โลกาภิวัฒน์ วิถีทุน โลกสมัยใหม่: ตะวันออก ตะวันตก (ตอนที่ 6)

โลกาภิวัฒน์ วิถีทุน โลกสมัยใหม่: ตะวันออก ตะวันตก (ตอนที่ 6)

ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ได้มีพัฒนาการที่สำคัญในการหาข้อมูลหรือหลักฐานเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า อาณาจักรและจักรวรรดิโรมัน

ตั้งแต่ช่วงหลายร้อยปีก่อนคริสตกาลมาจนถึง 500 ปีช่วงคริสตกาลหรือรวมเวลาเกือบพันปี เศรษฐกิจโรมันแม้จะเป็นสังคมเกษตรมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

อะไรคือหลักฐานที่มีการค้นพบและถูกนำมาใช้ ปัญหาเรื่องข้อมูลในอดีตเป็นเพราะในสมัยนั้นจะไม่มีหลักฐานทางเอกสารหรือประเภทหอจดหมายเหตุ ยกเว้นอียิปต์ซึ่งปกครองโดยโรมันจะมีเอกสารบันทึกไว้บนต้นกก อย่างไรก็ตามเอกสารทางด้านการบริหารทั้งของรัฐและเอกชนมีอยู่พอสมควร แม้จะไม่มีหลักฐานที่เขียนไว้ แต่มีสิ่งที่ตกค้างมา เช่น เครื่องมือ สิ่งของ ของนักโบราณคดีซึ่งมีวิธีการที่ทันสมัยเพื่อดูชีวิตทางเศรษฐกิจและสังคมให้ใกล้เคียงกับชีวิตจริงในสมัยโบราณได้ ซึ่งได้แก่ 1. การให้ความสำคัญกับการขุดค้นอย่างละเอียดพิถีพิถันเป็นวิทยาศาสตร์ 2. การสำรวจภาคสนามในพื้นที่ที่กว้างขึ้น 3. การวิเคราะห์มหภาคจากสิ่งที่พบ เช่น เรืออับปาง ภาชนะบนโต๊ะอาหาร เหยือก มีการใช้โบราณคดีการตั้งถิ่นฐานเพื่อดูการใช้ที่ดิน การอยู่อาศัย เป็นต้น การพบเรืออับปางในพื้นที่ต่าง ๆ ในเวลาที่ต่างกัน

การศึกษาในระยะหลังนี้เป็นการศึกษาที่เปลี่ยนจากเดิมที่ใช้คำอธิบายเชิงหรือปัจจัยด้านวัฒนธรรม มาดูผลที่เกิดขึ้นจริง ๆ ในทางเศรษฐกิจ สามารถทำให้การใช้ตัวแปลทางโบราณคดีมาแทนตัวแปรสำคัญ เช่น ประชากร การผลิต การบริโภค

หลักฐานที่ได้มาใหม่นี้ทำให้นักประวัติศาสตร์เข้าใจและเรียนรู้พบข้อเท็จจริงว่า ในเขตเมดิเตอร์เรเนียนที่ได้กล่าวมาแล้วมีอะไรที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น ประชากรที่เพิ่มขึ้นสูงมากในช่วงก่อนคริสตกาล ไม่ใช่เฉพาะเมืองหรือภูมิภาคที่เป็นศูนย์กลาง เช่น โรมันอิตาลี่ รวมทั้งพื้นที่อื่น ๆ ภายใต้จักรวรรดิโรมัน หรือเราได้เห็นการลดลงของประชากรทางโรมันฝั่งตะวันตกตั้งแต่ศตวรรษที่ 2 แห่งคริสตกาล ประชากรที่ลดลงนี้ดำรงอยู่เรื่อยมาจนถึงยุคแรก ๆ ของยุคกลาง ประชากรที่เพิ่มขึ้นมากหลายร้อยปีก่อนคริสตกาลในโรมันอิตาลี่นี้เผอิญเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นที่ยุโรปส่วนอื่น ๆ เช่น แถบ Rhineland เหมือนกับว่านี่เป็นแนวโน้มการเพิ่มขึ้นประชากรยุโรปในระยะยาว

