สัญญาณเตือนจากตลาดตราสารหนี้

สัญญาณเตือนจากตลาดตราสารหนี้

กำไรปี 2562 ของบริษัทจดทะเบียนไทย เริ่มถูกปรับลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี

ประมาณการกำไรปี 2562 ของบริษัทจดทะเบียนไทย เริ่มถูกปรับลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2562 เป็นต้นมา (เป็นไปตามที่ผมคาดไว้ และเคยเขียนในคอลัมน์ 'เปิดมุมมองการลงทุนใหม่ ไปกับ KGI: The Good, The Bad, and The Ugly' เมื่อต้นปีที่ผ่านมา) และล่าสุดประมาณการกำไรปี 2562 ของบริษัทจดทะเบียนถูกปรับลงมาแล้ว 4.2% YTD (เทียบกับเมื่อต้นปี) และคาดว่าประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนจะยังไม่นิ่งจนกว่าการประชุมนักวิเคราะห์หลังการรายงานผลประกอบการประจำปี 2561 จะสิ้นสุดลง ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงปลายเดือน มี.ค.-ต้นเดือน เม.ย.นี้ โดยล่าสุด EPS ของ SET index ใน Bloomberg consensus อยู่ที่ 110 บาท/หุ้น สำหรับวันนี้ผมอยากจะแชร์ข้อมูลที่น่าสนใจจากฝั่งตลาดตราสารหนี้ที่อาจนำมาใช้ประกอบการพิจารณาการลงทุนในตลาดหุ้นได้ ก็คือ

1)Term Spread (หรือการดู Yield Curve ที่ผมเคยเขียนถึงไว้ก่อนหน้านี้นั่นเอง) และ 2) Default Spread หรือ ส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนจากหุ้นกู้เรตติ้ง BBB และ AAA  1)Term spread หรือ ส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนจากพันธบัตรระยะยาว (อายุ 10 ปี) และพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น (อายุ 3 เดือน) ซึ่งประเด็นเรื่อง Term Spread หรือ ที่เป็นประเด็นตามหน้าข่าวเศรษฐกิจตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเรื่องของ Inverted Yield Curve หรือ Flat Yield Curve นั่นเอง และผมเองได้เคยเขียนอธิบายประเด็นนี้ไปแล้ว จึงจะไม่ขออธิบายเพิ่มเติมในบทความนี้ เพื่อที่จะให้พื้นที่บทความกับอีกชุดข้อมูลที่น่าสนใจที่จะนำเสนอวันนี้นะครับ ... ทั้งนี้ข้อมูล Probability of Recession ของเศรษฐกิจสหรัฐฯในอีก 12 เดือนข้างหน้า พยากรณ์โดย เฟด สาขานิวยอร์ก ล่าสุดข้อมูลวันที่ 4 ก.พ. อยู่ที่ 23.6% ยังทำจุดสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง นับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2551 เป็นต้นมา ...  

2) Default Spread หรือ ส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนหุ้นกู้เรตติ้ง BBB และเรตติ้ง AAA ซึ่งนักวิชาการส่วนใหญ่จะนำมาใช้เป็นตัวชี้วัดวัฏจักรเศรษฐกิจ (เช่น Fama and French, 1989, Business Conditions and Expected Returns on Stocks and Bonds, Journal of Financial Economics) โดยเราสามารถวิเคราะห์วัฏจักรเศรษฐกิจได้โดยชุดข้อมูลนี้ โดยตามหลักการแล้ว เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว นักลงทุนจะเรียกร้องส่วนชดเชยความเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะจากสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงเช่นหุ้นกู้เรตติ้ง BBB โดยที่นักลงทุนจะเรียกร้องส่วนชดเชยความเสี่ยงจากหุ้นกู้เรตติ้ง AAA เพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่จะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่า จึงทำให้ส่วนต่างหรือ Default Spread เพิ่มสูงขึ้น ในทางกลับกันเมื่อเศรษฐกิจขยายตัว นักลงทุนจะเรียกร้องส่วนชดเชยความเสี่ยงที่ลดลง โดยเฉพาะจากสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงเช่นหุ้นกู้เรตติ้ง BBB และจะเรียกร้องส่วนชดเชยความเสี่ยงจากหุ้นกู้เรตติ้ง AAA ลดลงเช่นกัน แต่จะลดลงในอัตราที่ต่ำกว่า จึงทำให้ส่วนต่างหรือ Default Spread ลดต่ำลง 

