อัพเดทเทรนด์น่าสนใจ งาน eTail Asia 2019

อัพเดทเทรนด์น่าสนใจ งาน eTail Asia 2019

ธุรกิจค้าปลีก จะเริ่มนำเทคโนโลยีเสมือนจริงเข้ามาใช้มากขึ้น

ผมมีโอกาสไปร่วมงาน eTail Asia 2019 ที่ประเทศสิงคโปร์ และเป็นหนึ่งใน Speaker ของงาน เป็นโอกาสออกไปอัพเดทตัวเองเพราะถ้าอยู่แต่ในประเทศ เราจะไม่ได้เห็นเทรนด์ประเทศอื่นๆ สองวันที่เข้าร่วมงานได้นั่งฟังข้อมูลว่า วงการค้าปลีกในอาเซียนโดยเฉพาะออนไลน์ตอนนี้เป็นอย่างไร จึงอยากสรุปให้ทุกท่านได้ทราบกัน

1.แนวโน้มอีคอมเมิร์ซ ทั้งในอาเซียนและในระดับโลก ตอนนี้มีการพูดถึงอีคอมเมิร์ซของจีนมากขึ้น เพราะโมเดลอีคอมเมิร์ซของจีนเติบโตรวดเร็วมาก กลายเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่บรรดาแบรนด์ต่างๆ กระโดดเข้าไปขายของ

2.Advertising Technology หรือเทคโนโลยีการทำโฆษณาที่ตอนนี้เก่งขึ้นมาก เข้าใจลูกค้าได้ดีมากขึ้น สามารถฟัง ติดตามหรือเกาะติดลูกค้าได้อย่างดี มีเครื่องมือใหม่ๆ ออกมาใช้กันมาก เช่น เวลาที่ลูกค้าเข้ามาหน้าเว็บ หรือมาเสิร์ชสินค้า จะมีการจดจำลูกค้าคนนี้ไว้และตามติดลูกค้าคนนี้ไปเรื่อยๆ

ขณะที่ปีนี้ ที่ทุกคนพูดเหมือนกัน คือ เรื่องดาต้า อีคอมเมิร์ซกับดาต้ามาคู่กันแล้วครับ ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซเริ่มเปิดยูนิตทำเรื่องดาต้า ทำงานร่วมกับแบรนด์ เช่น JD.com ที่จีนจับมือกับ BNG ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าอุปโภคบริโภคร่วมวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าว่า มีพฤติกรรมอย่างไรบ้าง ทาร์เก็ตกลุ่มไหน ลูกค้าเป็นอย่างไร

อีกอันที่เห็น คือ การใช้ แมชชีน เลิร์นนิ่ง อันนี้เป็นเคสการท่องเที่ยวออสเตรเลียที่จับมือกับ JD.com ในการเอาพฤติกรรมคนจีนมาวิเคราะห์ดูว่าคนจีนคนไหนมีแนวโน้มไปเที่ยวออสเตรเลีย จะเห็นว่าทุกคนเริ่มใช้ แมชชีน เลิร์นนิ่ง และเริ่มเอาดาต้าเข้ามาใช้กันมากขึ้น

3.Personalization คือ การทำให้เหมาะกับแต่ละบุคคล ปกติเราเข้าไปหน้าเว็บไซต์หนึ่งจะเจอสินค้าที่เหมือนกัน แต่ตอนนี้มีเครื่องมือทางการตลาดที่เข้ามาทำให้รู้ว่าคนนั้นเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง เมื่อเข้าสู่หน้าแรกของเว็บ จะพบสินค้าที่เหมาะกับคนที่เป็นผู้ชายอย่างพวกอุปกรณ์กีฬา รองเท้า ฯลฯ ถ้าเป็นผู้หญิงก็อาจจะเป็นเครื่องสำอาง เสื้อผ้า ฯลฯ

