ผู้นำประเทศที่ประชาชนต้องการ

ผู้นำประเทศที่ประชาชนต้องการ

การพัฒนาประเทศเป็นการเดินทางไกล เป็นผลของการทำงานร่วมกันของคนในสังคม เพื่อให้สังคมดีขึ้น ประชาชนมีความสุขและประเทศดีขึ้น ในทางเศรษฐกิจ

 การพัฒนาหมายถึงการมีกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ โครงสร้างพื้นฐาน สถาบันและแรงจูงใจที่สนับสนุนให้คนในประเทศขวนขวาย คิดค้น และพัฒนาตนเองเพื่อสร้างการเจริญเติบโตและความมั่งคั่งให้กับประเทศ ซึ่งบางสังคมทำได้ดี บางสังคมทำไม่ได้ และถ้าเราดูประวัติศาสตร์การพัฒนาของประเทศที่ประสบความสำเร็จ คือ พัฒนาประเทศได้ดี เช่น สิงคโปร์ จีน หรือออสเตรเลีย เราจะเห็นว่าประเทศเหล่านี้มักมีช่วงเวลาหนึ่งที่ประเทศได้ผู้นำที่สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญให้กับประเทศ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นฐานให้สังคมสามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็งในเวลาต่อมา ทำให้ความหมายแท้จริงของผู้นำ ไม่ไช่แค่การมีตำแหน่งหรือการอยู่ในตำแหน่ง แต่หมายถึง เป็นผู้ที่กล้าสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น กล้าแก้ไขปัญหาที่ประเทศมีที่ดูเหมือนจะแก้ไม่ได้ให้สำเร็จเพื่อปลดล็อกนำพาประเทศไปสู่เป้าหมายที่พึงปรารถนา นี่คือผู้นำประเทศที่แท้จริงที่ประชาชนที่เป็นผู้ตามต้องการ

ช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ทั้งสิงคโปร์ จีน และออสเตรเลียสามารถพัฒนาประเทศได้อย่างสำเร็จเหนือความคาดหมาย และความสำเร็จก็เป็นผลอย่างสำคัญของการได้ผู้นำประเทศในช่วงหนึ่งที่กล้าเปลี่ยนแปลงและวางรากฐานให้กับการเติบโตและการพัฒนาประเทศ กรณีสิงคโปร์ ประธานาธิบดี ลี กวน ยู ผู้นำประเทศวัย 39 ปี เมื่อปี 1965 ประกาศสร้างสิงคโปร์จากเกาะเล็กๆ ที่ไม่มีใครสนใจเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วบนพื้นฐานของความเป็นอธิปไตย ประชาธิปไตยและเสรีภาพ นำพาสิงคโปร์จากประเทศรายได้เฉลี่ยต่อหัว 500 เหรียญสหรัฐต่อปีเมื่อปี 1965 เป็น 57,722 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีในปี 2017 กรณีจีน จากวิสัยทัศน์ของนายเติ้ง เสี่ยว ผิง ปี 1978 ที่ต้องการสร้างสรรค์ประเทศจีนให้ทันสมัย ออกจากระบบสังคมนิยมสู่ประเทศจีนยุคใหม่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจกลไกตลาดซึ่งก็ทำได้อย่างสำเร็จ จากประเทศจีนที่มีรายได้ต่อหัวเพียง 165 เหรียญสหรัฐ มีความยากจนสูงถึงร้อยละ 31 ในเขตชนบทในปี 1978 เป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัว 10,099 เหรียญสหรัฐในปี 2017 และปัญหาความยากจนลดลงเหลือเพียงร้อยละ 1.7 กรณีออสเตรเลีย ก็ได้ประโยชน์จากการปฏิรูปเศรษฐกิจ ภายใต้รัฐบาลพรรคแรงงานของนายบ็อบ ฮอว์ก ปี 1983 ถึง 1991 และรัฐบาลนายพอล คีตติง ปี 1991 – 1996 ที่เปลี่ยนโฉมประเทศออสเตรเลียจากประเทศที่ถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีโชคจากทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ แต่ขาดศักยภาพเพราะความอ่อนแอของระบบการเมืองและเศรษฐกิจในขณะนั้น มาเป็นประเทศพัฒนาแล้วอันดับที่ 10 ของโลกในปี 2019 ทั้งในแง่รายได้ต่อหัวและความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งสามกรณี คือตัวอย่างของความสำเร็จที่เกิดจากผู้นำประเทศที่กล้าเปลี่ยนแปลง กล้าทำ และสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญให้กับประเทศ

