ทางออกท่ามกลางความผันผวน

ทางออกท่ามกลางความผันผวน

จากฉบับก่อนที่ผมได้เสนอมุมมองการลงทุน ซึ่งจะช่วยลดความผันผวนของตลาดโดยการพิจารณาคัดเลือกหุ้น

โดยเฉพาะเลือกลงทุนในหุ้นที่มีผลการดำเนินงานดี หุ้นขนาดใหญ่ และมีอัตราการจ่ายเงินปันผลที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหุ้น  ซึ่งเป็นกลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมสำหรับตลาดหุ้นช่วงนี้ หรือ เรียกให้เข้าใจง่ายๆคือ การลงทุนเน้นหุ้นปันผล (Dividend stocks) เพื่อสร้างกระแสเงินสดให้พอร์ตการลงทุน แต่การเฟ้นหาหุ้นปันผลดี ๆ ควรทำอย่างไรนั้น บทความฉบับนี้ขอแบ่งปันหลักการง่าย ๆ 3 ข้อ ดังต่อไปนี้

ประการแรก ซึ่งสำคัญที่สุด คือ “เข้าใจธุรกิจและแนวโน้มกำไรของบริษัท” เพราะโดยปกติแล้ว ผลการดำเนินงานและเงินปันผลจ่ายจะมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ ธุรกิจที่กำไรอยู่ในช่วงขาขึ้น มักจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นมากขึ้น

หากใช้ปัจจัยเชิงวัฏจักรประกอบการวิเคราะห์ จะพบว่าธุรกิจกลุ่มน้ำมัน ปิโตรเคมีภัณฑ์ อสังหาริมทรัพย์ และวัสดุก่อสร้าง มักมีกำไรเพิ่มสูงขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจขยายตัว และมีโอกาสเห็นกำไรหดตัวหรือขาดทุนถ้าเศรษฐกิจเซื่องซึม แต่ธุรกิจกลุ่มสาธารณูปโภค (Utilities) อาทิ ไฟฟ้า น้ำประปา รถไฟฟ้า โทรคมนาคม

รวมถึงกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน กลับเป็นกลุ่มที่น่าสนใจหากเศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัว เนื่องจากรายได้มีสม่ำเสมอ และกำไรไม่ค่อยไหวอิงตามภาวะเศรษฐกิจมากนัก อย่างไรก็ดี ต้องไม่ลืมพิจารณานโยบายจ่ายเงินปันผล ภาระหนี้ และแผนการลงทุนของบริษัทด้วย ซึ่งอาจทำให้ได้อัตราปันผลจ่าย (Dividend yield) น้อยกว่าที่เราคาดหวังไว้

ประการที่สอง ต้องจำขึ้นใจว่า “อย่าลุ่มหลงกับอัตราปันผลจ่ายที่สูง” เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่มักเริ่มต้นด้วยวิธีเรียงลำดับ Dividend yield ของหุ้นในตลาด แล้วคัดเลือกหุ้นที่มีอัตราเงินปันผลสูง ๆ แต่อาจลืมคิดว่า นอกจากกำไรบริษัทแล้ว การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นก็มีผลต่อ Dividend yield เช่นกัน แต่เป็นในทิศทางตรงกันข้าม

ยกตัวอย่าง ในปี 2561 บริษัท ก. ดำเนินกิจการได้ไม่สู้ดีนัก ผู้บริหารจึงตัดสินใจแบ่งกำไรสะสมบางส่วนออกมาจ่ายเป็นเงินปันผล 15 บาทต่อหุ้น เพื่อประคองราคาหุ้น ก. ที่ปรับตัวลงจาก 200 เหลือ 150 บาท (อัตราเงินปันผลจ่ายร้อยละ 10) ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ร้อยละ 5 ทำให้ Dividend yield สูงเป็นพิเศษ ลักษณะเช่นนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นกับดัก (Dividend trap)

ประการสุดท้าย แต่ไม่ท้ายสุด คือ “ประเมินมูลค่าพื้นฐานและสภาพคล่อง” เนื่องจากราคาหุ้นที่เต็มมูลค่าพื้นฐาน มีโอกาสปรับตัวย่อลงมาจนไม่คุ้มค่ากับอัตราเงินปันผลที่ได้รับ โดยเฉพาะหุ้นที่มีสภาพคล่องต่ำ แนะนำให้ควรหลีกเลี่ยงอย่างยิ่ง

จากที่ได้กล่าวมาข้างต้น สังเกตว่า การลงทุนเน้นหุ้นปันผล เป็นแนวทางหนึ่งที่เหมาะสมสำหรับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่มีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง เพราะสามารถช่วยลดความผันผวนของพอร์ตด้วยการสร้างกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ แม้ว่าการเลือกหุ้นที่มีผลการดำเนินงานดี หุ้นขนาดใหญ่ และมีแนวโน้มจ่ายเงินปันผลที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด อาจไม่ใช่เรื่องยาก แต่ความสำเร็จของการลงทุนขึ้นอยู่กับเป้าหมายและวินัยของนักลงทุนเป็นสำคัญ

.. ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน