เจาะลึก “เสื้อกั๊กเหลือง”ที่ฝรั่งเศส(4) และที่อังกฤษ

เจาะลึก “เสื้อกั๊กเหลือง”ที่ฝรั่งเศส(4) และที่อังกฤษ

18 ก.พ.ที่ผ่านมา เกิดการชุมนุม “เสื้อกั๊กเหลือง”ภาคอังกฤษ ย่านชอปปิ้งกลางกรุงลอนดอน และในอีก 2 เมือง! ผู้ชุมนุมต่างพากันสวมเสื้อกั๊กสีเหลือง

และสีสดๆ ประกาศตัวชัดเจนว่า ได้แรงบันดาลใจจากฝรั่งเศสถึงขนาดว่าไป “นำเข้า” ตัวเป็นๆ กลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองจากฝรั่งเศสมา 2 คน

ข้อเรียกร้อง คือให้รัฐบาลนำอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปในทันที ใช้นโยบายไม่รับผู้อพยพ และยุติข่าวสารเท็จทั้งหลายสืบเนื่องจากกรณีเด็กวัยรุ่น 3 คนถูกรถยนต์คนขับดื่มเหล้าชนตายในกรุงลอนดอนเมื่อปีที่แล้ว

ช่างตรงเผงเลยกับที่ได้มีการเปรียบไว้ล่วงหน้าว่า กลุ่มคนอังกฤษที่เลือกจะออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) และบรรดาคนอเมริกันที่เลือกนายทรัมป์ ก็คือกลุ่มคนมีความรู้สึกนึกคิดแนวเดียวกับกลุ่ม “เสื้อกั๊กเหลือง” ของฝรั่งเศส พวกเขาเป็นกลุ่มคนทางภูมิศาสตร์เศรษฐกิจสังคมการเมืองที่ร่วมกัน โดยไม่จำเป็นต้องทำอาชีพเดียวกันหรืออยู่ในพื้นที่ภูมิศาสตร์เมืองเดียวกันประเทศเดียวกัน

แม้ขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองภาคอังกฤษยังไม่ใหญ่โตมโหระทึกเหมือนเจ้าตำรับ แต่การชุมนุมก็มาแนวคล้ายกัน ไม่พอใจโกรธแค้นรัฐบาลและสังคมหลายๆ เรื่องรวมกันที่ทำให้ “กำลังซื้อ”ของพวกเขาหดหาย การชุมนุมมีทั้งสันติและรุนแรง ถูกจับไป 6 คน ตำรวจบาดเจ็บ 2 คน

ยังคาดการณ์ไม่ถูกว่า “เสื้อกั๊กเหลือง” จะจุดติดหรือไม่ ในอังกฤษ ส่วนในฝรั่งเศส กลุ่ม “เสื้อกั๊กเหลือง”ได้ชุมนุมต่อเนื่องมาถึง “องก์ที่ 17 ”เมื่อเสาร์ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา จำนวนคนชุมนุมอาจลดลงแต่แตกกลุ่มมากยิ่งขึ้น ประจวบวันสตรีสากล จึงมีประเด็นผู้หญิงโดยกลุ่มครูอนุบาลเพิ่มเข้ามา เป็นความเคลื่อนไหวที่น่าติดตามในบริบทสังคมฝรั่งเศสที่ ‘ปริแยกแตกร้าว’ ในทางเศรษฐกิจสังคมอย่างยิ่ง

ดังชื่อหนังสือที่หมายความถึงสภาพสังคมฝรั่งเศสที่แตกร้าว คือ Fractures francaises (2013 ) ผู้เขียนเคือ นายคริสตอฟ กิยยี่ (Christophe Guilly) นักภูมิศาสตร์สังคมวัย 54 ผู้เป็นเจ้าของการเปรียบว่า “เสื้อกั๊กเหลือง ” ในฝรั่งเศสก็ดี พวกเบรกซิทในอังกฤษก็ดีและกลุ่มคนเลือกนายทรัมป์นั้น หรือก็คือกลุ่มคนทางภูมิศาสตร์เศรษฐกิจสังคมที่มีความรู้สึกนึกคิดแบบเดียวกัน

นายกิยยี่ มีทั้งคนชมคนด่าเกรียวกราวมาตั้งแต่เริ่มพูดเรื่องนี้ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว และเมื่อตีพิมพ์เป็นหนังสือก็ขายได้ 13,000 เล่มใน 10 กว่าวัน โดยที่นักวิชาการในมหาวิทยาลัยดังๆ ได้โจมตีเขาว่า ข้อมูลวิชาการน้อยไป เป็นการด่วนสรุปทำนายที่ อันตราย ซึ่งก็หาได้ทำให้เขาย่อท้อไม่ ออกหนังสือมาอีก 3 เล่ม แนวคิดวิเคราะห์เดียวกันซึ่งน่าฟังมากเพื่อทำความเข้าใจกลุ่มคนตามบริบทภูมิศาสตร์เศรษฐกิจสังคมของฝรั่งเศสว่า มันปริแยกแตกร้าวออกเป็นส่วนๆ ได้ยังไงในพลวัตโลกานุวัต จนส่งผลถึงระบบการเมืองเดิมที่รวมชาติ รวมคนให้อยู่ด้วยกันมาได้นั้นก็กำลัง ปริแยกแตกร้าว ไปตามๆกันซึ่งจะนำพาไปสู่อะไรทางการเมืองข้างหน้าก็ยังไม่มีใครรู้