ในแง่ของความเป็นผู้นำ ทั้งนายลี กวนยู นายเติ้ง เสี่ยวผิง นายบ็อบ ฮอว์กและนายพอล คีตติง มีบางสิ่งบางอย่างที่คล้ายกัน อันดับแรก ทุกคนมีวิสัยทัศน์ที่แปลออกมาเป็นความต้องการชัดเจนในทิศทางที่จะนำพาประเทศไปสู่ในฐานะผู้นำประเทศ สอง มีความสามารถในการสร้างความเข้าใจและปลุกเร้าให้คนในประเทศ มองเห็นสิ่งที่เป็นเป้าหมายที่จะไปข้างหน้าได้อย่างชัดเจนเพื่อให้ทุกคนเดินตาม ซึ่งในกรณีของจีน หมายถึงการเปลี่ยนความคิดของประชาชนเกือบ 2 พันล้านคนที่ต้องพร้อมใจกันเดินออกจากระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และ สาม ความไว้วางใจ หรือ Trust ที่ประชาชนมีต่อผู้นำประเทศ มีความเชื่อและศรัทธาในความตั้งใจ ความทุ่มเท และความสุจริตของผู้นำในการทำหน้าที่ขับเคลื่อนเป้าหมายที่มีอยู่ให้เกิดความสำเร็จ นี่คือความแตกต่างระหว่างผู้นำในตำแหน่งกับผู้นำที่ประชาชนพร้อมสนับสนุนและเดินตาม

สำหรับประเทศไทยปัจจุบัน กรณีของเราน่าจะเทียบเคียงได้กับประเทศออสเตรเลีย เมื่อสามสิบปีก่อน ช่วงสมัยรัฐบาลพรรคแรงงาน ปี 1983 – 1996 ที่การปฏิรูปเศรษฐกิจจำเป็นมากต่อการสร้างระบบเศรษฐกิจออสเตรเลียให้มีประสิทธิภาพ แข่งขันได้กับต่างประเทศ และสามารถกระจายผลของการเติบโตได้อย่างทั่วถึง ซึ่งรัฐบาลพรรคแรงงานของประเทศออสเตรเลียในช่วงนั้น ก็ทำการปฏิรูประบบเศรษฐกิจได้อย่างน่าพอใจ ความสำเร็จนี้ นายกาเร็ธ เอแวนส์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลออสเตรเลียสมัยนั้น ในโอกาสที่มาร่วมงานเสวนาของสมาคมศิษย์เก่านักศึกษาไทยในออสเตรเลีย เมื่ออาทิตย์ที่แล้วที่กรุงเทพฯ ได้อธิบายว่า เป็นผลจากการทำนโยบายเศรษฐกิจที่มีวินัย มีเหตุผลตามหลักวิชาการที่มีเป้าประสงค์ของการปฏิรูปชัดเจน คือ การเพิ่มผลิตภาพการผลิต ให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจในนโยบายและสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้เกิดการยอมรับ และบรรเทาผลกระทบทางลบต่อภาคส่วนของสังคมที่ต้องปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ผ่านกลไกการให้ความช่วยเหลือต่างๆ เพื่อให้การปฏิรูปเกิดขึ้นและสามารถเดินต่อได้ ทั้งหมดคือแนวทางที่ควรปฏิบัติของการดำเนินนโยบายสาธารณะตามหลักธรรมาภิบาลที่ดีเพื่อให้สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมสามารถเกิดขึ้นได้

