หยวน: เทียบชั้นเงินสกุลระหว่างประเทศ?

หยวน: เทียบชั้นเงินสกุลระหว่างประเทศ?

การก่อกำเนิดของ ศูนย์กลางการเงินต่างๆ เริ่มต้นจากการใช้แหล่งเงินทุนจากหน่วยเศรษฐกิจหน่วยหนึ่งเพื่อโอนให้หน่วยเศรษฐกิจอีกหน่วยหนึ่ง

 เงินที่โอนนั้นอาจมีเจ้าของรายเดียวกันที่อยู่ต่างสถานที่หรืออาจเป็นการชำระราคากันก็ได้ วิวัฒนาการทำให้ธุรกรรมที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเงินทั้ง 2 ฝั่ง แต่เป็นตราสารที่เป็นการกู้ยืมเงินหรือการฝากเงินก็ได้ 

กิจการของศูนย์กลางการเงินจะถูกจำกัดด้วยเศรษฐกิจของศูนย์กลางการเงินนั้นๆ การแผ่ขยายอำนาจของอังกฤษไปทั่วโลก ก่อให้เกิดความมั่งคั่งแก่อังกฤษจากการค้าขายกับอาณานิคมและประเทศทั่วโลกจ นทำให้มีเงินเหลือเฟือที่จะให้กู้ยืมและมีผู้ใช้บริการจำนวนมากทั่วโลก การย้ายอำนาจใช้จ่ายของรัฐบาลจากกษัตริย์มาเป็นสภาผู้แทนทำให้ศูนย์กลางการเงินที่ลอนดอนได้รับความเชื่อถือมากยิ่งขึ้น เงินปอนด์สเตอริงก์ของอังกฤษจึงกลายเป็นเงินตราที่ใช้กันแพร่หลายตั้งแต่นั้นมา ส่วนเงินดอลลาร์สหรัฐเริ่มใช้กันแพร่หายภายหลังจากที่สหรัฐมีความมั่งคั่งขึ้นจากการผลิตและขายสินค้าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และใช้เงินที่มีเหลือเฟือให้กู้ยืมแก่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก 

ปริมาณเงินตราที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดโลก ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐมีความสะดวกมากที่สุดไม่ว่าจะใช้ในวัตถุประสงค์ใด แต่ที่สำคัญที่สุดเห็นจะได้แก่ การเป็นเงินตราสกุลทีใช้ในการตั้งราคาสินค้าที่ซื้อขายกัน (Invoicing Currency) และการกู้ยืม/ให้กู้ยืมกัน (Funding Currency) 

ผู้คนทั่วไปจะเข้าใจว่า เงินดอลลาร์สหรัฐใช้สำหรับค้าขายกับสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ไม่ใช่ การค้าขายทั่วโลกที่สหรัฐไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยมีกว่า 80% แต่ก็ยังตั้งราคาสินค้า/บริการกันในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ บางประเทศใช้เป็นสัดส่วนที่น้อย แต่บางประเทศก็มาก ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงค่าเงินดอลลาร์จึงส่งผลกระทบต่อการค้าของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ตามสัดส่วนการค้าของประเทศนั้น ๆ ที่อยู่ในรูปเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ตามราคาของสินค้าส่งออกและสินค้านำเข้ามักจะตอบสนองช้าต่อการเปลี่ยนแปลงค่าของสกุลเงินที่ใช้ตั้งราคาสินค้า เนื่องจากความกลัวว่าคู่แข่งจะไม่ปรับราคาตาม ดังนั้นส่วนของกำไรต่อหน่วยจะแปรผกผันกับค่าของสกุลเงินที่ใช้ตั้งราคา ราคาสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ที่ตอบสนองช้าต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินดอลลาร์จึงทำให้ปริมาณสินค้าที่ขายได้ตอบสนองช้าต่อค่าของเงินดอลลาร์ด้วย ยิ่งถ้าสินค้าที่ส่งออกนั้นใช้วัตถุดิบที่นำเข้าที่มีราคาเป็นเงินดอลลาร์ด้วยแล้ว ปริมาณสินค้าที่ส่งออกก็จะยิ่งตอบสนองช้าลงไปอีก 

