อย่ารับผู้จัดการ... แต่ต้องสรรหา “Coach!”

อย่ารับผู้จัดการ... แต่ต้องสรรหา “Coach!”

ผู้จัดการที่ทำหน้าที่ ผู้จัดการอย่างที่เป็นกันอยู่จำนวนไม่น้อยในทุกวันนี้คือ เป็น “ผู้จัดการแก้ปัญหารายวัน!” 

โดยที่แต่ละวันแทบไม่มีเวลาพักไม่มีเวลาคิด เพราะยุ่งตลอดทั้งวัน ยุ่งกับการประชุม ยุ่งกับงานจุกจิกหยุมหยิมยุ่งกับการตามแก้ปัญหารายวันที่มีมาให้แก้ได้ทุกวัน

ลองหยุดคิดตรงนี้สักนิด....

ปัญหารายวันที่เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน เป็นเพราะไม่มีเวลาคิดเตรียมที่จะป้องกัน...

หรือเป็นเพราะไม่ได้ฝึกให้ลูกน้องคิดไม่ได้ฝึกให้ลูกน้องมีความสามารถพอที่จะทำงานโดยให้เกิดปัญหาน้อยที่สุด หรือไม่ได้คิดที่จะฝึกให้ลูกน้องแก้ปัญหาหรือยังคงเข้าใจผิดถึงทุกวันนี้ว่า.. ผู้จัดการมีหน้าที่หลักคือ... ผู้ตามแก้ปัญหารายวัน!?

ด้วยข้ออ้างคลาสสิกว่า ผู้จัดการยุ่งเพราะงานเยอะ (แต่ข้อเท็จจริงคือวางแผนไม่เก่ง บริหารจัดการงานและบริหารจัดการคนไม่เก่งทุกอย่างเลยวิ่งมารวมเป็นคอขวดที่ผู้จัดการ!?)

แต่ที่หนักกว่านั้น บางคนยังเป็น ผู้จัดการที่สร้างปัญหาแทบทุกวัน! (โดยไม่รู้ตัว) ด้วยการบริหารแบบไม่มีทิศทาง ด้วยการสื่อสารที่ไม่ชัดเจนด้วยการสื่อสารทางลบกับลูกน้องทุกๆวัน!

เมื่อผู้จัดการ ไม่ได้ทำหน้าที่ผู้จัดการที่แท้จริงและไม่ได้เป็น Coach ให้กับลูกน้อง ปัญหาที่เกิดคือ ผู้จัดการ ไม่ได้สร้างมูลค่าในเรื่องงานเพราะเวลาหมดไปกับการแก้ปัญหารายวันที่ไม่ได้ช่วยเพิ่มมูลค่าแต่เอาหน้ารอดไปวันๆ!

ไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มในเรื่องทีมงาน และทำลายมูลค่าของทีมงานลงทุกๆวัน เพราะวุ่นวายกับ งานประจำวันไปวันๆ! เพราะไม่มีเวลาพัฒนาไม่มีเวลา Coaching ทีมงานและถ้าเกิดทีมงานมีปัญหาเรื่องทัศนคติลบกับงานสะสม...จะเกิดอะไรขึ้น!?

ถ้า CEO ได้ลองสละเวลาแล้วเรียกผู้จัดการมาพูดคุยแล้วลองตั้งคำถามแค่ 2 ข้อดังนี้

1.งานที่สร้างมูลค่าให้กับหน่วยงานในปัจจุบันที่ผู้จัดการคิด/วางแผน/บริหารจัดการ มีอะไรบ้าง?

2.ผู้จัดการ ใช้เวลาในการพัฒนาทีมงานอย่างไรในปัจจุบันแล้วลองฟังคำตอบจากผู้จัดการแต่ละคนดูครับ คำตอบที่ CEO ได้รับจากผู้จัดการ อาจทำให้ CEO จำนวนไม่น้อย เกิดอาการ หน้ามืด วิงเวียน บ้านหมุนคล้ายจะเป็นลมจนต้องรีบให้แม่บ้านชงยาลมหรือเอายาหม่องน้ำมาให้ดมอย่างปัจจุบันทันด่วนทันที!

