ ก็กลับมีความไม่มั่นใจ (มีกติกาว่าห้ามเปิดโทรศัพท์มือถือเพื่อค้นหาคำเขียนที่ถูกต้องเด็ดขาด) แต่คำหนึ่งที่เมื่อบอกไป ทุกคนทำท่างุนงงสงสัยถึงขีดสุด คือ คำว่า นานัปการ ซึ่งไม่ใช่เพียงไม่รู้ว่าเขียนยังไง แต่ยังไม่เข้าใจว่า “แปลว่าอะไร” เพราะคล้ายกับว่าชีวิตนี้ ไม่เคยได้ยินได้ฟังคำนี้มาก่อน

เมื่อเขียนจบครบทั้ง 20 คำ ก็มีเฉลยบนจอโปรเจคเตอร์ และ ให้เด็กๆ สลับกันตรวจกับเพื่อน ซึ่งแน่นอนว่าผลที่ได้ ใน 100 คนไม่มีใครเขียนได้ถูกต้องทั้งหมดแม้แต่คนเดียว คะแนนที่ได้อยู่ระหว่าง 11-19 หลังเฉลย ก็ได้พยายามอธิบายถึงที่มาของการเขียนคำหลายๆ คำเพื่อให้จำได้ เช่น รสชาติ นั้น ชาติ แปลว่าเกิด จึงรวมกันเป็นที่เกิดแห่งรส (ดูเข้าเค้าว่า รสชาด ที่ ชาด แปลว่าสีแดง) หรืออย่างคำมาจากภาษาต่างประเทศ ก็ควรเทียบเคียงกับคำเขียนเดิม เช่น เว็บไซต์ ในภาษาอังกฤษ คำว่าเว็บสะกดด้วยตัวบี จึงไม่ควรเขียนเป็น เว็ป แต่อย่างใด ในบรรดาคำที่เขียนผิดนั้น แน่นอนว่า คำว่า นานัปการ ขึ้นแท่นชนะเลิศ นำโด่งมาเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งเมื่อคุยเรื่องนี้กับอาจารย์ที่เป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกัน ก็จะรู้สึกว่าไม่น่าเชื่อว่าเด็กๆ จะไม่เคยรู้จักหรือได้ยินคำๆ นี้มาก่อน

เมื่อวาน ได้มีโอกาสพูดคุยกับเพื่อนสมัยมหาวิทยาลัย ซึ่งมีการศึกษา ทำการงานดี และดูท่าทีว่าเป็นคนทันสมัยไม่ใช่น้อย คุยไปคุยมาเรื่องภาษาแสลงของเด็กวัยรุ่นหรือชาวออนไลน์ ลองถามดูว่ารู้จักความหมายของคำเหล่านี้หรือเปล่า ได้แก่ ยืนหนึ่ง ปั๊วะ ปัง เงือก แกสบี้ สาย ฝ. วงวาร หัวร้อน เก้ว เปิดตี้ ตำ ซี มอย เงาะ อ้อย อิจ ติ่ง เท คำตอบที่ได้คือ

เพื่อนรู้จักคำว่า ปัง หัวร้อน ติ่ง และ เท เท่านั้น ที่เหลือไม่รู้จักเลย

คงไม่มีอะไรถูกผิด ต่างรุ่น ต่างวัย ต่างประสบการณ์และสถานการณ์ ความรู้และความไม่รู้เป็นของคู่กันเสมอ ขอเพียงเราให้เกียรติทั้งความรู้และความไม่รู้ของผู้อื่น ให้โอกาส แบ่งปันความเข้าใจ ช่องว่างระหว่างความคิดของแต่ละ Gen คงไม่เป็นประเด็นปัญหา โลกนี้กว้างใหญ่นัก และถ้าใจเรากว้างพอที่จะเข้าใจและเคารพทุกความหลากหลาย โลกคงหมุนไป ในอัตราส่วนที่กำลังพอดี ที่ทุกคนล้วนมีความสุข