Boz, Gopinath and Plagborg-Moller (2018) ระบุว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่ลดลง 1% เมื่อเทียบกับค่าของเงินสกุลอื่นๆ จะทำให้ปริมาณการค้าระหว่างประเทศอื่นๆ ทั้งหมด (นอกจากสหรัฐอเมริกา) ลดลง 0.6% ภายใน 1 ปี ส่วน Martin, Mukhopadhyay and Hombeeck (2017) ระบุว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอที่ลดลง 10% จะทำให้ GDP ของประเทศพัฒนาแล้วลดลง 1% แต่จะทำให้ GDP ของประเทศเกิดใหม่ลดลง 1.5% 

ในทำนองเดียวกับการใช้เงินสกุลดอลลาร์ในการตั้งราคาสินค้าระหว่างประเทศ บริษัทจำนวนมากทั่วโลกกู้ยืมในรูปเงินดอลลาร์โดยที่ไม่ได้มีถิ่นที่อยู่ในสหรัฐ หรือไม่ได้ค้าขายเกี่ยวข้องกับเงินดอลลาร์เลย ลักษณะเช่นนี้มีมานานแล้วตั้งแต่หลังสงครามโลก ที่ประเทศกำลังพัฒนามักจะมีอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศสูงกว่าเงินดอลลาร์ ประเทศไทยในอดีตก็เช่นเดียวกัน แต่ตอนนี้ไม่ได้เป็นความจริงอีกต่อไป ในปัจจุบันนี้ธุรกิจไทยมีต้นทุนทางการเงินต่ำเพียงพอที่จะไปลงทุนต่างประเทศด้วยซ้ำไป 

การใช้เงินสกุลดอลลาร์ ทั้งในการตั้งราคาสินค้าและการกู้ยืมเงินระหว่างประเทศ จึงเป็นผลสืบเนื่องมาจากปริมาณเงินดอลลาร์ที่มีอยู่มากมายทั่วโลก การขายสินค้าในรูปเงินดอลลาร์อำนวยความสะดวกแก่ผู้ซื้อที่หาเงินดอลลาร์ได้ง่าย ในขณะเดียวกันผู้ขายสินค้าก็มีความสะดวกในการเปลี่ยนเงินดอลลาร์ที่ได้ไปเป็นเงินสกุลของประเทศตนเองหรือประเทศอื่นๆ ในการกู้ยืมเงินก็เช่นเดียวกัน ผู้ที่กู้ยืมเงินดอลลาร์อาจจะไม่ได้มีรายได้ที่เกี่ยวข้องกับเงินดอลลาร์ แต่ก็สามารถหาเงินดอลลาร์มาชำระคืนได้ง่าย 

ด้วยสาเหตุที่การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินส่งผลกระทบต่อการขายสินค้าและการกู้ยืมเงินระหว่างประเทศ เงินสกุลใดที่จะมาท้าแข่งกับเงินดอลลาร์สหรัฐ จึงควรจะมีค่าเงินที่มีเสถียรภาพหรือมีความผันผวนของค่าเงินน้อยกว่าและมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าและผันผวนน้อยกว่า 

หยวน: เทียบชั้นเงินสกุลระหว่างประเทศ?

จากตารางที่แสดงค่าของสกุลเงิน CNY, USD และ EURO ในช่วงปี 1998-2007 และ 2008-2017 และ อัตราดอกเบี้ยของเงินสกุลเหล่านั้นในช่วงเวลาเดียวกัน ผลปรากฏว่าในช่วงปี 1998-2007 CNY หรือเงินหยวนของจีนมีค่าต่ำกว่า USD หรือเงินดอลลาร์ ตามที่สหรัฐกล่าวหาอยู่เสมอจริง แต่ก็ไม่มีค่าที่แตกต่างกับ EURO หรือเงินยูโรอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นสหรัฐ จึงไม่อาจกล่าวหาได้ว่า จีนเป็นเพียงประเทศเดียวที่บริหารจัดการค่าเงิน เมื่อดูค่าของเงินทั้งสามสกุลดังกล่าวในช่วงปี 2008-2017 จะเห็นได้ว่า เงินหยวนมีค่าสูงกว่าทั้งเงินดอลลาร์และเงินยูโร เมื่อเป็นเช่นนี้ จีนจะกล่าวหาฝ่ายตะวันตกได้หรือไม่ว่าเป็นฝ่ายที่บริหารจัดการค่าเงินเสียเอง ซึ่งก็ไม่แปลกที่ไม่ได้ยินประเทศตะวันตกกล่าวหาจีนอีกเลย อย่างไรก็ตาม เงินหยวนยังมีข้อเสียที่มีความผันผวนมากกว่าเงินสกุลอื่นอีก 2 สกุล โดยดูได้จากค่า standard deviation ที่สูงกว่าเงินยูโร แต่ไม่ได้สูงกว่าเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา 