มองกลับมาที่บ้านเรา เราพูดกันมากเรื่องการปฏิรูปพูดกันมานานจนกลายเป็นประเด็นการเมือง แต่ก็ไม่เคยเกิดขึ้น ไม่เคยมีการปฏิรูป แม้ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ทำให้เศรษฐกิจเราไม่ไปไหน จนมีคำถามว่า ทำไมบางประเทศทำได้ ทำไมประเทศอย่างเราทำไม่ได้ ทำไมบางประเทศมีผู้นำที่กล้าเปลี่ยนแปลง กล้ารื้อสิ่งเก่า และสร้างสิ่งใหม่เพื่ออนาคต แต่ทำไมบางประเทศไม่มีผู้นำแบบนี้ ไม่มีคนอย่างเนลสัน แมนเดลา ไม่มีคนอย่าง มหาตมะ คานธี ทั้งหมดเป็นเรื่องของการที่ประเทศไม่มีคนเก่ง คนกล้า หรือเป็นเรื่องของการที่ประเทศปิดกั้นโอกาส หรือไม่มีระบบการสร้างผู้นำในสังคม

ในเรื่องนี้ ผมคงให้คำตอบที่ดีไม่ได้ แต่อยากให้ข้อสังเกตุสามข้อว่า หนึ่ง ประเทศที่ผู้นำกล้าเปลี่ยนแปลง มักเป็นประเทศที่เปิดโอกาสมากให้กับคนในประเทศเรื่องการศึกษาและการหาความรู้ นำมาสู่การบ่มเพาะความคิด ความรับผิดชอบ และความตั้งใจที่จะนำพาประเทศและสังคมให้ก้าวหน้า ซึ่งในอดีตประเทศไทยก็เป็นอย่างนั้น ที่เด็กชนบทยากจน สามารถขวนขวายได้รับทุนเรียนต่อในต่างประเทศ กลับมาสร้างประโยชน์ และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศ สอง สังคมจะต้องมีระบบในตัวเองที่จะสร้างผู้นำที่เป็นที่ยอมรับ เช่น กรณีจีนที่มีระบบการสร้างผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ผู้นำจะต้องผ่านการทดสอบการคัดเลือกมาตั้งแต่รุ่นหนุ่มสาว เติบโตจากระดับท้องถิ่นมาสู่ระดับมณฑล มาสู่ระดับประเทศ เป็นการฝึกฝนความเป็นผู้นำในสถานการณ์และความรับผิดชอบต่างๆ จนเมื่อถึงระดับสูงสุดของการเป็นผู้นำประเทศก็จะเป็นผู้นำที่มีประสบการณ์ ความรู้ เป็นที่ยอมรับ กล้าที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง 

สำหรับประเทศในระบบทุนนิยม การศึกษา การแข่งขันและระบบตลาดก็เป็นกลไกที่จะช่วยคัดเลือกผู้นำ ทั้งในด้านธุรกิจและการเมือง เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของระบบการสร้างผู้นำของสังคมที่เน้นระบบคุณธรรม(Merit)และความสำเร็จ สำหรับประเทศไทยของเราก็น่าจะเป็นระบบกลไกตลาด เพราะเราเป็นเศรษฐกิจทุนนิยม แต่ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า ในประเทศเราอิทธิพลของระบบอุปถัมน์ การใช้เส้นสายและระบบพวกพ้องมีมากจนทำลายความขลังของการสร้างผู้นำโดยระบบคุณธรรมอย่างน่าเสียดาย ทำให้บุคคลที่เข้ามารับตำแหน่งในระยะหลัง จะเข้ามาด้วยเงื่อนไขต่างๆ จนไม่สามารถทำหน้าที่ผู้นำได้อย่างที่ควรจะเป็น กลายเป็นผู้นำเฉพาะในตำแหน่งมากกว่าเป็นผู้นำที่กล้าจะสร้างการเปลี่ยนแปลง

สาม ประเทศที่มีผู้นำที่กล้าเปลี่ยนแปลงจะเป็นประเทศที่ประชาชนมีสิทธิ มีเสียงในการเลือกผู้นำ และเลือกทิศทางที่ประเทศจะเดินต่อ เป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งของสถาบันยุติธรรม มีการบังคับใช้กฎหมายที่ปกป้องสิทธิของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่การปกครองโดยคนกลุ่มน้อยแบบอำนาจนิยม สิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามกฎหมาย จึงเป็นพลังที่สามารถเปลี่ยนผู้นำที่ไม่ทำหน้าที่เพื่อส่วนรวมได้และสร้างโอกาสให้ผู้นำที่กล้าเปลี่ยนแปลงเข้ามาบริหารประเทศ

ก็อยากฝากข้อคิดเหล่านี้ไว้