'เอลนีโญ' ก่อตัวครั้งนี้จะเป็น 'วิกฤต'หรือ'โอกาส' รัฐบาลใหม่

'เอลนีโญ' ก่อตัวครั้งนี้จะเป็น 'วิกฤต'หรือ'โอกาส' รัฐบาลใหม่

ปัญหาปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อภาคการเกษตรจึงเป็นโจทย์สำคัญที่รัฐบาลใหม่

ปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) หรือ โดยสรุปง่ายๆ ก็คือปรากฏการณ์ที่ส่งผลให้อากาศร้อนกว่าปกติ และปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปกติ ซึ่งผลที่ตามที่มาก็คือ 'ภัยแล้ง' โดยครั้งล่าสุดที่เราเผชิญปรากฏการณ์เอลนีโญคือปี 2558-59 ส่งผลให้เกิดภัยแล้งครั้งรุนแรง ปริมาณกักเก็บน้ำในเขื่อนหลักๆของไทยลดลงสู่ระดับที่ต่ำกว่าสถานการณ์ปกติ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่เพียงแค่ประเทศไทย ล่าสุดจากข้อมูลการพยากรณ์ของ หน่วยงานที่สหรัฐฯ (Climate Prediction Center) และ ออสเตรเลีย (Bureau of Meteorology) ชี้ให้เห็นว่าตัวแบบในการพยากรณ์ต่างๆเริ่มส่งสัญญาณโอกาสที่จะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญในปี 2562 นี้ โดย Climate Prediction Center ของสหรัฐฯ ระบุว่าโอกาสเกิดปรากฏการณ์ เอลนีโญ ระดับอ่อน (Weak El Niño) ราว 80% (พยากรณ์วันที่ 18 มี.ค.62) และ รายงานจาก Bureau of Meteorology ของออสเตรเลียระบุตรงกันว่ามีโอกาสเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญในปีนี้ราว 70% ดังนั้นสำหรับประเทศที่รายได้ของประชาชนส่วนใหญ่ยังมาจากภาคเกษตรกรรม เช่น ประเทศไทย ภัยแล้งจึงเป็นปัญหาสำคัญที่อาจจะกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมได้ เนื่องจากปริมาณพืชผลทางการเกษตรและปศุสัตว์จะได้รับผลกระทบ 

อย่างไรก็ดีในวิกฤตยังมีโอกาส แม้ภัยแล้งจะเป็นปัญหาที่สื่อต่างๆมักจะหยิบยกมาเป็นประเด็นโดยเฉพาะด้านลบ แต่จากการศึกษาข้อมูลเชิงเศรษฐมิติโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF (Cashin P et al., 2015, Fair Weather or Foul? The Macroeconomic Effects of El Niño, IMF Working paper) พบประเด็นที่น่าสนใจ ซึ่งตรงข้ามกับความรู้สึกโดยทั่วไปที่มีต่อปรากฏการณ์ El Niño โดย พบว่า GDP ของไทยหลังจากเกิดปรากฏการณ์ El Niño จะกลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 4 ไตรมาสติดๆ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยผมประเมินว่าน่าจะเป็นผลจาก ราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นและส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อตามมา (ซึ่งมีผลมากกว่าปริมาณผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลงจากภัยแล้ง) ทำให้กำลังซื้อของประชาชนโดยรวมเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดีไทยเป็นเพียงประเทศส่วนน้อยจากผลการศึกษาของ IMF ว่าจะได้รับอานิสงส์จากปรากฏการณ์ El Niño (ประเทศที่ได้รับอานิสงส์นอกจากไทย ได้แก่ สหรัฐฯ, ยุโรป, และจีน เป็นต้น / ประเทศได้รับผลเสียได้แก่ ออสเตรเลีย, ชิลี, อินโดนีเซีย, อินเดีย, ญี่ปุ่น, นิวซีแลนด์, และแอฟริกาใต้ เป็นต้น) 

ดังนั้นผมจึงประเมินว่าในปี 2562 นี้เอง หากภาครัฐฯสามารถบริหารจัดการน้ำได้เป็นอย่างดี น่าจะทำให้เกษตรกรไทยได้รับอานิสงส์จากปรากฏการณ์ El Niño อย่างเต็มที่ และจะเป็นบวกต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย ดังที่ IMF ได้ทำการศึกษาข้อมูลในอดีต หากเข้าไปดูข้อมูลปริมาณกักเก็บน้ำของเขื่อนสำคัญๆต่างๆของแต่ละภูมิภาค จะเห็นได้ว่า i) ภูมิภาคที่มีปริมาณน้ำกักเก็บในเขื่อนสูงกว่าปี 2558-59 ได้แก่ เขื่อนที่ภาคเหนือ เช่น ภูมิพล และ สิริกิติ์, เขื่อนภาคใต้ เช่น เขื่อนแก่งกระจาน และเขื่อนรัชชประภา, เขื่อนภาคตะวันออก เช่น เขื่อนบางพระ และ เขื่อนบางสียัด, และเขื่อนภาคตะวันตก เช่น เขื่อนศรีนครินทร์  ii) ภูมิภาคที่มีปริมาณน้ำกักเก็บในเขื่อนน้อยกว่าปี 2558-59 ได้แก่ เขื่อนภาคกลาง เช่น เขื่อนป่าสักฯ และiii) ภูมิภาคที่มีปริมาณน้ำกักเก็บในเขื่อนใกล้เคียงกับปี 2558-59 ได้แก่ เขื่อนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ และ เขื่อนสิรินธร จะเห็นได้ว่าบางพื้นที่ อาจใช้โอกาสที่จะเกิดปรากฏการณ์ El Niño ตักตวงผลประโยชน์จากราคาสินค้าเกษตรที่จะสูงขึ้นได้ แต่บางพื้นที่อาจมีปัญหาปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อภาคการเกษตรก็เป็นได้ จึงเป็นโจทย์สำคัญที่รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค.นี้จะต้องเข้ามาบริหารจัดการ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยได้รับประโยชน์สูงสุด หลังจากที่ฟ้าฝน (อาจจะ) กำลังเป็นใจ ให้กับประเทศไทยเราในปีนี้แล้ว 

กลับมาที่ภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นไทย หลังจากที่นโยบายการเงินของสหรัฐฯและประเทศอื่นๆ เริ่มผ่อนคลายมากขึ้น เพื่อเป็นการลดโอกาส หรือ ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกอาจจะชะลอตัว และเข้าสู่ภาวะถดภอยในอนาคตได้ ทำให้ภาพรวมตลาดทุนทั่วโลกเริ่มผ่อนคลายลงบ้าง และสำหรับประเทศไทยเองการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.นี้ น่าจะเป็นอีเว้นท์ปลดล๊อกปัญหาการเมืองของไทย นอกจากนี้หากการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย น่าจะทำให้ดัชนี SET index ปรับตัวขึ้นได้ แต่สำหรับการลงทุนระยะกลาง-ยาว (6 เดือน-1 ปีขึ้นไป) อาจจะต้องให้ความใส่ใจเรื่องของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น หลังจากที่เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ ยังบ่งชี้โอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอีก 12 เดือนข้างหน้า เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