ในช่วงปี 1998-2007 อัตราดอกเบี้ยของเงินดอลลาร์สูงกว่าของเงินหยวนและเงินยูโร แต่ในช่วงปี 2008-2017 อัตราดอกเบี้ยของเงินหยวนกลับเป็นฝ่ายที่สูงกว่าเนื่องจากเงินอีก 2 สกุลอยู่ภายใต้ QE ของธนาคารกลางทั้งสองประเทศ และฝ่ายจีนมีความต้องการสกัดกั้นการไหลออกของเงินทุน 

ในปัจจุบันนี้ จีนน่าจะอยู่ในสถานะเทียบเคียงได้กับอังกฤษในยุคเรืองอำนาจและสหรัฐ ในยุคหลังสงครามโลกในเชิงของความมั่งคั่งของประเทศ แต่ว่าบทบาทการให้กู้ยืมเงินในตลาดโลกยังห่างไกลจากสถาบันการเงินระดับโลกที่มีมานานแล้ว เช่น IBRD เงินให้กู้ยืมและเงินให้เปล่ารวมกันประมาณ US$ 377 พันล้าน ADB US$ 141 พันล้าน EBRD € 30 พันล้าน ในขณะที่ China Exim Bank มีเพียง US$ 10-20 พันล้าน และ AIIB มีเพียง US$ 4.4 พันล้าน แต่ถ้าจะเปรียบเทียบประวัติการดำเนินงานแล้วก็แตกต่างกันมาก IBRD 73 ปี ADB 52 ปี China Exim 25 ปี และ AIIB 3 ปี จีนพยายามไล่ตามเหมือนกัน โดยเฉพาะในอัฟริกาที่สามารถเก็บส่วนแบ่งตลาดได้เกือบหมด แต่ก็ยังคงห่างไกลโดยรวม

ที่สำคัญ เงินที่ให้กู้ยืมส่วนใหญ่กระทำภายใต้สกุลเงินดอลลาร์ และนี่ก็คงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เงินหยวนของจีน ยังไม่อาจเป็นเงินสกุลที่สำคัญในธุรกรรมระดับโลกได้ การให้กู้ยืมเป็นเงินหยวนทำให้ไม่ได้ใช้เงินดอลลาร์ที่มีอยู่มากมายให้เป็นประโยชน์และประเทศจีนโดยรวมจะต้องรับภาระอัตราดอกเบี้ยเงินหยวนที่สูงกว่าเงินดอลลาร์มาก นอกเสียจากว่า จีนจะดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำภายในประเทศซึ่งก็จะทำให้การควบคุมอัตราเงินเฟ้อเป็นไปได้ยาก แต่ก็ไม่ใช่จะเป็นไปไม่ได้เสียเลยทีเดียวเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินหยวนในช่วงปี 1998-2007 อยู่ในระดับต่ำกว่าของสหรัฐและยุโรปด้วยซ้ำไป อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐและยุโรปที่ต่ำในช่วงหลังเป็นเพียงกรณีพิเศษที่มีผลสืบเนื่องมาจาก QE 

เมื่อเป็นเช่นนี้ อาจสรุปได้ว่า จีนหรือเงินหยวนอยู่ในสถานะที่เทียบเคียงกับอังกฤษหรือสหรัฐ ในยุครุ่งเรืองจนกลายมาเป็นตลาดการเงินโลก และเงินดอลลาร์กับเงินปอนด์สเตอริงค์ กลายมาเป็นเงินสกุลที่ใช้ในธุรกรรมทั่วโลก แต่จีนมีขีดจำกัดที่ความมั่งคั่งเกือบทั้งหมดอยู่ในรูปเงินดอลลาร์ จนไม่อาจผลักดันให้เงินหยวนเป็นเงินสกุลระหว่างประเทศในเวลาอีกนาน นอกจากนี้ ความผันผวนของค่าเงินหยวนและอัตราดอกเบี้ยเงินหยวนก็ยังไม่อาจอำนวยให้เงินหยวนเป็น invoicing currency และ funding currency ซึ่งจะนำไปสู่การเป็น reserve currency ได้ในที่สุด 

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนที่เชียร์เงินหยวนมีมาก แต่ถ้าหากได้ทราบรายละเอียดดังกล่าวมาข้างต้นก็คงต้องเปลี่ยนความคิดเป็นอย่างอื่น