แต่ความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่ในยุคจักรวรรดิโรมันนั้นสูงมากกว่าช่วงก่อนและหลัง ความรุ่งเรืองของจักรวรรดิโรมันนั้นนักวิชาการ เช่น Rostovtzeff (1957) เชื่อว่าความสะดวกสบาย ความสวยงาม การมีสุขพลานามัยของเมืองในยุคจักรวรรดิโรมัน ถ้าจะเป็นรองก็คงเป็นรองเมื่อเทียบกับอิตาลี่ เมืองในยุโรปหรืออเมริกาในยุคใหม่เท่านั้น ประชากรของจักรวรรดิโรมันประมาณ 60 ล้านคน (บางแห่งให้ไว้ถึง 100 ล้าน) เป็นความหนาแน่นของประชากรที่สูงมาก มากกว่านี้ก็เป็นประชากรโลกยุคใหม่เท่านั้น เพราะไม่เคยมีประชากรสูงกว่านี้ในยุคก่อนยุคสมัยใหม่ สังคมโรมันเป็นสังคมเมืองซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความเจริญในเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ขณะเดียวกันก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจและจักรวรรดิโรมันรุ่งโรจน์ ช่วงที่จักรวรรดิโรมันประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจที่สูงสุด เป็นช่วงที่สังคมนี้เป็นสังคมเมืองที่มีลักษณะเด่นมาก มีเมืองในจักรวรรดิโรมันถึงประมาณ 2,500 เมือง ซึ่งกว่า 400 เมืองอยู่ในอิตาลี่แห่งเดียว ไม่เหมือนกับสิ่งที่เราพบในโลกยุคกลาง ที่นี่จะไม่พบการแบ่งแยกทางเศรษฐกิจสังคมและทางกฎหมายระหว่างเมืองกับชนบท ชนชั้นนำเจ้าของที่ดินใช้ชีวิตอยู่ในเมืองเก็บค่าเช่าจากที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์เพื่อการเกษตรในชนบท เมืองเป็นจุดเชื่อมหรือ Nodes ในเครือข่ายของการค้าระหว่างชนบทกับเมืองในแต่ละท้องถิ่น เราจะพบว่าทุก ๆ เมืองโรมันจะมีอาคารสาธารณะของรัฐ เช่น วัด ฟอรั่มหรือสถานอาบน้ำสาธารณะ พบได้ในอังกฤษในทะเลทรายซีเรียและบอกได้ว่าเป็นอะไรที่เป็นโรมัน

เมืองโรมันไม่ใช่มีมากอย่างเดียวแต่ว่ามีขนาดใหญ่ด้วยประชากร 1-2 แสนคนหน้าจะมีอย่างน้อยครึ่งโหล เมืองใหญ่ที่โลกไม่เคยได้เห็นประชากร 2-5 แสนหรือรวม ๆ กันแล้วก็ขนาด 1 ล้าน เช่น Alexandria Carthage Antioch เชื่อกันว่าช่วง 2-3 ร้อยปีก่อนคริสตกาล โดยเฉพาะช่วงจักรพรรดิ Augustus มีประชากรระดับล้านแล้ว ระดับนี้คือระดับของกรุงลอนดอนในปี ค.ศ. 1800 หรือยุคของจีนในราชวงศ์ซ่ง คนส่วนใหญ่ที่เป็นคนเมืองอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ ๆ มากกว่าที่พบในช่วงยุคกลางหรือยุโรปยุคใหม่ช่วงแรก ๆ และเพราะความเป็นเมืองของโรมันนี้แหละ เราจึงพบตลาดที่ทันสมัยสำหรับสินค้าและบริการที่มีลักษณะเฉพาะในสินค้าอุตสาหกรรม การก่อสร้าง บริการทางการเงิน บริการอาหาร ซึ่งทำให้เกิดการแบ่งแยกการใช้แรงงานที่มีทักษะระดับสูงจำนวนมาก ชนชั้นนำมีกำลังซื้อสูง จักรวรรดิโรมันมีระบบเงินตรา ระบบเหรียญและแม้กระทั่งระบบธนาคาร ระบบการเงินที่ก้าวหน้า เป็นส่วนหนึ่งของการเชื่อมโยง ยึดโยงภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนให้เป็นฮับสำคัญสำหรับการขนส่งทางทะเลต้นทุนต่ำ ในช่วงศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาลเมื่อโรมคือมหาอำนาจในแถบเมดิเตอร์เรเนียน เริ่มต้นจากทางตะวันตกและต่อมาทางตะวันออกคือธุรกิจการเดินเรือรุ่งเรืองมากเห็นได้จากเรือที่อับปาง การค้ากับอินเดียเติบโตขยายตัว แม่น้ำไรน์และแม่น้ำอื่น ๆ ในฝรั่งเศสเชื่อมเศรษฐกิจเมดิเตอร์เรเนียนกับอังกฤษและยุโรปฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือ โรมมันมีโครงข่ายถนนอย่างดี รวมทั้งสะพานและอุโมงค์ ทั้งหมดนี้ประกอบกันเป็นภาพใหญ่ของเศรษฐกิจโลกที่สินค้าบริการและเทคโนโลยีสามารถเคลื่อนย้ายในระยะทางไกล

