‘ฟินเทคจีน’ ดึงดูดทุนสะพัดเอเชีย

‘ฟินเทคจีน’ ดึงดูดทุนสะพัดเอเชีย

“ฟินเทค” หรือเทคโนโลยีทางการเงินกำลังมาแรงและเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในเอเชียที่บริษัทฟินเทคระดมทุนได้มากกว่าบริษัทในอเมริกาเหนือปีก่อน

ข้อมูลจาก “แอคเซนเชอร์” บริษัทที่ปรึกษาในสหรัฐ ระบุว่า บริษัทฟินเทคในเอเชียระดมทุนได้ 2.98 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 54% ของการลงทุนด้านฟินเทคทั่วโลกซึ่งรวมอยู่ที่ 5.53 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2561 เนื่องจากนักลงทุนเล็งเห็นว่าภูมิภาคนี้เป็นผู้นำด้านบริการชำระเงินดิจิทัล

และหากนับเฉพาะจีนประเทศเดียว ก็ครองสัดส่วน 46% ของการลงทุนฟินเทครวมทั่วโลกเข้าไปแล้ว!

แม้ว่าโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของเอเชียยังไม่เติบโตเต็มที่เท่าใดนัก แต่ทวีปนี้ก็มีความต้องการช่องทางการโอนเงินที่รวดเร็วและสะดวกอยู่เต็มเปี่ยม และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการนี้ก็กำลังเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว

การเพิ่มขึ้นของเงินลงทุนฟินเทคซึ่งเกี่ยวข้องกับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ สะท้อนให้เห็นว่าตลาดต่างๆ อย่างเช่น จีนกำลังดึงดูดการลงทุนด้วยเทคโนโลยีการเงินอันล้ำสมัยนี้

“แอนท์ ไฟแนนเชียล” บริษัทด้านการชำระเงินดิจิทัลในเครือยักษ์ใหญ่ “อาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้ง” มีส่วนกระตุ้นสัดส่วนการลงทุนฟินเทคของจีน ด้วยยอดการระดมทุนรอบเดียวจำนวน 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยมีผู้ลงทุนมากหน้าหลายตา รวมไปถึง “เทมาเส็ก” และ “จีไอซี” 2 บริษัทจัดการกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของสิงคโปร์

นอกจากนั้น จีนยังเป็นที่ตั้งของบริษัทที่ระดมทุนได้มากที่สุดอันดับ 2 และอันดับ 3 อย่าง “ตู้ เสี่ยวเหมิน ไฟแนนเชียล” ในเครือบริษัทไป่ตู้ หรือ “กูเกิลเวอร์ชั่นจีน” ที่ระดมทุนได้ 4,300 ล้านดอลลาร์

ขณะที่ “ลู ดอท คอม” หรือ “ลูแฟกซ์” ผู้ปล่อยสินเชื่อออนไลน์ที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทผิงอัน อินชัวแรนซ์ กรุ๊ป ระดมทุนได้ 1,300 ล้านดอลลาร์ 

“มูลค่าต่อข้อตกลงการลงทุนในบริษัทฟินเทคเอเชียกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ” ทาคาฟูมิ มูราคามิ กรรมการผู้จัดการประจำสำนักงานให้คำปรึกษาในญี่ปุ่นของแอคเซนเชอร์ เผย และว่า “ไม่ใช่แค่สตาร์ทอัพเท่านั้นที่ได้รับเงินสด แต่บริษัทรายใหญ่ยังระดมทุนได้มากขึ้นด้วย”

นอกเหนือจากเรื่องแนวโน้มการเติบโตแล้ว นักลงทุนยังหว่านเงินทุนมากขึ้นในธุรกิจเอเชีย เพื่อมีส่วนร่วมในความพยายามที่จะเปิดตัวบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ในเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว ซึ่งกำลังขยายไปยังประเทศกำลังพัฒนา

ในตลาดเกิดใหม่ที่มีกฎเกณฑ์ผ่อนคลายกว่าเศรษฐกิจก้าวหน้า ยังสนับสนุนให้อุตสาหกรรมฟินเทคเฟื่องฟูอย่างมากและทำให้บริษัทต้องการเข้าไปพัฒนาเทคโนโลยีของตนให้ล้ำสมัยในตลาดเกิดใหม่ ก่อนจะขยายไปยังตลาดพัฒนาแล้ว

“ซอฟท์แบงก์ กรุ๊ป” ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีและการลงทุนของญี่ปุ่นก็ถือเป็นตัวอย่างของเทรนด์นี้ โดยในปี 2560 กองทุน “วิชัน ฟันด์” มูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์ของซอฟท์แบงก์ เข้าซื้อหุ้นใน “เพย์ทีเอ็ม” ผู้ให้บริการชำระเงินผ่านมือถือเบอร์ 1 ของอินเดีย

จากนั้น ซอฟท์แบงก์ได้ตั้งบริษัทร่วมทุนกับ “ยาฮู เจแปน” ชื่อ “เพย์เพย์” ที่นำเทคโนโลยีการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดของเพย์ทีเอ็มมารวมในบริการของตนด้วย

แม้ญี่ปุ่นจะเป็นรองจีนในแง่ของมูลค่าการลงทุนฟินเทค แต่ก็มีการเติบโตด้านนี้อย่างมหาศาล ด้วยมูลค่าการลงทุนที่สูงขึ้นกว่า 5 เท่าในปี 2561 จนทะลุ 500 ล้านดอลลาร์ ขณะที่บรรดาผู้เล่นในอุตสาหกรรมการเงินรายใหญ่ของญี่ปุ่นหันมาจับมือกับผู้เล่นใหม่ฟินเทคมากขึ้นเรื่อยๆ และรัฐบาลโตเกียวเองก็เริ่มผ่อนคลายกฎเกณฑ์ทีละน้อย

“การลงทุนฟินเทคของญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะเติบโตเร็วขึ้นต่อไป แรงหนุนจากความพยายามของภาครัฐและเอกชนในการกระตุ้นนวัตกรรมใหม่ๆ” มูราคามิเผย