ดังนั้นโดยสรุปแล้วเมื่อ Default Spread ทำจุดสูงสุด อาจแปลความหมายได้ว่า เศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงท้ายของวัฏจักรขาลง และในทางกลับกัน เมื่อ Default Spread ทำจุดต่ำสุด อาจแปลความหมายได้ว่า เศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงท้ายของวัฏจักรขาขึ้น และ Fama and French, 1989 ได้อธิบายการนำชุดข้อมูล Default Spread มาประยุกต์ใช้กับตลาดหุ้นได้น่าสนใจคือ ความสามารถในการพยากรณ์อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นของ Default Spread นั้น คล้ายคลึงกับ Dividend yield คือ เมื่อไหร่ที่ Default Spread หรือ Dividend yield ทำจุดสูงสุด แสดงว่าตลาดหุ้นใกล้ถึงจุดต่ำสุด (น่าซื้อหุ้น) ในทางกลับกัน เมื่อไหร่ที่ Default Spread หรือ Dividend yield ทำจุดต่ำสุด แสดงว่าตลาดหุ้นใกล้ถึงจุดสูงสุด (ไม่น่าซื้อหุ้น) 

สำหรับข้อมูล Default Spread ของไทย ล่าสุดที่ผมเก็บข้อมูลเมื่อสิ้นเดือน ก.พ.2562 เป็นแนวโน้มขาลงมาต่อเนื่องตั้งแต่เดือน พ.ค.2561 และเริ่มฟื้นขึ้นมาในเดือน ม.ค.-ก.พ.2562 แปลความหมายได้ว่า วัฏจักรเศรษฐกิจของไทยอาจพ้นจุดสูงสุดมาแล้ว ก็เป็นได้ และชี้ว่าตลาดหุ้นไทยในขณะนี้นั้น อาจไม่น่าสนใจลงทุนเท่าไหร่นักสำหรับนักลงทุนระยะยาว ซึ่งสอดคล้องกับชุดข้อมูล Term Spread ของสหรัฐฯ ที่พยากรณ์ Probability of Recession ของเศรษฐกิจสหรัฐฯในอีก 12 เดือนข้างหน้าพุ่งสูงขึ้นเช่นกัน 

อย่างไรก็ดี ผมประเมินว่าแม้ชุดข้อมูลจากตลาดตราสารหนี้ อาจส่งสัญญาณเตือนที่ไม่เป็นผลดีเท่าไหร่นักกับการลงทุนในตลาดหุ้นไทย แต่เชื่อว่า Valuation ของ SET index ในขณะนี้นั้น ยังอยู่ในระดับที่สามารถลงทุนได้ แม้จะไม่ได้ถูกมากเช่นในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากประมาณการ EPS ปี 2562 ถูกปรับลงมา และสถานการณ์เม็ดเงิน Fund Flow ในระยะสั้นยังไม่หนุนตลาดหุ้นไทยมากนัก

ดังนั้นจึงแนะนำนักลงทุนพิจารณาเลือกหุ้นพื้นฐานเป็นรายตัวที่แนวโน้มผลการดำเนินงานจะพลิกฟื้น หรือ ดีต่อเนื่องได้ใน 1Q62 เป็นหลัก และสำหรับการลงทุนระยะสั้น อาจต้องเพิ่มความระมัดระวังแรงขายทำกำไรหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมามาก (นักลงทุนสามารถดูราคาเหมาะสมของหุ้นรายตัวที่ฝ่ายวิจัยฯออกบทวิเคราะห์ได้ในเว็บไซต์ของ KGI: www.kgieworld.co.th)