ในช่วงปลายคริสตวรรษที่ 2 ซึ่งเป็นยุคทอง จักรวรรดิโรมันหยุดยั้งการลดลงของผลิตภาพแรงงานซึ่งเกิดจากแรงกดดันของประชากรที่เพิ่มขึ้นอันจะทำให้เป็นกับดักของความเจริญเติบโต Malthusian ในระยะยาว โดยใช้เทคโนโลยีและที่ดินเพื่อเพิ่มแคลอรี่ต่อพื้นที่ (ประมาณ 5 เท่า) ด้วยการเพิ่มการผลิตองุ่น เหล้าองุ่น มะกอกและน้ำมันมะกอกแทนธัญพืชซึ่งเป็นวิธีคิดที่ชาญฉลาด ทำให้จักรวรรดิโรมันสามารถรองรับประชากรได้มากขึ้น

อะไรทำให้ความเจริญเติบโตของโรมันไปต่อไม่ได้ต้องหยุดชะงัก มีคำอธิบายมากมายเกี่ยวกับการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตั้งแต่เรื่องการขยายใหญ่จนเกินตัว วิกฤตเศรษฐกิจ การเข้ามารุกรานของบาเบเรี่ยน ความอ่อนแอทางทหาร หนึ่งในความเชื่อมีอยู่ว่าสันติสุขความเจริญรุ่งเรืองของจักรวรรดิโรมันที่ดำรงอยู่ได้เป็นเวลายาวนานนั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าจักรวรรดิมีขันติธรรมหรือ Tolerance ต่อทุก ๆ พื้นที่หรือคนที่โรมไปปกครอง ความยิ่งใหญ่ของโรมันทั้งทางด้านอารยธรรม เทคโนโลยี การทหาร กฎหมายล้วนเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดให้ผู้ถูกปกครองที่ได้รับการปฏิบัติเหมือนเป็นพลเมือง ศรัทธา และจงรักภักดีต่อโรม เมื่อขันติธรรมเหล่านี้หมดไปในเวลาต่อมา โดยเฉพาะที่มีต่อชาวยิวหรือผู้นับถือศาสนาคริสเตียน เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดจุดเสื่อม

ระบบโรมันดูเหมือนจะค่อย ๆ เข้าสู่ยุคเสื่อมในช่วงปลายคริสตวรรษที่ 2 เมื่อกาฬโรค Antonine ทำลายประชากรซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการปกครองแบบกดขี่และความวุ่นวายทางทหาร เช่น สงครามกลางเมือง ในที่สุดจักรวรรดิโรมันตะวันตกก็ถึงจุดจบ แม้ว่าทางตะวันออกยังสามารถฟื้นตัวและเจริญรุ่งเรืองต่อไปได้ อย่างน้อยถึงช่วงศตวรรษที่ 6 แห่งคริสตกาล กาฬโรคทำให้ผลิตภาพและรายได้ของแรงงานลดลงมาก เศรษฐกิจถดถอยรวมทั้งระดับของความเป็นเมือง ชนชั้นนำจำนวนมากมุ่งสู่ชนบท การค้าทางไกลถูกกระทบ

รายได้และความมั่งคั่งกระจุกตัว ความแตกต่างระหว่างสถานะภาพของการเป็นพลเมืองกับชนชั้นอื่น บั่นทอนเสถียรภาพและความเจริญ จนในที่สุดจักรวรรดิโรมันไม่สามารถรักษาดุลยภาพรายได้ระดับสูงไว้ได้ต่อไป