รัฐบาลมูนแจอินกับความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้

รัฐบาลมูนแจอินกับความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้

ในช่วง ต.ค.- ธ.ค.ปีที่ผ่านมา ศาลเกาหลีใต้ได้ตัดสินให้บริษัท Nippon Steel & Sumitomo Metal Corperation และ Mitsubishi Heavy Industries

ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนของญี่ปุ่นจ่ายค่าชดเชยให้กับชาวเกาหลีใต้ ที่ถูกบังคับใช้แรงงานในสมัยที่ญี่ปุ่นยึดครองเกาหลีเป็นอาณานิคม คำตัดสินนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญหนึ่งของความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ในปัจจุบัน เพราะนอกจากรัฐบาลญี่ปุ่นจะเห็นว่าคำตัดสินนี้ละเมิดข้อตกลงที่ญี่ปุ่นทำกับเกาหลีใต้ในปี 1965 และกำลังพิจารณาใช้มาตรการตอบโต้หากมีการบังคับคดีแล้ว เหตุผลที่ศาลเกาหลีใต้ใช้เป็นหลักอ้างอิงสำหรับคำตัดสินดังกล่าวยังเป็นการสร้างเงื่อนไขที่ทำให้เกิดปัญหาในลักษณะเดียวกันขึ้นอีกในอนาคต

คิมุระ คัง ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยโกเบ ได้ระบุไว้ในบทความเรื่อง A Profound Development in Japan- South Korea Relations ที่ตีพิมพ์ในเว็บไซต์ The Diplomat เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2019 ว่าศาลเกาหลีใต้ได้ให้เหตุผลว่าการยึดครองเกาหลีใต้เป็นอาณานิคมเป็นความผิด ดังนั้นผู้ที่ถูกบังคับใช้แรงงานจึงมีสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชย ซึ่งศาสตราจารย์ คัง เห็นว่าการให้เหตุผลเช่นนี้มีนัยว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ญี่ปุ่นกระทำต่อเกาหลีในสมัยที่เกาหลีเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นเป็นความผิดทั้งหมด และด้วยเหตุนั้นชาวเกาหลีใต้จำนวน 5 ล้านคนในปัจจุบันที่มีความเชื่อมโยงกับชาวเกาหลีใต้จำนวน 20 ล้านคน ที่เคยอาศัยอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นในอดีตจึงรับสืบทอดสิทธิในการได้รับค่าชดเชยจากญี่ปุ่นมาด้วย ทำให้มีความเป็นไปได้ที่นักกิจกรรมหรือประชาชนชาวเกาหลีใต้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะอ้างคำตัดสินนี้เพื่อฟ้องเรียกค่าชดเชยจากญี่ปุ่นอีกในอนาคต

ในเวลาต่อมา การให้สัมภาษณ์แก่สำนักข่าวบลูมเบิร์กเรื่อง comfort women ของมูนฮีซัง ประธานรัฐสภาเกาหลีใต้ในเดือน ก.พ.2019 หลังจากที่ญี่ปุ่นกล่าวหาเกาหลีใต้ในเดือน ธ.ค. ก่อนหน้าในเรื่องการใช้เรดาห์ล็อคเป้าเครื่องบินตรวจการณ์ของญี่ปุ่น ได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เลวร้ายมากยิ่งขึ้น โดยตอนหนึ่งของการให้สัมภาษณ์ มูน ได้กล่าวถึงพระจักรพรรดิอากิฮิโตะว่าเป็น “ลูกชายของผู้ต้องหาคดีอาชญากรสงครามคนสำคัญ” และได้เรียกร้องให้พระจักรพรรดิตรัสขอโทษหญิงบำเรอ (comfort women) โดยมูนกล่าวว่า “ถ้าบุคคลเช่นนั้น (พระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ) จับมือของผู้สูงอายุ (comfort women) และกล่าวว่า ตัวเขาเสียใจจริงๆ คำพูดคำเดียวนั้นจะแก้ปัญหาได้อย่างสิ้นเชิง” ซึ่งทางรัฐบาลญี่ปุ่นได้ประท้วงการให้สัมภาษณ์นี้และเรียกร้องให้มูนถอนคำพูดและกล่าวคำขอโทษแต่มูนปฏิเสธ อีกทั้งยืนยันในสิ่งที่ตนเองได้กล่าวไป และรัฐสภาเกาหลีใต้ก็ไม่ได้ตำหนิหรือลงโทษมูนในกรณีนี้แต่อย่างใด

เหตุการณ์ทั้งหมดดังกล่าวเกิดขึ้นในสมัยของรัฐบาลของประธานาธิบดีมูนแจอิน อดีตนักกฏหมายสิทธิมนุษยชนที่ชนะการเลือกตั้งในปี 2017 ด้วยการสนับสนุนของฝ่ายเสรีนิยมและฝ่ายซ้ายที่เคลื่อนไหวประท้วงประธานาธิบดีปักกึนเฮมาก่อนหน้า และหลังจากที่มูนดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ประเด็นบาดแผลทางประวัติศาสตร์ระหว่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นก็ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาจนกลายเป็นประเด็นสำคัญทางการเมืองระหว่างสองประเทศมาจนปัจจุบัน โดยกรณีสำคัญหนึ่งที่อาจแสดงถึงความตั้งใจที่มีมาแต่ต้นของรัฐบาลมูนในกรณีนี้ได้ดีก็คือการกล่าวถึง comfort women และข้อพิพาทเกาะด็อกโด/ทะเคะชิมะโดยนัยเมื่อครั้งที่ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์เดินทางเยือนเกาหลีใต้ในเดือนพฤศจิกายนปี 2017

