จับตาสินทรัพย์เสี่ยง จะไปต่อหรือไม่ ..??

จับตาสินทรัพย์เสี่ยง จะไปต่อหรือไม่ ..??

ในตอนที่แล้ว ผมได้ให้มุมมองเศรษฐกิจพร้อมกับแนะนำการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ให้กับทุกท่านไป

 ซึ่งจะเห็นได้ว่าสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกในช่วงประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมาได้ปรับตัวขึ้นไปตามปัจจัยบวกต่างๆ ที่เราได้ประเมินไว้ โดยตลาดหุ้นหลายประเทศให้ผลตอบแทนเกิน 10%  ตั้งแต่ต้นปี 2562 มานี้  ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นสหรัฐฯ , ญี่ปุ่น ,จีน รวมไปถึงสินทรัพย์ที่ปรับตัวขึ้นอย่างช้าๆ (Laggard) อย่างทองคำด้วย 

             แต่ด้วยปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงค่อนข้างรวดเร็วทำให้เริ่มเห็นความผันผวนของตลาดสินทรัพย์เสี่นง ...จึงเกิดคำถามว่าการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงจะไปต่อได้หรือไม่ ..??

                คำถามนี้ต้องเริ่มด้วยการมองถึงประเด็นที่สนับสนุนสินทรัพย์เสี่ยงตั้งแต่ช่วงต้นปีมานี้ เราจะเห็นได้ว่ามีปัจจัยสำคัญหลัก คือ 1.) เศรษฐกิจโลกได้คลายความวิตกกังวลว่าจะเกิดวิกฤตและการถดถอยลง  2.) สงครามการค้าของสหรัฐฯกับจีนเจรจากันจนได้ผลสรุปในเชิงบวก ช่วยลดความครึงเครียดที่มีต่อเศรษฐกิจโลกลงไป  ปัจจัยต่อมา 3.) เงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ย  4.) การลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC ทำให้หุ้นกลุ่มพลังงานขยับตัวขึ้นไป 

                โดยทั้ง 4 ปัจจัยบวกนี้ จะยังสนับสนุนสินทรัพย์เสี่ยงให้วิ่งไปต่อได้หรือไม่ในช่วงครึ่งปีแรกนี้..?? 

                ผมมองว่า เศรษฐกิจโลกยังสามารถเติบโตได้ต่อไป เห็นได้จากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังมีความแข็งแกร่งและมีการเติบโตขณะเดียวกันเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงไปก่อนหน้านี้จะเริ่มพลิกกลับมาเติบโตขึ้น หลังปัญหาการพิพาทเรื่องการค้ากับสหรัฐฯคลี่คลายลง และนั่นจะส่งผลให้เศรษฐกิจรวมถึงการลงทุนทั่วโลกขยับตัวขึ้นตามไปด้วย อาจจะไม่เติบโตในระดับที่สูงเหมือนในช่วงปี 2010-2015 แต่จะทำให้เกิดการแข่งขันทางธุรกิจเพิ่มขึ้น  ขณะที่อัตราเงินเฟ้อนั้น มองว่าจะลดลงเนื่องด้วยเศรษฐกิจที่ไม่ได้เติบโตสูงนัก การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ก็จะน้อยลงตามไปเช่นกัน  อย่างไรก็ตามหากเศรษฐกิจโลกเติบโตได้ดี จนเริ่มเห็นอัตราเงินเฟ้อขยับขึ้นก็อาจเป็นเหตุผลให้ Fed ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยได้ และจะมีผลกระทบมาถึงสินทรัพย์เสี่ยง

                อีกปัจจัยคือ ราคาน้ำมัน ผมประเมินว่า กลุ่ม OPEC จะใช้มาตรการลดกำลังการผลิตเพื่อพยุงราคาน้ำมันไว้ แต่ก็มาตรการในช่วงสั้นประมาณ 6 เดือน ทำให้ราคาน้ำมันอาจไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก ราคาน้ำมันจึงน่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 50- 65 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล  แต่อีกประเด็นที่ผมอยากให้นักลงทุนติดตามกันให้ดี ตัวเลขผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 1 ว่าจะดีขึ้นหรือไม่หลังจากตัวเลขไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมานั้น โดยรวมปรับตัวลงค่อนข้างมากแม้ว่านักลงทุนรับรู้ข่าวไปแล้ว ดังนั้นหากตัวเลขไตรมาส 1 ในปีนี้ ไม่พลิกกลับมาเติบโตก็อาจเป็นผลลบต่อตลาดหุ้นได้

                ด้วยภาพรวมจากปัจจัยต่างๆ ที่เล่ามา ผมจึงอยากแนะนำทิศทางการลงทุนในระยะจากนี้ว่า ควรใช้ระมัดระวังในการลงทุนบ้างหากพอร์ตการลงทุนของท่านมีผลกำไร อาจพิจารณาขายกำไรออกมาบ้างเพื่อลดความเสี่ยงพร้อมกับปรับพอร์ตการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆดังนี้

             หุ้น สัดส่วนลงทุน 30-50 % แนะนำ หุ้นสหรัฐฯ 15% หุ้นจีน  10-15%  หุ้นญี่ปุ่น 10% หุ้นไทย  5-10%  เน้นลงทุนในกลุ่ม พลังงาน สาธารณูปโภค , โครงสร้างพื้นฐาน การบริโภค ,  สื่อสาร หลีกเลี่ยง ตลาดยุโรป , ตลาดเกิดใหม่ ในละตินกับเอเชีย และ หลีกเลี่ยงหุ้น กลุ่มเทคโนโลยี , กลุ่มสุขภาพ และธนาคาร

             ตราสารหนี้ สัดส่วนลงทุน 10-20% เน้นตราสารหนี้อายุ 2 ปี ซึ่งให้ผลตอบแทนดีกว่าตราสารหนี้ระยะสั้น

             ทองคำ  สัดส่วนลงทุน 5-10%  เน้นลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยง

             อสังหาริมทรัพย์ สัดส่วนลงทุน 10% เน้นลงทุนอสังหาฯในประเทศไทย

             น้ำมัน สัดส่วนลงทุน 10% จับจังหวะช่วง OPEC ลดกำลังการผลิตน้ำมัน

             แนวโน้มการลงทุนในเดือนสุดท้ายของไตรมาสที่ 1 อาจปัจจัยสำคัญทำให้ตลาดแกว่งๆตัวบ้าง นักลงทุนควรติดตามข่าวสารการลงทุนให้มาก โดย KTBST เรามีข่าวสารและกลยุทธ์การลงทุนแนะนำเป็นประจำทางเว็บไซด์ www.ktbst.co.th และสามารถขอคำแนะนำจากที่ปรึกษาทางการเงินของเราได้ตลอดเวลา ซึ่งติดต่อได้ที่ KTBST 02-648 111