แนวทางการแก้ปัญหาความยากจน (1)

แนวทางการแก้ปัญหาความยากจน (1)

การเลือกตั้งปีนี้ดูจะคึกคักเป็นพิเศษ เกือบทุกพรรคการเมืองชูนโยบายช่วยคนจน ลดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ เป็นนโยบายสำคัญ

ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีครับ แม้จะมีความแตกต่างกันพอสมควรทั้งรูปแบบและเม็ดเงิน ตั้งแต่สุดโต่งแบบการแจกเงินโดยไม่มีเงื่อนไข ไปจนสุดอีกด้านหนึ่งคือคัดกรองคนก่อนแล้วให้ตามความจำเป็นและมีเงื่อนไขกำกับ สิ่งที่ผมเขียนรอบนี้ขอแบ่งเป็น 2 ตอน ตอนแรกจะเอาข้อมูลมากางดูก่อน ตอนหน้าจะลองเสนอแนวคิดในการแก้จนในมุมมองของผมดูครับ

ประการแรก จำนวนคนจนแบบสุ่มสำรวจลดลงทุกปี : ข้อมูลล่าสุดของสภาพัฒน์ฯ พบว่า จำนวนคนจนจากการสุ่มสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติจำนวน 52,000 ครัวเรือน ลดลงอย่างต่อเนื่อง คือ ปี 2560 มีจำนวนคนจน (คนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน 2,686 บาทต่อเดือน) อยู่ประมาณ 5.3 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 7.9% ของจำนวนประชากรทั้งหมด เทียบกับปี 2531 ที่มีจำนวนสูงถึง 34.1 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 65.2% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ดูเผินๆ เหมือนจะดี หลายคนนั่งเฉยให้เทรนด์หลอก แต่ข้อสังเกต คือ 1) จำนวนการสุ่มสำรวจเพียง 52,000 ครัวเรือน จาก 24 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ (ประมาณ 0.2% เท่านั้น) เพียงพอที่จะเป็นตัวแทนทั้งประเทศได้หรือไม่ ผมคิดว่าในทางวิชาสถิติอาจจะได้ แต่ในโลกความเป็นจริงควรจะเพิ่มมากกว่านี้หรือไม่ 2) เส้นความยากจนต่ำกว่าที่ควรจะเป็นหรือไม่ มีผลทำให้คนอยู่ใต้เส้นนี้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น นักวิชาการหลายคนหรือแม้แต่ IMF ก็เคยยกมือถาม ตอนนี้ก็เริ่มมีแนวคิดเส้นมาตรฐานรายได้ขั้นต่ำออกมาแล้ว 3) มีการตรวจสอบรายได้และรายจ่ายหลังจากสำรวจหรือไม่อย่างไร จดบันทึกข้อมูลเป็นรายคนไว้หรือไม่ และ 4) ผมมองว่าหากจดบันทึกข้อมูลไว้เป็นบุคคลน่าจะเป็นคุณต่อการทำนโยบาย เพราะปีหน้าไปสำรวจเราจะได้ทราบว่า ผ่านมา 1 ปี เขาจนลงหรือรวยขึ้นอย่างไร

ประการที่ ความยากจนยังเรื้อรังในจังหวัดเดิมๆ : เมื่อดูความยากจนเป็นรายจังหวัด เราจะพบความจริงว่า ในช่วง 10 ปีหลัง 10 อันดับแรกของจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนอยู่เยอะ ยังเป็นจังหวัดหน้าเดิมๆ เช่น จ.แม่ฮ่องสอน ปัตตานี นราธิวาส กาฬสินธุ์ นครพนม ตาก หรือจ.บุรีรัมย์ เป็นต้น แม้ส่วนใหญ่จะมีสัดส่วนคนจนต่อประชากรของจังหวัดลดลง แต่ก็ไปกองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะจนอยู่ดี 

สิ่งที่น่าศึกษา คือ 1) ทำไมจังหวัดดังกล่าวจึงมีคนจนอยู่มาก สาเหตุของความยากจนคืออะไร เงิน งาน การศึกษา โครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อ ปัจจัย 4 ไม่ครบ หรือโอกาสการเข้าถึงเรื่องต่างๆ น้อยเกินไป ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละจังหวัดคงมีสาเหตุต่างกัน 2) จังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนน้อย เขามีอะไรดี เขามีอะไรที่จังหวัดคนจนเยอะไม่มีบ้าง และ 3) ถ้าจะยกระดับการพัฒนาเพื่อให้เขารวยขึ้น สัดส่วนคนจนลดลง เขาต้องเค้นศักยภาพด้านไหนออกมา เพราะแต่ละพื้นที่คงมีศักยภาพไม่เหมือนกัน กลไกในการกระจายรายได้ที่มีประสิทธิภาพเป็นอย่างไร

ประการที่ ความเหลื่อมล้ำภาพรวมดีขึ้นไม่มากนัก แต่พอแยกกลุ่มจะเริ่มเห็นปัญหาชัดขึ้น : ต้องยอมรับว่าความเหลื่อมล้ำเป็นสิ่งที่แก้ยากเพราะเป็นเครื่องชี้เชิงเปรียบเทียบระหว่างคนรวยสุด 10% และคนจนสุด 10% ช่วยคนจนเท่าไร รายได้ก็ไล่ไม่ทันคนรวยอยู่ดี (เป็นปัญหาโลกแตกครับ) จากข้อมูลพบว่า ในปี 2560 คนรวยและคนจนมีรายได้ต่างกัน 19 เท่า ในขณะที่ปี 2531 ต่างกัน 21 เท่า จะเห็นว่า 30 ปีให้หลัง ความแตกต่างนี้ไม่ได้ดีขึ้นเท่าไร พอมาดูเป็นกลุ่มคนก็จะเห็นความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส เช่น ผู้พิการ ปัจจุบันมีผู้พิการที่ได้รับเบี้ยผู้พิการเกือบ 1.5 ล้านคน โดยผู้พิการที่ยากจนได้รับเบี้ยสัดส่วน 73.84% แต่ก็ยังมีผู้พิการที่ไม่ยากจนได้รับเบี้ยสูงถึง 64.91% อีกตัวอย่างหนึ่งคือ เบี้ยเด็กแรกเกิด จำนวนแม่ที่รับสิทธิ์อยู่ที่ 5.7 แสนคน ในจำนวนนี้อยู่ใต้เส้นความยากจนประมาณ 4.3 แสนคน (ทั้งที่มาลงทะเบียนกับกระทรวงการคลังและไม่ได้มาลง) แปลว่า 1 แสนกว่าคนที่เหลืออาจจะไม่จนก็ได้แต่ก็ยังได้รับเบี้ย 

สิ่งที่ต้องช่วยกันหาคำตอบ คือ 1) ถ้าเขาไม่จน ยังจะให้เบี้ยต่อไปหรือไม่ 2) อะไรเป็นสาเหตุให้รายได้ของคนจนเติบโตช้ากว่าคนรวย เป็นเพราะเขาเป็นเกษตรกรหรือไม่ ระดับการศึกษาไม่สูงเท่าคนรวยหรือไม่ สูงอายุแล้วใช่หรือไม่ 3) ถ้าเป็นเช่นนั้น เอาทักษะความชำนาญเฉพาะด้านไปทดแทนได้ไหม และ 4) การกระจายความเจริญออกไปจะช่วยได้มากน้อยเพียงใด เอื้อต่อการยกระดับหรือไม่

ครั้งต่อไปจะลองเสนอแนวคิดในการลดจำนวนคนจนดูครับ

โดย...  พงศ์นคร โภชากรณ์