คำถามสำคัญก็คือ ทำไมรัฐบาลมูน ถึงมีท่าทีเช่นนี้ต่อญี่ปุ่นในช่วงเวลาที่เกาหลีใต้ต้องการการสนับสนุนจากญี่ปุ่นและนานาชาติในการแก้ปัญหาเกาหลีเหนือ? คำตอบที่เป็นไปได้ 2 ประการ ก็คือความเห็นต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาการไร้เสถียรภาพของภูมิภาคเอเซียตะวันออกและเงื่อนไขทางการเมืองภายในของเกาหลีใต้ สำหรับคำตอบประการแรกนั้น ท่าทีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมูนเห็นว่า อิทธิพลของสหรัฐ คือสาเหตุสำคัญของปัญหาการไร้เสถียรภาพของเอเซียตะวันออก และการมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับจีนมากขึ้นเป็นทางเลือกที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว สำหรับคำตอบประการที่สองนั้น โจเซฟ ยี รองศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยฮันยางและหวาง ตงลี่ นักศึกษาปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ได้ให้รายละเอียดไว้ในบทความเรื่อง How Populism Drives Seoul’s Ties with Tokyo ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ The Japan Times เมื่อวันที่ 24 ม.ค.2019 ว่า กลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นฐานคะแนนสำคัญของรัฐบาลมูน มีทัศนคติที่เป็นมิตรต่อเกาหลีเหนือ แต่มีทัศนคติในทางลบต่อญี่ปุ่น ซึ่งตรงกันข้ามกับฝ่ายขวา ที่มีท่าทีที่แข็งกร้าวต่อเกาหลีเหนือและเห็นว่าพันธมิตรด้านความมั่นคงระหว่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นเป็นสิ่งจำเป็น โดยยีและตงลี่อธิบายว่านับตั้งแต่การเรืองอำนาจของฝ่ายซ้ายในทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา การถกเถียงเรื่องการคุกคามจากเกาหลีเหนือในสังคมเกาหลีใต้เป็นไปอย่างเสรี แต่การถกเถียงเรื่องบาดแผลทางประวัติศาสตร์ระหว่างเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นเป็นไปในทางตรงกันข้าม โดยนักการเมืองฝ่ายซ้ายที่มีอำนาจอยู่ในบางพื้นที่มีส่วนสำคัญในการทำให้ภาพลักษณ์ของญี่ปุ่นเลวร้ายลงอย่างต่อเนื่องผ่านการมีอิทธิพลต่อกระบวนการคัดเลือกหนังสือเรียนประวัติศาสตร์และการปิดกั้นความเห็นที่แตกต่างในเรื่อง comfort women ด้วยวิธีการที่รุนแรง โดยไม่กล่าวถึงปัญหาในลักษณะเดียวกันที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้และในเวียดนาม แม้ว่าสื่อและกลุ่มประชาสังคมฝ่ายก้าวหน้าบางกลุ่มจะพยายามรณรงค์ในเรื่องนี้อยู่ก็ตาม

ถึงที่สุดแล้ว ท่าทีต่อญี่ปุ่นในปัจจุบันของเกาหลีใต้อาจจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องในทางหลักการ แต่รัฐบาลมูนก็จำเป็นจะต้องทบทวนด้วยว่าท่าทีดังกล่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของเกาหลีใต้ในระยะยาวหรือไม่ ทั้งในด้านการแก้ปัญหาภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือและการมีระบบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง และรัฐบาลมูนไม่ควรเพิกเฉยต่อความแตกต่างระหว่างระบบการปกครองระหว่างเกาหลีใต้ จีน และเกาหลีเหนือ เพราะนอกเหนือจากการมีเสถียรภาพของภูมิภาคแล้ว การมีสวัสดิภาพของทั้งเกาหลีใต้และญี่ปุ่นก็เป็นประเด็นสำคัญด้วยเช่นกัน การผ่อนปรนไปตามกระแสความเกลียดชังญี่ปุ่นที่ปราศจากเหตุผลเช่นในกรณีของซาราห์ โซและปาร์ค ยูฮาไม่เป็นผลดีต่อสิทธิมนุษยชน ระบบประชาธิปไตย และการเป็นพันธมิตรระหว่างประเทศประชาธิปไตยที่จะนำไปสู่การมีสวัสดิภาพนั้นแต่อย่างใด

โดย... 

ภาคภูมิ วาณิชกะ 

ศูนย์จริยธรรมวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นรชิต จิรสัทธรรม 

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น