แนวโน้มค่าเงินบาท(2)

แนวโน้มค่าเงินบาท(2)

ผมมีความเห็นว่าเงินบาทนั้นจะถูกกำหนดค่าโดย 2 ปัจจัยหลักคือดุลบัญชีเดินสะพัดและอัตราเงินเฟ้อของไทยเทียบกับเงินเฟ้อในประเทศอื่นๆ

ซึ่งครั้งที่แล้วได้เขียนถึงดุลบัญชีเดินสะพัดโดยละเอียดแล้วมีใจความว่า

  • การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างมากมายและต่อเนื่องนั้น ย่อมจะทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างแน่นอน เพราะสะท้อนว่ามีความต้องการขายเงินดอลลาร์เพื่อซื้อเงินบาทมากกว่าขายเงินบาทเพื่อนำมาซื้อเงินดอลลาร์
  • การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมากบวกกับการมีทุนสำรองระหว่างประเทศจำนวนมหาศาลนั้น มองได้ว่าสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของประเทศ แต่ก็สามารถมองได้ว่าประเทศไทยมุ่งแต่จะเก็บเงิน ไม่ยอมใช้เงินทั้งๆ ที่คนไทยหลายกลุ่มยังขาดแคลนทรัพยากรอย่างมาก
  • ทางออกที่ดีคือการสร้างโอกาสเพื่อการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าในประเทศไทยแต่หากทำไม่ได้ก็มีทางเลือกเหลืออีกเพียง 2 ทางคือ ยอมให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งส่งออกลดและนำเข้าเพิ่ม เพื่อลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด หรือผลักดันให้เงินทุนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศอย่างต่อเนื่องและเพียงพอที่จะกลบการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเกือบทั้งหมด

หากดูตัวเลขย้อนหลังจะเห็นได้ว่าดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยเกินดุลเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด กล่าวคือ

- ช่วง 2004-2008 เกินดุลบัญชีเดินสะพัดประมาณ 11,200 ล้านเหรียญ

- ช่วง 2009-2013 เกินดุลบัญชีเดินสะพัด 36,550 ล้านเหรียญ

- ช่วง 2014-2018 เกินดุลบัญชีเดินสะพัด 183,370 ล้านเหรียญ

การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดดังกล่าวนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการเกินดุลการค้า ซึ่งสูงถึง 138,320 ล้านเหรียญในช่วง 2014-2018 เพราะต่างชาติก็ยังต้องการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก โดยเฉพาะในสินค้าประเภทปิโตรเคมี รถยนต์และอิเล็กทรอนิคส์ แต่ที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาคือการท่องเที่ยว ซึ่งเพิ่มขึ้นจากประมาณ 5% ของจีดีพีในช่วงต้นศตวรรษมาเป็น 15% ของจีดีพีในปัจจุบัน และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ดุลบริการ ซึ่งเดิมทีเคยขาดดุลประมาณปีละ 10,000 ล้านเหรียญมาเกินดุลปีละประมาณ 12,000 ล้านเหรียญ การท่องเที่ยวนี้มีส่วนในการกดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักที่ไทยค้า-ขายด้วย แข็งค่าขึ้นประมาณ 13% กล่าวคือดัชนี NEER (nominal exchange rate) เพิ่มขึ้นจาก 103.42 ในเดือนธันวาคม 2013 มาเป็น 117.17 ในเดือนธันวาคม 2018

  1. ค่าเงินบาทกับอัตราเงินเฟ้อนอกจากดุลบัญชีเดินสะพัดแล้ว อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทย เมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อของประเทศอื่นๆ ก็มีความสำคัญต่อค่าเงินบาทเช่นกัน กล่าวคืออัตราเงินเฟ้อคือการเสื่อมค่าของเงินในประเทศ เช่น เงินเฟ้อในสหรัฐ (วัดจากการเปลี่ยนแปลงของ CPI) เท่ากับ 2.4% ในปี 2018 แปลว่าเงินสหรัฐเสื่อมค่าลง (เพราะราคาสินค้าโดยรวมเพิ่มขึ้น) 2.4% ในปีดังกล่าว อัตราเงินเฟ้อในปี 2018 ของประเทศ 5 กลุ่ม ในปี 2018 ประกอบด้วย

