องค์กรแรงงาน(LPN)เปิดรับฟัง นวัตกรรมสร้างความเท่าเทียมมนุษย์

องค์กรแรงงาน(LPN)เปิดรับฟัง นวัตกรรมสร้างความเท่าเทียมมนุษย์

กว่า 10 ปี ของการเกาะติดพื้นที่ กับงานเชิงปฏิบัติการและขับเคลื่อนนโยบายแรงงานในระดับประเทศและเชื่อมกับนานาชาติ

ทั้งที่เป็นผู้ผลิต ผู้ซื้อ ผู้บริโภค ของมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน(Labour right Promotion Network foundation : LPN) องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ที่มีเจตนารมณ์แน่วแน่ในการแก้ปัญหารากเหง้าให้กับแรงงานข้ามชาติและแรงงานไทย ที่ประสบกับทุกข์ยาก จากการถูกละเมิดสิทธิ์ ไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครอง ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือถูกบังคับค้ามนุษย์ด้านแรงงาน โดยเฉพาะในกิจการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมประมงและที่ต่อเนื่องจากการประมง เป็นต้น

ดังนั้น การทำงานขององค์กร จึงต้องจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือทางสังคมแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย (MUNT)และเกิดกลไกกลุ่มสหภาพลูกเรือประมงไทยและข้ามชาติ (TMFG) เพื่อให้ทำงานฝยภาคการประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง หรือ The Multi stakeholder initiative for Accountable Supply Chain of Thai Fisheries (MAST) สามารถบรรลุภาระกิจการป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ โดยร่วมกับทุกภาคส่วนและในระดับนานาชาติ ซึ่งนัยยะสำคัญ จะส่งผลให้ผู้บริโภคในสหรัฐและสหภาพยุโรปมีความมั่นใจ มีความตระหนักและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย

นวัตกรรมการแก้ไขปัญหาหนึ่ง คือ การดำเนินโครงการ Labour Voices และ Workers Training ร่วมกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ บริษัทดำเนินธุรกิจด้านเกษตรกรรมและอาหารชั้นนำของไทย ในการสร้างความตระหนักรับรู้ แรงงานมีความเข้าใจถึงสิทธิของตนเอง และ ได้รับการปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงาน มีระบบการร้องเรียนที่ทำให้พี่น้องแรงงานสามารถสื่อสารได้อย่างเต็มที่ และเกิดเป็นธรรม

ระบบรับฟังเรื่องร้องเรียนจากพนักงาน เป็นกลไกที่มีส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างความเท่าเทียมและเสมอภาคให้กับพนักงานทุกคนทุกระดับชั้น นอกเหนือจาก การให้ค่าตอบแทนและสวัสดิการที่เหมาะสม ความเท่าเทียมและสิทธิขั้นพื้นฐาน การเติบโตในหน้าที่การงาน การสร้างสถานที่ทำงานที่ปลอดภัย เป็นต้น

ในสถานการณ์ที่ภาคการผลิตของไทยต้องพึ่งพาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น มีผลให้ระบบการรับฟังเรื่องร้องเรียนของพนักงานในรูปแบบเดิมอาจจะไม่เป็นที่ไว้วางใจให้แก่แรงงานที่มาจากต่างประเทศ และมีความแตกต่างเรื่องภาษา จึงเกิด ระบบรับฟังเรื่องร้องเรียนและคำแนะนำของพนักงาน ผ่าน องค์กรภายนอก หรือ องค์กรกลาง ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่าง แรงงาน กับ องค์กรผู้เป็นนายจ้าง เพื่อให้เสียงของแรงงานสร้างประโยชน์ให้กับทั้งตัวแรงงาน และผู้ประกอบการที่เป็นนายจ้าง

ปี 2560 ที่ผ่านมา ซีพีเอฟ ได้ลงนามความร่วมมือกับมูลนิธิ LPN จัดตั้งศูนย์รับฟังเสียงพนักงาน “Labour Voice by LPN” ขึ้นทำหน้าที่ เป็นตัวกลางรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และข้อร้องเรียนจากพนักงานของซีพีเอฟ ดำเนินการด้วยเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิที่พูดคุยด้วยภาษาของแรงงาน บนพื้นฐานของการส่งเสริมสิทธิในการสื่อสารตามหลักสิทธิมนุษชน ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้พูดและแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี สร้างการมีส่วนร่วมให้พนักงานระดับคนงานของซีพีเอฟที่มีความหลากหลายเรื่องชนชาติ และภาษา ได้แสดงออกอย่างเท่าเทียม

จากการทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมพี่น้องแรงงานทั้งคนไทยและแรงงานข้ามชาติของ LPN ช่วยให้แรงงานสะดวกใจที่จะบอกกล่าวเรื่องราวต่างๆ และช่วยให้ผู้บริหารของซีพีเอฟได้รับทราบปัญหาด้านแรงงานได้อย่างรวดเร็ว และสามารถเข้าไปจัดการได้อย่างทันท่วงที พร้อมกับดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทั้งการสร้างการรับรู้ให้แรงงานของซีพีเอฟได้เข้ามาใช้ช่องทางในการรับฟังเสียงร้องเรียนอย่างกว้างขวาง

ขณะเดียวกัน LPN ยังเพิ่มความเข้มแข็งให้กับแรงงาน ด้วยจัดการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและสิทธิและประเด็นด้านแรงงานที่แรงงานควรรู้ แก่แรงงานคนไทย และแรงงานข้ามชาติที่มาทำงานในโรงงานและสถานประกอบการของซีพีเอฟทั่วประเทศ พร้อมกับ เปิดช่องทางการสื่อสารระหว่างแรงงานกับองค์กรหลายช่องทางอาทิเช่น ผ่าน Facebook Page ออนไลน์ เป็นภาษาของตนเอง ทำให้พี่น้องแรงงานได้รับข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัย อยู่ตลอดเวลา

สำหรับโครงการความร่วมมือในปีที่ 2 นี้ มูลนิธิ LPN จะเพิ่มเติมการดำเนินกิจกรรมเจาะลึกกับพี่น้องแรงงานใกล้ชิดมากขึ้น เช่น การเยี่ยมที่พักและพูดคุยกับแรงงาน การสนทนากลุ่มย่อย การสัมภาษณ์เชิงลึก ควบคู่กับการใช้สื่อโซเชียลในการสื่อสารกับพี่น้องแรงงานข้ามชาติหลายช่องทาง เพื่อให้ทราบถึงปัจจัยและปัญหาก่อนแรงงานก่อนเดินทางมาทำงานต่างประเทศ แบบแผนการดำเนินชีวิตในประเทศไทย เพื่อที่จะนำมาปรับปรุงการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ ได้ดำรงชีวิตและทำงานในประเทศอย่างมีความสุข และเดินทางกลับประเทศตนเองได้อย่างสบายใจ

LPN มีความเชื่อมั่นว่าการร่วมมือกับองค์กรภาคธุรกิจนี้จะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตแรงงาน การย้ายถิ่นที่ปลอดภัย การสร้างมาตรฐานแรงงาน ที่เป็นการยอมรับในระดับสากล และพร้อมมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับ ภาคธุรกิจอื่นๆที่มีความสนใจ./

 

โดย... 

สมพงค์ สระแก้ว

ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม