การแก้ไขรัฐธรรมนูญเมียนมา: อีกหนึ่งเกมทางการเมือง

การแก้ไขรัฐธรรมนูญเมียนมา: อีกหนึ่งเกมทางการเมือง

เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังรัฐสภาเมียนมาเปิดประชุมสมัยสามัญที่ 11 เมื่อกลางเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา

อู ออง จี นุ้น สมาชิกสภาชาติพันธุ์ สังกัดพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ผู้ซึ่งเคยสร้างความฮือฮามาแล้ว เมื่อครั้งเป็นผู้ร่างและเสนอกฎหมาย “ที่ปรึกษาแห่งรัฐ” จนสามารถผลักดันให้นางอองซานซูจี ก้าวขึ้นมาครองตำแหน่งสำคัญเทียบเท่าผู้นำของเมียนมา ได้เสนอญัตติเร่งด่วนเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2008

ข้อเสนอดังกล่าวได้รับเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากสมาชิกของพรรค และพรรคชาติพันธุ์แนวร่วมต่างๆ โดยจะมีสมาชิก 45 คนตามสัดส่วนของพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคเอ็นแอลดี กล่าวว่า ต้องการให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเริ่มจากการหารือร่วมกันของทุกฝ่าย รวมถึงสมาชิกรัฐสภาที่มาจากกองทัพ แม้ว่าข้อเสนอจะยังไม่ได้ระบุแน่ชัดถึงประเด็นในรัฐธรรมนูญที่ต้องการแก้ไข หรือขั้นตอนที่เกี่ยวข้องต่างๆ แต่ก็เป็นความท้าทายเพียงพอที่ทำให้กองทัพและพรรคฝ่ายค้าน อย่างพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (ยูเอสดีพี) ไม่พอใจและบอยคอตเข้าร่วมประชุมสภาในวันถัดมา

นี่ไม่ใช่งานง่ายของพรรคเอ็นแอลดี เพราะมาตรา 436 ของรัฐธรรมนูญกำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภามากกว่า 75% ในขณะที่กองทัพยังคงครองที่นั่ง 25% และในกรณีของมาตราสำคัญๆ เช่น หมวดหลักการพื้นฐานแห่งรัฐ (มาตราที่ 1 ถึง 48) และคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ที่ห้ามผู้ที่สมรสหรือมีทายาทเป็นชาวต่างชาติรับตำแหน่ง (มาตรา 59 (f) ) จะต้องได้รับการรับรองผ่านการลงประชามติจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกินกว่ากึ่งหนึ่งด้วย

ทั้งๆ ที่รู้ว่าโอกาสแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราสำคัญๆ เกือบจะเป็นศูนย์ พรรคเอ็นแอลดียื่นข้อเสนอดังกล่าวไปเพื่ออะไรและทำไมจึงทำในตอนนี้ นี่ก็เป็นความพยายามครั้งแรกของพรรคหลังได้รับโอกาสเป็นรัฐบาลมาตั้งแต่ปี 2016 ความเคลื่อนไหวยิ่งน่าคิดและติดตาม

การแก้ไขรัฐธรรมนูญเมียนมา: อีกหนึ่งเกมทางการเมือง

พรรคเอ็นแอลดีรื้อฟื้นข้อเสนอขึ้นอีกครั้ง เพื่อรักษาจุดยืนที่ถือมาโดยตลอดว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับทหารนี้ ทั้งเรื่องคุณสมบัติของประธานาธิบดี อำนาจและหน้าที่ของผู้บัญชาการทหารสูงสุด สมาชิกภาพของกองทัพที่ได้รับการจัดสรรที่นั่งในรัฐสภา ตลอดจนข้อจำกัดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งหมดนี้ต่างเป็นร่องรอยอิทธิพลของกองทัพที่ “ถูกทำให้เป็นสถาบัน” ภายใต้โครงสร้างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2008 ซึ่งพรรคเอ็นแอลดีแทบจะไม่เคยมีส่วนในกระบวนการร่างเลย

ข้อเสนอจึงเป็นเสมือนการสานต่อวาทกรรม “ฝ่ายประชาธิปไตย” ที่ตอกย้ำความเป็นตัวตนของพรรคและของผู้นำพรรคอย่างนางซูจี และมีความชัดเจนมากขึ้น เมื่อข้อเสนอดังกล่าวถูกยกขึ้นภายหลังที่ศาลตัดสินประหารชีวิตมือสังหาร อู โกนี นักกฎหมายชาวมุสลิม ผู้ซึ่งมีบทบาทอย่างมากต่อการเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ความเคลื่อนไหวเป็นหนึ่งในความพยายามที่ต้องการสร้างผลงานทางการเมือง ท่ามกลางข้อวิพากษ์วิจารณ์ทั้งจากภายในและภายนอกที่ผิดหวังกับแนวทางการบริหารประเทศของพรรค อาทิ สถานการณ์และความรุนแรงในรัฐยะไข่ การละเมิดสิทธิเสรีภาพของสื่อ และการจัดการกับความเห็นต่างภายในพรรคเอ็นแอลดีเอง ซึ่งกลายเป็นหอกข้างแคร่ทิ่มแทงรัฐบาลในช่วงปีที่ผ่านมา และสิ่งที่น่าจะเป็นข้อคิดเห็นที่จี้ใจดำที่สุดคือ รัฐบาลที่แล้วภายใต้การนำของพรรคยูเอสดีพีกลับมีชั้นเชิงในการปฏิรูปประเทศสู่ประชาธิปไตยมากกว่า

การ “ชู” ประเด็นรัฐธรรมนูญจึงสามารถอุดรอยรั่วของรัฐบาลที่กำลังใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้การบริหารประเทศที่กระท่อนกระแท่น เพื่อสร้างแนวร่วมทางการเมืองทั้งในและนอกสภาก่อนการเลือกตั้งในปี 2020 ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เราเห็นพลังในสภาพที่พร้อมเดินหน้าท้าทายกองทัพ และเราก็เห็นการเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่ไม่สามารถมองข้ามไปได้

ข้อเสนอของพรรคเอ็นแอลดี ที่อาจเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ แต่สามารถสร้างแรงกดดันทางการเมืองให้แก่กองทัพได้อย่างไม่ต้องสงสัย รอยแตกร้าวภายในกองทัพเพียงนิดเดียว อาจทำให้เกิดการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิด หน้าที่ของพรรคเอ็นเอลดีคือการ “ชง” แรงเสียดทานไปเรื่อยๆ ประหนึ่งเป็นยุทธวิธีที่ไม่มีอะไรจะเสีย ถ้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นจริง นั่นก็เป็นเครดิตของพรรคเอ็นเอลดี แต่หากทำไม่สำเร็จแรงเสียดทานก็จะหวนไปที่กองทัพเช่นเคย

ดังนั้นข้อเสนอจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เป็นเพียงอีกเกมทางการเมืองหนึ่งที่เกิดขึ้นในห้วงการพัฒนาสู่ประชาธิปไตยของเมียนมา เป็นเกมที่ครั้งหนึ่งพรรคยูเอสดีพีก็เคยใช้ เพื่อสร้างฐานสนับสนุนทางการเมืองก่อนการเลือกตั้งในปี 2015 ถึงแม้ว่าโอกาสและความสุ่มเสี่ยงแห่งการเผชิญหน้าจะยังคงมีอยู่มาก 

แต่อย่างน้อยเกมนี้ก็ยังมีพื้นที่สำหรับการประนีประนอม เนื่องจากทุกฝ่ายต่างรู้ดีถึงจุดยืนและข้อจำกัดของตนเอง ความคาดหวังต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงจะยังคงไม่ใช่เรื่อง “สารถะหลัก” ที่กองทัพจะลดบทบาททางการเมืองของตนลง แต่เป็นความหวังต่อการมีความเห็นร่วมกันของรัฐสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝากฝั่งของกองทัพที่จะยอมผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญในบางมาตรา เพื่อสร้างระบอบการปกครองที่สนับสนุนประชาธิปไตยมากขึ้น อาทิ การแบ่งอำนาจของประธานาธิบดีสู่รัฐบาลและรัฐสภาระดับรัฐและภาค และการเพิ่มบทบาทของประชาชนในการเลือกมุขมนตรี เป็นต้น นั่นเอง

โดย... 

ผศ.ดร.ม.ล.พินิตพันธุ์ บริพัตร

ผู้ประสานงานร่วมชุดโครงการ “จับตาอาเซียน” (ASEAN Watch)

ฝ่าย 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)