-ประเทศพัฒนาแล้ว 2.0%  

-ประเทศตลาดเกิดใหม่ 4.9%  

-ประเทศตลาดเกิดใหม่เอเชีย 3.0% 

-ประเทศญี่ปุ่น 1.2%  

-ประเทศ 1.1%

จะเห็นได้ว่าเงินเฟ้อของไทยต่ำที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศสำคัญๆ ที่ไทยค้า-ขายด้วยในปีที่แล้ว ซึ่งในหลักการนั้น หากประเทศอื่นๆ มีเงินเฟ้อเฉลี่ย 3% ต่อปี แต่ไทยมีเงินเฟ้อเฉลี่ย 1% ต่อปี ก็จำเป็นที่เงินบาทจะต้องแข็งค่าขึ้นเฉลี่ย 2% ต่อปี เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ เพื่อให้เกิดความคงที่ของกำลังซื้อ (purchasing power parity) ทั้งนี้ธนาคารกลางสหรัฐยึดถือเป้าเงินเฟ้ออย่างค่อนข้างเคร่งครัด (ในทางปฏิบัติ) ที่ 2% ต่อปี แม้ว่าจะไม่ได้กำหนดเป้าหมายเอาไว้อย่างเป็นทางการ กรณีของไทยนั้นมีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการเงินเฟ้อที่ 2.5% ต่อปี แต่ในทางปฏิบัติปรากฏว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานั้น เงินเฟ้อรวมทั้งสิ้นเพียง 1% กล่าวคือ เกือบจะไม่มีเงินเฟ้อเลย (ดัชนี CPI ของไทยอยู่ที่ 100.2 ในปี 2016 และ 101.9 ในปี 2018) ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานั้น เงินบาทแข็งค่า 8.4% เทียบกับเงินดอลลาร์ ซึ่งส่วนสำคัญส่วนหนึ่งเป็นเพราะ เงินเฟ้อไทยเกือบจะไม่มี แต่สหรัฐมีเงินเฟ้อรวมกันประมาณ 6% ในช่วงเวลาดังกล่าว สำหรับประเทศอื่นๆ ที่เงินเฟ้อสูงกว่าไทยนั้น ค่าเงินของเขาอ่อนลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ เช่น 

- รูเปีย อินโดนีเซีย อ่อนค่า 7.2%  

- เปโซ ฟิลิปปินส์ อ่อนค่า 11% 

- ดอลลาร์ ฮ่องกง อ่อนค่า 1%  

- ปอนด์ อังกฤษ อ่อนค่า 1.5% 

- รูปี อินเดีย อ่อนค่า 1.8%  

มีสกุลเงินที่แข็งค่าเมื่อเปรียบเทียบกับดอลลาร์ คือเงินหยวนของจีน 0.3% เหรียญออสเตรเลีย 0.4% เหรียญสิงคโปร์ 2.3% และริงกิตมาเลเซีย 2.5% แต่ก็ยังน้อยกว่าเงินบาทมาก ประเทศที่เงินแข็งค่าขึ้นใกล้เคียงกับไทยมีอัตราเงินเฟ้อต่ำ เช่น ไต้หวันและเกาหลีใต้ (เงินแข็งค่าขึ้น 6.2% และ 5% ตามลำดับ)

ดังนั้น หากประเทศไทยมีความต้องการที่จะควบคุมเงินบาทไม่ให้แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง ควบคุมเงินเฟ้อให้เป็นไปตามเป้าเงินเฟ้อที่กำหนดเอาไว้ กล่าวคือผมเชื่อว่า หากเงินเฟ้อของไทยเท่ากับ 2.5% ต่อปีอย่างต่อเนื่องและสหรัฐก็ยังคงเป้าเงินเฟ้อเอาไว้ที่ 2% ต่อปี ก็ยากที่เงินบาทจะแข็งค่าเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐอย่างต่อเนื่อง เพราะแม้ว่าไทยจะต้องเผชิญกับ e-commerce หรือราคาน้ำมันที่ลดต่ำลง ราคาอาหารสดที่ต่ำเกินคาด หรือสังคมสูงอายุ แต่ประเทศอื่นๆ รวมทั้งสหรัฐก็น่าจะกำลังเผชิญปัญหาเดียวกันกับไทยครับ