เปลี่ยน “น้ำเค็ม”เป็น“น้ำจืด”

เปลี่ยน “น้ำเค็ม”เป็น“น้ำจืด”

เรามีปริมาณน้ำเค็ม 97.5% ของปริมาณน้ำทั้งหมดที่มีอยู่ในโลกนี้ อีก 1.75% เป็นก้อนน้ำแข็งใหญ่ที่ขั้วโลก

ดังนั้นโลกจึงต้องพึ่งน้ำจืดเพียง 0.75% ของน้ำที่โลกมีและเกือบทั้งหมดเป็นน้ำใต้ดิน มีเพียง 0.3% เท่านั้นที่เป็นน้ำจืดผิวดิน เมื่อความจริงเป็นเช่นนี้ มนุษย์จึงควรเปลี่ยนน้ำเค็มมาเป็น น้ำจืด เทคโนโลยีนี้ก็ก้าวไปไกลที่สามารถทำได้ไม่ยาก แต่เหตุไฉนมันไม่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย

ทุกอย่างในโลกอธิบายได้ด้วยเหตุผลทั้งสิ้น แม้แต่ความไม่มีเหตุผลก็มีเหตุผลในตัว ของมัน desalination (กระบวนการเปลี่ยนน้ำเค็มเป็นน้ำจืดด้วยการเอาเกลือและสารอื่นๆ ออกไป)เป็นเรื่องสำคัญเพราะทำให้มนุษย์อยู่รอดได้อย่างดี ในบริเวณที่แล้งจัดไม่มีน้ำจืดและอยู่ใกล้ทะเลที่มีปริมาณเกลือเหลือคณานับ

เกลือเป็นสารเคมีที่ร่างกายมนุษย์ต้องการอย่างยิ่ง มนุษย์รู้จักความสำคัญของเกลือมาแต่ดึกดำบรรพ์ มันเป็นสิ่งที่มีค่ามากจนคำว่า salary มาจาก salt เช่นเดียวกับคำว่า salad (โรยเกลือบนผักก่อนบริโภคจนเป็นที่มาของคำ) คุณสมบัติของเกลือในการรักษาอาหารมีส่วนอย่างสำคัญในพัฒนาการของอารยธรรมโบราณ

เมื่อเกลือช่วยถนอมอาหารจึงทำให้สามารถขนอาหารไปได้ไกลๆไม่ต้องพึ่งพิงฤดูกาลของอาหารมากเกินไป อีกทั้งทำให้อาหารมีรสชาติดีอีกด้วยดังนั้นเกลือจึงเปรียบเสมือนทองคำในบางพื้นที่ที่ขาดแคลน จนมีการใช้เกลือเสมือนเงินตราในบางยุคสมัยในบางแผ่นดิน

เกลือเป็นสิ่งมีคุณค่าก็จริงอยู่ แต่เมื่อไปอยู่ในที่ๆ ไม่ควรอยู่เช่นน้ำก็เป็นปัญหา จึงต้องหาทางเอามันออกไป ในปัจจุบันเทคโนโลยีในเรื่องนี้ไปไกลจนมีโรงงานdesalination นับเป็นหมื่นแห่ง ทั่วโลก โรงงานที่ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ที่อิสราเอล ไกลออกไป 15 กิโลเมตรจากกรุงTel Aviv ผลิต น้ำจืด 230 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือประมาณ 1 ใน 5 ของความต้องการใช้น้ำของคนอิสราเอล โรงงาน ต่อท่อยาวออกไปในทะเลกว่า 1 กิโลเมตร เพื่อสูบน้ำทะเลที่บริสุทธิ์ จากน้ำก็เอามากรองผ่านทรายและ ปั้มผ่านเยื่อ “reverse osmosis” (ให้ไหลในทิศทางตรงข้ามกับกระบวนการ osmosis ตามธรรมชาติที่ไหลจากของเหลวที่มีความเข้มข้นน้อยกว่าสู่ของเหลวที่มีความเข้มข้นกว่าจนสามารถดักเกลือไว้ได้จนเหลือแต่น้ำจืด)

เทคโนโลยีนี้ ริเริ่มโดยSidney Loeb นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันในทศวรรษ1960 ผู้ต่อมาอพยพไปอยู่อิสราเอล และพัฒนากระบวนการจนใช้กันทั่วโลกในปัจจุบัน น้ำที่ได้นั้นจืดสนิท ไม่มีรสชาติแต่ขาดธาตุแคลเซียมและแม็กนีเซียม

ในปัจจุบันทั่วโลกมีโรงงานdesalination 15,906 แห่งรวมกันผลิตน้ำจืด 95 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน สถิติของความสามารถในการผลิตมีดังนี้ ตะวันออกกลางและอาฟริกาเหนือ 45 ล้านลูกบาศก์เมตร จำนวน 4,826 โรงงาน รองมาคือเอเชียตะวันออกและปาซิฟิค(18และ3,505แห่ง) อเมริกาเหนือ(11และ2,341แห่ง) เอเชียใต้(2และ655แห่ง) ยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง (1และ566) และ Sub-Saharan Africa (0.8และ303แห่ง)