คำว่า Personalization คือ สินค้าหรือข้อมูลสินค้าต่างๆ ที่เหมาะกับลูกค้ารายนั้น หรือกรณีของอีเมล์ เช่น อีเมล์ที่ส่งมาจะรู้เลยว่าผมเป็นผู้ชาย เคยซื้อสินค้าตัวนี้ไป อีเมล์ที่ส่งมาหาผมก็จะเป็นสินค้าที่เหมาะกับผมคนเดียวเท่านั้น โอกาสปิดการขาย หรือคนจะซื้อมีสูงกว่าส่งข้อมูลกว้างๆ หรือที่ทุกคนเห็นคล้ายๆ กัน

4.เทคโนโลยี AR (Augmented Reality) หรือ VR (Virtual Reality) กับวงการค้าปลีก ตอนนี้ในไทยเริ่มเห็นบ้างแล้ว อย่างเราไปร้านประเภทร้านขายยา ร้านค้าเพื่อสุขภาพ ความงาม เช่น บูทส์ วัตสัน ที่ผมเจอ คือ มีหน้าจอที่เมื่อกดไปจะเห็นหน้าตาของเรา จะมี AR จับว่านี่ คือ ตา ปาก ฯลฯ จากนั้นสามารถเลือกสีลิปสติกได้เลยว่า ต้องการสีไหน สีของปากบนกระจกจะเป็นสีที่เราเลือกเลยทันที หรืออยากเปลี่ยนสีเปลือกตา แก้ม ฯลฯ เราสามารถเห็นสีได้ด้วยตัวเอง โดยวงการธุรกิจค้าปลีก จะเริ่มนำเทคโนโลยีเสมือนจริงเข้ามาใช้มากขึ้น

5.Device ID (Device Identification) หรือหมายเลขอุปกรณ์ เป็นการระบุอุปกรณ์ที่แม่นมาก เราอาจใช้อุปกรณ์หลายตัวทั้งคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ แทบเล็ต ฯลฯ แต่คนใช้ คือ คนคนเดียวกัน ตอนนี้เทคโนโลยีเริ่มแยกรู้แล้วว่า เป็นการใช้ของคนคนเดียวกัน ดังนั้นประสบการณ์การเข้าถึง และการโฆษณาจะเริ่มผสานกันเป็นเนื้อเดียว

เช่น เมื่อเข้าใช้เว็บไซต์หนึ่งหรือแอพลิเคชันหนึ่ง จะรู้ว่าผมใช้ผ่านอุปกรณ์นี้ และนี่คืออุปกรณ์หนึ่งของผมที่จะผูกเข้ากับโปรไฟล์ผมทันที เมื่อเข้าเว็บไซต์จะรู้ว่า ผมเคยเห็นสินค้านี้แล้วจะไม่โชว์ซ้ำ ดังนั้นในแง่การนำเสนอข้อมูลที่ซ้ำซ้อนจะลดน้อยลง และบางครั้งจะตามติดได้อย่างต่อเนื่องดียิ่งขึ้น

6.Social Commerce คนไทยเรานิยมซื้อของบนโซเชียลมีเดียอย่างอินสตาแกรมหรืออื่น ๆ กันมาก เมื่อผมแชร์ข้อมูลนี้ไปให้กับผู้ร่วมสัมนาจากประเทศอื่นๆ ได้ทราบ เขารู้สึกว่าเมืองไทยเราแอดวานซ์มาก หลายแบรนด์หรือหลายธุรกิจยังไม่เคยใช้ขนาดนี้ เขาออกจะงงๆ ที่ว่าประเทศไทยมีการซื้อ การโอนเงินผ่านไลน์ หรือโซเชียลมีเดียด้วย เพราะประเทศเขาไม่ได้ใช้กันขนาดนั้น แต่เมื่อเปรียบเทียบเรากับประเทศอาเซียนด้วยกันต่างก็มีพฤติกรรมลักษณะนี้เหมือนกันมากเลยทีเดียว ถือได้ว่าไทยมีบริษัทสตาร์อัพด้านเทคโนโลยี ที่ทำเครื่องไม้เครื่องมือสนับสนุนให้เกิดการค้าบนโซเชียลคอมเมิร์ซจำนวนมาก ถือว่าเราโดดเด่นทีเดียวในแง่การทำข้อมูลการค้าบนโลกออนไลน์