เศรษฐกิจแดนมังกร: ผงาดวันนี้ หงอยวันพรุ่ง

เศรษฐกิจแดนมังกร: ผงาดวันนี้ หงอยวันพรุ่ง

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เหมือนฟ้าจะเปิดให้จีน หลังจากสัญญาณเศรษฐกิจรวมถึงตัวเลขตลาดเงินตลาดทุนจีนตกต่ำรุนแรงในปีที่แล้ว

แต่ในปีนี้ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญเหมือนจะดูดีขึ้น

เช่น (1) สินเชื่อเดือน ม.ค. ที่ขยายตัวสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 3.23 ล้านล้านหยวน (2) มูลค่าการส่งออก ที่เติบโต 9.1% ต่อปี สูงกว่าคาดการณ์ที่คิดว่าจะหดตัว 3.3% ต่อปี และ (3) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่แม้ภาพรวมจะยังแย่ แต่องค์ประกอบสำคัญ เช่น ดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ เริ่มปรับตัวดีขึ้นบ้าง

ยังไม่นับรวม 3 ข่าวดีล่าสุด อันได้แก่ (1) ทรัมพ์อาจยกเลิกภาษีสินค้านำเข้าจากจีน (2) ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ทำให้สภาพคล่องโลกมีมากขึ้น ลดความตึงตัวทางการเงินลง และ (3) บริษัทจัดทำดัชนีหุ้นชั้นนำของโลก MSCI ได้เพิ่มสัดส่วนหุ้นจีนในดัชนีตลาดเกิดใหม่ ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าหุ้นจีนมากขึ้น

แต่ผู้เขียนมองว่าเศรษฐกิจจีน แม้ว่าจะเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นใน 3-6 เดือนข้างหน้า แต่ยังจะชะลอตัวต่อเนื่อง และโอกาสที่จะผงาดขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในโลกจะยากขึ้น จากสัญญาณเสี่ยงใน 3 ภาคธุรกิจหลักของจีนเป็นอย่างน้อย

ภาคแรก ได้แก่ ภาคการผลิต ถึงแม้ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงจะสัญญาว่าจะให้ระบบตลาดมีความสำคัญมากขึ้น โดยจะเปิดเสรีในอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ แต่กลับเป็นว่าบทบาทของรัฐวิสาหกิจ (State-owned Enterprise: SOEs) ในเศรษฐกิจกลับมากขึ้น โดยกว่า 70% ของสินเชื่อที่ปล่อยโดยสถาบันการเงินจีนกลับปล่อยให้กับ SOEs

ที่ผ่านมา จีนพัฒนาเศรษฐกิจผ่านระบบ “ทุนนิยมโดยรัฐผ่าน 3 เครื่องมือ คือ (1) ที่ดิน (2) หนี้ และ (3) ค่าน้ำร้อนน้ำชา โดยที่ผ่านมา รัฐบาลท้องถิ่นจะให้เอกชนเข้ามาประมูลที่ดินระยะยาวเพื่อพัฒนา โดยจะจัดตั้งบริษัทเฉพาะกิจเพื่อร่วมทุน (Joint Venture: JV) กับเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่เอกชนที่จะเข้ามาได้ก็ต้องจ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชา รวมถึง “ดูแล” ข้าราชการท้องถิ่นเหล่านั้นอย่างดี

หลังจากเข้ามาประมูลได้ บริษัท JV ดังกล่าวก็จะทำการกู้เงินกับธนาคารของรัฐเพื่อระดมทุน ดังนั้น ดอกเบี้ยของสินเชื่อที่ให้กับบริษัทของรัฐจึงถูกเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยธนาคารที่ให้กับภาคเอกชน (หรือที่เรียกว่า financial repression)

การปล่อยกู้ที่เน้นความสัมพันธ์มากกว่าศักยภาพธุรกิจเช่นนี้ ทำให้หนี้ภาคเอกชนจีน (ซึ่งส่วนใหญ่แฝงโดยเป็นหนี้ของ SOEs) เพิ่มขึ้นมาก โดยปัจจุบันอยู่ในระดับเดียวกับสวีเดนและฟินแลนด์ และสูงกว่าสหรัฐและสิงคโปร์ และทำให้ SOEs มีสัดส่วนที่ใหญ่ในระบบเศรษฐกิจมากขึ้นตามสูตร “56789” ที่ทางการจีนใช้เป็นมาตรวัดความสำคัญ กล่าวคือ มีสัดส่วนกว่า 50% ของรายได้จากภาษี, มีขนาดเป็น 60% ของ GDP, 70% ของนวัตกรรมที่จดลิขสิทธิ์, 80% ของการจ้างงาน และ 90% ของจำนวนบริษัททั้งหมดในจีน

แม้จะมีขนาดใหญ่ แต่ผลตอบแทนของสินทรัพย์ (ROA) ของ SOEs จีนต่ำมาก โดยอยู่ที่ 4.4% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธุรกิจที่เป็นเอกชนจริง ๆ ที่ 8.96% ทั้งหมดนี้บ่งชี้ว่าหากรัฐบาลจีนไม่เปลี่ยนโมเดลเศรษฐกิจนี้อย่างจริงจัง ก็ยากที่เศรษฐกิจจีนจะก้าวข้ามผ่าน “กับดักรายได้ปานกลาง” ขึ้นเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้

ภาคที่สอง ได้แก่ ภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยหนึ่งในโมเดลการพัฒนาของจีนคือการกระตุ้นภาคอสังหาฯ ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยแพงขึ้นมาก และทำให้ประชาชนชั้นกลาง--หนุ่มสาวที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานไม่สามารถซื้อได้ หรือหากซื้อได้ก็จะต้องจ่ายค่างวดรายเดือนสูงมาก

เมื่อเศรษฐกิจเริ่มแย่ลงในปีที่ผ่านมา ประกอบกับภาครัฐเริ่มออกมาตรการคุมเข้มภาคอสังหาฯ ทำให้ยอดขายทั่วประเทศลดลงมาก (โดยเฉพาะเมืองอันดับ 2 และ 3) โดยในปีที่ผ่านมายอดขายทั่วประเทศลดลงต่ำกว่า 44% และราคาในบางเมืองลดลงมากกว่า 20% ซึ่งส่งผล 3 ประการคือ

(1) ทำให้ยอดบ้านคงค้างเพิ่มขึ้นถึงกว่า 21% ของบ้านในเขตเมือง

(2) ทำให้การบริโภคลดลง ผ่านความมั่งคั่งของประชาชนลดลง โดยกว่า 80% ของสินทรัพย์ของประชาชนจีน (ประมาณ 65 ล้านล้านดอลลาร์) อยู่ในที่อยู่อาศัย นอกจากนั้น สินเชื่อที่อยู่อาศัยก็มีสัดส่วนเกินครึ่งของสินเชื่ออุปโภคบริโภค การที่ผู้กู้ต้องจ่ายค่างวดจำนวนมาก ทำให้ผู้บริโภคมีเงินเหลือไปบริโภคสินค้าอื่นน้อยลง และ

(3) ทำให้ความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ (Default) ของบริษัทพัฒนาอสังหาฯ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อดอกเบี้ยโลกเริ่มตึงตัว โดย 4 ใน 13 ของบริษัทอสังหาฯ ขนาดใหญ่ที่บริษัท S&P’s จัดอันดับความน่าเชื่อถือนั้นอยู่ในระดับ CCC (หรือ Junk Status)

ทั้งนี้ เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำในปัจจุบัน ทางการจีนโดยเฉพาะรัฐบาลท้องถิ่นก็เริ่มผ่อนคลายกฎระเบียบให้ประชาชนสามารถซื้อเก็งกำไรได้ง่ายขึ้น ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า มาตรการเหล่านี้อาจช่วยให้ราคาบ้านทรงตัวในระยะต่อไป แต่ความเสี่ยงฟองสบู่ก็จะกลับมามากขึ้นอีกครั้ง

ภาคสุดท้าย ได้แก่ภาคการบริโภค โดยแม้ว่าการเปลี่ยนโมเดลเศรษฐกิจของจีนจากการผลิตเพื่อส่งออก เป็นการเน้นการบริโภคในประเทศตั้งแต่ศตวรรษที่ 90 จะเป็นประโยชน์ แต่ในระยะต่อไปภาคการใช้จ่ายของจีนจะเผชิญกับ 3 ความเสี่ยงสำคัญ  คือ

(1) ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจทั้งจากภายนอกและในประเทศที่มากขึ้น ทำให้ผู้คนเริ่มหันมาเก็บออมมากขึ้น โดยสัดส่วนการออมในปัจจุบันคิดเป็นถึงกว่า 35% ของรายได้ส่วนบุคคล เพิ่มขึ้นจากประมาณ 30% ในปี 2010

(2) การที่ภาครัฐจะหันมากระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้การลงทุนอีกครั้ง โดยสั่งให้รัฐบาลท้องถิ่นระดมทุนมากขึ้น จะทำให้การลงทุนกลับไปสู่ภาคที่ไม่ก่อให้เกิดผลิตภาพ (Non-productive Sector) โดยเฉพาะภาคอสังหาฯ อีกครั้ง ซึ่งอาจทำให้ตัวเลขระยะสั้น เช่น การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร (FAI) ดีขึ้น แต่ก็จะทำให้เกิดฟองสบู่อีกครั้ง และ

(3) ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นมีมากขึ้น โดยโมเดลการพัฒนาที่ผ่านมาเป็นการสนับสนุนผู้มีรายได้ปานกลางจนถึงสูงมากกว่ารากหญ้าในชนบท ซึ่งหากภาครัฐไม่สามารถผลักดันให้การกระจายรายได้ไปสู่ชนชั้นล่างนั้น ก็อาจฉุดรั้งการบริโภคโดยรวมต่อไป

กล่าวโดยสรุป แม้ว่าสัญญาณเศรษฐกิจแดนมังกรอาจจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นบ้างในระยะสั้น จากการผ่อนคลายของภาครัฐและข่าวดีจากภายนอก แต่จุดอ่อนภายในจีนเองที่จะกดดันให้เศรษฐกิจจีนไม่ถึงฝั่งฝัน

หาได้เกิดจากศัตรูภายนอกแต่อย่างใด

[ บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่ ]