ตัวเลขชี้ว่าเกือบครึ่งหนึ่งของปริมาณน้ำจืดที่ผลิตได้จากน้ำทะเลทั่วโลกต่อวันมาจากตะวันออกกลางและอาฟริกาเหนือ ปริมาณน้ำจืดผลิตจาก desalination ยังเทียบไม่ได้เลยกับการใช้น้ำจืดทั้งโลกที่ตกประมาณ 4,600 ลูกบาศก์กิโลเมตรต่อปี(ผลิตน้ำจาก desalination ได้เพียง 0.00347ลูกบาสก์กิโลเมตรต่อปี) เหตุใดจึงไม่ผลิตกันผ่านdesalinationอย่างกว้างขวางและมากๆ

เหตุผลแรก  เฉพาะประเทศที่อยู่ใกล้ทะเลและมีเงินเท่านั้น desalination จึงเป็นไปได้ (การสูบน้ำทะเลผ่านท่อยาวเป็นกิโลเมตรทำให้ต้นทุนสูงมาก) ต้นทุนของการตั้งโรงงานผลิตแต่ละแห่งนั้น สูงมาก ตัวเลขอยู่ในระดับ 100 ล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไป

เหตุผลที่สอง กระบวนการdesaltlionationใช้พลังงานสูงมาก ครึ่งหนึ่งหรือ 2 ใน 3 ของต้นทุนต่อหนึ่งลูกบาศก์เมตรหมดไปกับค่าใช้จ่ายพลังงาน ต้นทุนจากวิธีการ Sorek ของอิสราเอล ตกประมาณ 50-55 เซนต์ต่อลูกบาศก์เมตร( 16-17 บาท) ซึ่งลดจาก 78 เซนต์เมื่อ 10 กว่าปีก่อน​​

เหตุผลที่สาม เกลือเข้มข้นที่ได้จากกระบวนการเป็นปัญหาในการกำจัด การทิ้งกลับลงไปสู่ทะเลถึงแม้จะไกลออกไปถึง 2 กิโลเมตรก็มีผลต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล เพราะทำให้ความสมดุลทางเคมีของน้ำเสียไปในบริเวณกว้างจากการทำลายออกซิเจนในน้ำ ปัจจุบันทั่วโลกมีการปล่อยน้ำเกลือเข้มข้นลงทะเลถึง141.5ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน​​

เหตุผลที่สี่ สิ่งที่เรียกว่า Unintended Consequences (ผลที่เกิดตามมาอย่างไม่ตั้งใจ)นั้น ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ ความตั้งใจดีบ่อยครั้งที่นำมาซึ่งความเสียหายและผลดี desalinationอย่างกว้างขวางทั่วโลกอาจสร้างสิ่งที่เป็นลบอย่างมากก็เป็นได้

นักสังคมวิทยาชาวอเมริกันชื่อดังRobert K. Merton (ค.ศ. 1910-2003)ทำให้Unintended Consequencesเป็นที่รู้จัก เขาบอกว่าสังคมมนุษย์เป็นระบบที่ซับซ้อนจนมีแนวโน้มที่การแทรกแซงในบางเรื่องอาจนำไปสู่การเกิดขึ้นของผลอันพึงประสงค์หรือไม่พึงประสงค์อย่างไม่ตั้งใจได้ไม่ยากนัก

ตัวอย่างได้แก่ เรื่องที่เรือจมในทะเลจากการรบกลายเป็นแหล่งสร้างปะการัง ยาaspirin มีผลข้างเคียงในด้านดีอย่างมิได้ตั้งใจกล่าวคือ นอกจากระงับความปวดแล้วยังทำให้เลือดไม่แข็งตัวง่ายจนช่วยป้องกันการเสียชีวิตจากหัวใจล้มเหลว

การห้ามดื่มและผลิตแอลกอฮอร์อย่างเด็ดขาดในสหรัฐในทศวรรษ1920 ทำให้เกิดการค้าเหล้าเถื่อนอย่างกว้างขวางเป็นแหล่งรายได้ของกลุ่มอาชญกร จนมีส่วนทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรมหนักหน่วงขึ้น การนำผักตบชวาเข้ามาจากอินโดนีเซียในสมัยโบราณเพราะดอกมีกลิ่นหอม ทำให้เป็นปัญหาแก่คูคลองในปัจจุบัน ในอดีตสมัยอาณานิคม งูเห่าในเมืองDelhi ชุกชุม รัฐบาลอังกฤษจึงให้รางวัลแก่ผู้ฆ่าหรือจับงูอย่างงาม ผลปรากฏว่ามีการเพาะเลี้ยงงูเห่ากันทั่วไปเพื่อเงินรางวัล ในที่สุดรัฐบาลก็ประกาศยกเลิก ชาวบ้านไม่เห็นประโยชน์ในการเลี้ยงจึงปล่อยออกมาเพ่นพ่าน สุดท้าย งูเห่าชุกชุมมากกว่าตอนก่อนให้รางวัล

desaltlination จากน้ำทะเลมีประโยชน์อย่างมากแต่ก็มีผลเสียข้างเคียงที่ต้องระวังอย่างไร ก็ดีdesaltlination บุคคลที่ “ทะเลเรียกพี่” นั้นมีประโยชน์อย่างเห็นได้ชัดเพียงแต่จะใช้วิธีการหรือกระบวนการใดที่มีประสิทธิภาพ แต่ไม่ถึงแก่ชีวิตนั้นน่าจะต้องค้นหากันอีกนาน