แค่ชื่อและซับไตเติลของหนังสือ 3 เล่มต่อมาของนายกิยยี่ ก็เป็นลูกระเบิดทางความคิดที่น่ากลัวทีเดียว คือ La France peripherique :Comment on a sacrifie les classes populaires (2014) Le Crepuscule de la France d'en Haut (2016) และเล่มล่าสุดชื่อเป็นภาษาอังกฤษซับไตเติ้ลฝรั่งเศส พอแปลได้ว่า สิ้นสังคม : อวสานของชนชั้นกลางตะวันตก คือ No society : la fin de la classe moyenne occidentale (2018)

นายกิยยี่ มองเห็นว่าฝรั่งเศสที่ดูเป็นประเทศหนึ่งเดียวในความเป็นจริงทางภูมิศาสตร์สังคมคือสังคมที่แบ่งแยกเป็นสอง ระหว่างส่วนที่เจริญรุ่งเรืองทุกด้านได้ประโยชน์สุดๆ จากกระแสโลกานุวัติ ทั้งการขยายตัวของการลงทุน งาน บริการสาธารณะเช่นรถไฟความเร็วสูง ที่ดินอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่เมืองหลวงเมืองใหญ่ กรุงปารีส บอร์โด ลียง (อันเป็นแหล่งชุมนุมสำคัญของกลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองมาโดยตลอด) และส่วนที่ ตกรถไฟขบวนโลกานุวัติ” อันหมายถึงเมืองอีกตั้งมากมายหลายเมืองทั้งใหญ่น้อยที่ไม่ได้เติบโตสร้างโอกาสใหม่ๆในอัตราส่วนเสมอกันหรือใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะในรอบนอกๆ ชายขอบ (peripherique)ซึ่งถูกทิ้งไว้ข้างหลังมากขึ้นเรื่อยๆ 

คนกลุ่มนี้ไม่ได้มีเฉพาะพวกอยู่นอกเมืองดั้งเดิมและเกษตรกรดั้งเดิม แต่มีคนของเมืองใหญ่ที่สู้ค่าเช่าในเมืองไม่ได้ ราคาที่ดินอสังหาริมทรัพย์สูงลิบลิ่วในกรุงปารีส เมืองบอร์โด เมืองลียงนั้น หรือในระบบทุนนิยมเสรี ก็เป็นของพวกทุนใหญ่ทุนข้ามชาติทั้งนั้น คนฝรั่งเศสสามัญกี่คนมีปัญญาจะไปเช่าไปซื้อมาเป็นที่อยู่ของตัว อีกทั้งยังมีคนดั้งเดิมในเมือง(ใหญ่)ที่ต้องรับมือกระแสโลกานุวัติด้วยการขายที่ดินขายบ้านแล้วย้ายออกไปอยู่ชายขอบของเมือง( คิดว่าค่อยนั่งรถเข้าเมืองก็ได้แต่แล้ววันหนึ่งก็มาเจอขึ้นค่าน้ำมันและการเลิกบริการขนส่งสาธารณะ) บวกเข้ากับผู้อพยพตั้งถิ่นฐานรุ่นใหม่ถูกจัดสรรให้อยู่นอกเมือง ซึ่งนายกิยยี่เน้นว่าพวกผู้อพยพเป็นเพียงส่วนหนึ่งส่วนน้อยเท่านั้น ไม่ใช่กลุ่มปัญหาใหญ่ที่จะก่อจลาจลทางการเมืองอย่างที่เคย(ถูกสร้างให้)เข้าใจกันมา

กลุ่มคนทางภูมิศาสตร์สังคมที่ตกรถไฟขบวนโลกานุวัติเช่นว่านี้ ประเมินว่าไม่ต่ำกว่า 60% ของประชากรฝรั่งเศส อัตคัตขาดแคลนแทบทุกด้านโดยเปรียบเทียบกับส่วนแรก เช่น ทุน โอกาส อาชีพ ถึงขั้นตกงานว่างงาน บริการสาธารณะต่างๆ สันทนาการฯ ถ้าไม่ใช้วิธีลดอด ละเลิก ยอมแพ้เงียบๆก็หันไปหาแนวคิดประชานิยม ต่อต้านกีดกันการค้ากับต่างประเทศ ต่อต้านผู้อพยพ นั่นคือหันไปนิยมพรรคการเมืองแนวขวาจัดของนางมารี เลอ เปน ซึ่งในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดเธอรุ่งเรืองถึงขีดสุดได้มาขับเคี่ยวกับนายเอมมานูเอล มาครงในรอบสุดท้ายจากที่เคยเป็นพรรคมีคนนิยมน้อยมาตลอด

นายกิยยี่ ได้เตือนพรรคสังคมนิยมที่เป็นรัฐบาลมาหลายสมัยว่า จบเห่แน่ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงอะไร จะเกิดการจลาจลสำคัญจากกลุ่มคนส่วนใหญ่นี้แหละอย่างที่ไม่เคยได้เห็นในฝรั่งเศสมานานหลายทศวรรษ หรือหลายศตวรรษเลยทีเดียว. ( ตอนจบครั้งหน้า "กลุ่ม "เสื้อกั๊กเหลือง" จะไปทางไหน ? )