เตรียมเข้าสู่สังคม การอยู่อาศัยยุค 5.0

เตรียมเข้าสู่สังคม การอยู่อาศัยยุค 5.0

เมื่อโลกของเราเดินหน้าเข้าสู่ยุคแห่งเทคโนโลยีที่นับวันยิ่งมีความล้ำสมัยมากขึ้น

ซึ่งเทคโนโลยีได้สร้างสังคมแห่งความสะดวกสบายทำให้เราได้รับการตอบสนองความต้องการได้อย่างรวดเร็วทันใจ การเข้าถึงข้อมูลและบริการของผู้บริโภคทำได้เพียงผ่านปลายนิ้ว หรือการสั่งงานด้วยเสียง ภาคอสังหาริมทรัพย์เองก็ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีความโดดเด่นในการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านนี้อย่างน่าสนใจ ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่หลายรายตอบรับการเป็นสังคมยุคไทยแลนด์ 4.0 โดยนำเทคโนโลยีเพื่อการอยู่อาศัยมาช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับบ้านหรือคอนโดมิเนียมโครงการใหม่ๆ หลายรูปแบบ 

ขณะเดียวกันบางประเทศอย่างญี่ปุ่น ได้พัฒนาแนวคิดที่จะเดินหน้าพัฒนาสังคมเข้าสู่ยุค 5.0 ซึ่งคาดการณ์ว่าในอีกไม่เกิน 5 ปีข้างหน้า ทั่วโลกจะได้เห็นภาพอนาคตของสังคมยุค 5.0 แบบของญี่ปุ่น 

ยุค 5.0 เป็นยุคที่เรียกว่าเป็นสังคมแบบ Super Smart เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อมนุษย์มากยิ่งขึ้นและช่วยในการใช้ชีวิตในด้านต่างๆ ได้อย่างอัจฉริยะและตอบสนองการใช้ชีวิตได้อย่างรอบด้านมากขึ้น เป็นยุคที่รวมเอาโลกไซเบอร์และโลกแห่งความจริงเข้าด้วยกัน โดยมีเทคโนโลยีและ AI เป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อน ซึ่งแม้ไทยจะยังคงอยู่ในยุคสังคม 4.0 แต่ด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็มีการคิดค้นพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีที่นำมาใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศ

ยกตัวอย่างเทคโนโลยีที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์นำมาใช้พัฒนาโครงการ เช่น บ้านอัจฉริยะ (Smart Home) ที่เป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ควบคุมสั่งการการทำงานในบ้านและอำนวยความสะดวกในที่อยู่อาศัย ที่ถูกกล่าวถึงเป็นอย่างมากคือกระจกอัจฉริยะ หรือ Smart Mirror ที่มีฟังก์ชั่นหลากหลาย สามารถเชื่อต่อกับโทรศัพท์เพื่อฟังเพลงและดูวีดีโอ หน้าปัดยังบอกเวลาและอุณหภูมิ รวมถึงพูดคุยโทรศัพท์ผ่านการเชื่อม Bluetooth ได้อีกด้วย 

นอกจากนี้ ยังมีระบบการสั่งงานด้วยเสียง หรือ Smart Speaker ที่เป็นเสมือนตัวเชื่อมกับอุปกรณ์ IoT (Internet of Things) อื่น ๆ ภายในบ้าน ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นเหมือนผู้ช่วยส่วนตัวอัจฉริยะ สามารถรองรับคำสั่งการเปิดปิดอุปกรณ์ไฟฟ้า และยังทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยในการตอบคำถามต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกระแสข่าวได้อีกด้วย 

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านการอยู่อาศัยไม่ได้พัฒนาเฉพาะอุปกรณ์อัจฉริยะที่ใช้ภายในบ้านเท่านั้น แต่ยังนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาบริการหลังการขายให้มีความสะดวกสบายต่อผู้อยู่อาศัย และยังคำนึงถึงการลดภาระค่าใช้จ่ายในระยะยาวของนิติบุคคลฯ เพื่อให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ผู้คนในปัจจุบันมากขึ้น ทั้งในรูปแบบของการบริหารจัดการความปลอดภัย การบริหารจัดการระบบวิศวกรรมอาคาร ดังเช่นเมื่อเร็วๆ นี้ มีผู้ประกอบการอสังหาฯ จัดทำศูนย์ควบคุมสังเกตการณ์จากส่วนกลาง (Smart Command Centre) โดยลงทุนนำ IoT และเทคโนโลยีในโครงการที่พักอาศัยเชื่อมเข้ากับระบบที่ควบคุมและสั่งการจากส่วนกลาง เพื่อดูแลบริหารจัดการความปลอดภัยในพื้นที่ส่วนกลางและควบคุมระบบวิศวกรรมอาคารแบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมง มีระบบรั้วอัจฉริยะที่แจ้งเตือนทุกกรณีมีการลุกล้ำแนวรั้ว ดูแลความปลอดภัยและสั่งการไปยังเจ้าหน้าที่ประจำโครงการให้เข้าตรวจสอบได้ทันที หรือระบบวิศวกรรมอาคารในส่วนของงาน preventive maintenance ที่จะคอยตรวจสอบก่อนเกิดปัญหา และรายงานสมรรถนะของระบบเครื่องจักรและควบคุมแจ้งเตือนเมื่อถึงรอบระยะการบำรุงรักษา เป็นต้น 

เรื่องความปลอดภัยก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญและควรคำนึงถึงในการลงทุนนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ซึ่งเริ่มจากในส่วนของอุปกรณ์อัจริยะภายในบ้าน เทคโนโลยีจะเข้ามาดูแลทุกคนในบ้านโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัยเพราะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุภายในบ้าน ซึ่งการที่เรากำลังเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย เทคโนโลยีของ Smart Home จึงถูกออกแบบให้เป็นบ้านอัจฉริยะ จึงมีโครงสร้างภายในบ้านที่เหมาะกับผู้สูงอายุ 

เช่น ประตูบานเลื่อนที่เหมาะกับการเลื่อนเข้าออกของวีลแชร์ และมีเซนเซอร์รอบบ้านเพื่อจับสัญญาณการหกล้มของคนในบ้าน แล้วสัญญาณดังกล่าวก็จะส่งไปยังผู้ดูแล นอกจากนี้ ก็ยังมีส่วนของอุปกรณ์รอบนอกบ้านเรื่องความปลอดภัยในตัวโครงการนั้น ก็มีทั้งระบบสแกนใบหน้าสำหรับผู้มาติดต่อ เป็นต้น