เพราะคำตอบจากผู้จัดการหลายๆท่านจะไม่สามารถตอบคำถามแรกได้ด้วยซ้ำ เนื่องจากยังแยกไม่ออกว่า งานที่ผู้จัดการทำในปัจจุบัน อะไรคืองานที่มีมูลค่าที่ควรทำและอะไรคืองานที่ไร้มูลค่า (ที่ยังทำอยู่ทุกวันนี้โดยไม่รู้ตัว!)

ยิ่งถ้าได้ฟังคำตอบข้อที่สอง ก็ยิ่งมึน เพราะอาจได้รับคำตอบว่าวิธีการพัฒนาทีมงานคือ ส่งไปอบรม หรือจัดอบรมภายในปีละไม่กี่ครั้งแล้วเข้าใจว่า นี่คือวิธีการพัฒนาทีมงาน (เพียงวิธีเดียว!) โดยที่ ผู้จัดการ “ไม่เคยมีเวลา” หรือ “ไม่รู้วิธี” ที่จะพัฒนาทีมงานในเรื่องการ Coaching เลย!

(ถ้าอยากรู้ว่าจริงหรือไม่?... ขออนุญาตแนะนำให้ CEO ลองเรียกผู้จัดการหลายๆท่านมาคุยทีละคนดูสิครับ อย่าลืมเตรียมยาดมยาลมไว้ด้วยนะครับ!)

หลังจาก ได้รับคำตอบและดมยาดมให้สติกลับคืนมาแล้ว ทีนี้ CEO ลองเปลี่ยนคำถามใหม่ กับบรรดาผู้จัดการว่า “ทำอย่างไร ผู้จัดการจะเป็น Coach ให้กับทีมงาน เพื่อพัฒนาทีมงานให้มีศักยภาพสูงขึ้น และช่วยให้หน่วยงานบรรลุเป้าหมาย?”

คำถามนี้ จะช่วยให้ ผู้จัดการได้คิด ว่าถ้าเป็น Coach ให้กับทีมงานแล้วจะช่วยทุกฝ่ายได้อย่างไรบ้าง? เช่น เมื่อผู้จัดการเป็น Coach ก็จะมุ่งเน้นไปที่การ ซ่อม/ สร้าง/เสริมทีมงานให้เก่งขึ้น มีศักยภาพสูงขึ้น

เมื่อลูกน้องเก่งขึ้น โอกาสที่ลูกน้องจะสร้างปัญหาก็น้อยลงและลูกน้องที่เก่งยังแก้ปัญหาได้เองเป็นจำนวนมากโดยไม่ต้องให้ผู้จัดการมาตามแก้ปัญหาให้ทุกเรื่อง และเมื่อผู้จัดการเป็น Coach ที่เก่งขึ้น ก็จะสามารถสร้าง มือรองที่ช่วยแบ่งเบาภาระงานของผู้จัดการได้มากกว่าที่คิดเพื่อให้ผู้จัดการได้มีเวลาไปคิด วางแผนบริหารจัดการที่เป็นหน้าที่หลักจริงๆ และสร้างผลงานที่มีมูลค่าให้กับหน่วยงานได้อย่างชัดเจน (ซะที!)

เพราะฉะนั้น ประโยคสุดท้ายที่ CEO ควรจะย้ำกับผู้จัดการก็คือ..

"ผมให้เวลาคุณ 3 เดือน เลิกเป็นผู้จัดการ.. แล้วเริ่มเป็น "Coach!"

(ส่วนจะทิ้งท้ายว่า “ถ้าคุณทำไม่ได้ผมจะหาผู้จัดการที่เป็น Coach เก่งๆ มาทำหน้าที่แทน!” ก็แล้วแต่ความสมัครใจของ CEO ที่จะถามทิ้งท้ายหรือไม่ครับ!)