วันเลือกตั้ง (3)

วันเลือกตั้ง (3)

วัฏจักรดาวคือเทคนิคสำคัญของโหราศาสตร์ชะตาเมือง เราใช้แบ่งยุคสมัยของบ้านเมือง ผู้เขียนเป็นคนแรกที่ใช้วงรอบดาวเสาร์ (Saturn Return)

ในการแบ่งยุคการเมืองไทย (อ่าน “เมื่อไหร่การเมืองไทยสงบ คำตอบอยู่ที่ดวงเมือง” เมื่อ 1 สิงหาคม 2556 ที่ http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/520635)

เสาร์อยู่ที่ 10:18 องศาธนู เสาร์จรถึงเสาร์เดิมคือ 1 วงรอบ ใช้เวลา 30 ปี 1 วงรอบคือ 1 ยุค แต่ละยุคจึงกินเวลา 30 ปี วงรอบที่ 6 ตั้งแต่ 27 ธันวาคม 2472 – 8 กุมภาพันธ์ 2502 เป็นยุค แย่งอำนาจทางการเมืองวงรอบที่ 7 ตั้งแต่ 8 กุมภาพันธ์ 2502 – 18 ธันวาคม 2531 คือยุค ทหารคุมการเมืองและวงรอบที่ 8 ตั้งแต่ 18 ธันวาคม 2531 – 28 มกราคม 2561 คือยุค ธุรกิจคุมการเมือง

ดวงเลือกตั้งได้รับอิทธิพลวงรอบด้วย การเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิด 24 มิถุนายน 2475 เลือกตั้งครั้งแรก (ทางอ้อม) ปลายปี 2476 ครั้งที่ 2 เมื่อ 7 พฤศจิกายน 2480 เป็นดวงต้นกำเนิด สภามีอายุแค่ 10 เดือน ครั้งต่อมา 12 พฤศจิกายน 2481 สภานี้อยู่ยาวเพราะติดสงครามโลกครั้งที่ 2 ครั้งที่ 4 เกิด 6 มกราคม 2489 ครั้งนี้สำคัญเพราะว่างเว้นมานาน ครั้งที่ 5 เมื่อ 5 สิงหาคม 2489 เป็นเลือกตั้งเสริมตามรัฐธรรมนูญใหม่ สภาหมดอายุเมื่อรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 นำโดยพล.ท.ผิน ชุณหะวัณ การแย่งอำนาจระหว่างกลุ่มปรีดี พนมยงค์กับกลุ่มจอมพล ป. พิบูลสงครามสิ้นสุดลง จอมพล ป.เป็นฝ่ายชนะ

ผูกดวงครั้งที่ 4 ได้ลัคนามังกรที่ 10:09 องศา 90 อาทิตย์เดิม (ผู้นำรัฐบาล) ในดวงเมืองพอดี ลัคน์ถูกอังคารพลูโต (พักรคู่) เล็ง ชี้ถึงการใช้พลังอำนาจเพื่อทำลายล้าง เสาร์ดาวเจ้าเรือนลัคน์ (พักร) ตกเมถุนภพอริ ไร้เสถียรภาพและก่อปัญหา อาทิตย์ธนู 150 มฤตยูพฤษภและพลูโตกรกฎ 180 เสาร์ และถูกราหูเล็ง จันทร์มังกร 180 พลูโตสนิท ที่สำคัญสุด ก่อนเลือกตั้ง 3 วัน เกิดสุริยคราสที่ 19:27 องศาธนู ทั้งหมดบอกถึงรัฐประหารอย่างชัดเจน

วันเลือกตั้ง (3)

เลือกตั้งครั้งที่ 6 เกิด 29 มกราคม 2491 ครั้งที่ 7 เลือกตั้งเสริมตามรธน.ใหม่ 5 มิถุนายน 2492 จอมพล ป.รัฐประหารตัวเอง 29 พฤศจิกายน 2494 และเลือกตั้งใหม่ 26 กุมภาพันธ์ 2495 การเลือกตั้งครั้งที่ 9 เมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2500 สกปรกที่สุดจนนิสิตนักศึกษาและประชาชนประท้วง กลุ่มผู้มีอำนาจก็ขัดแย้งกันเอง ในที่สุดจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ทำรัฐประหารจอมพลป.วันที่ 16 กันยายนและกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ การเมืองนิ่ง นี่คือจุดเปลี่ยนปลายวงรอบที่ 6 ไปสู่ 7 หมดยุคแย่งอำนาจและเข้าสู่ยุคทหารคุมการเมือง

ในดวงเลือกตั้งครั้งที่ 9 ลัคน์อยู่ที่ 8:06 องศามีน 90 พฤหัสเดิม (สภา) ดวงเมืองพอดี พฤหัสดาวเจ้าเรือนลัคน์และทศมลัคน์อยู่กันย์ เป็นปรเกษตร์และพักร ชี้ถึงความอ่อนแอไม่แน่นอน เพราะ T-square ของอังคารเมษ-ราหูตุลย์-พุธมังกร มันจึงสกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์ อังคารเมษทับลัคนาดวงเมืองสนิทและ 150 เสาร์พิจิก บ้านเมืองวุ่นวายและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

ก่อนเลือกตั้ง เกิดสุริยคราส 2 ธันวาคม 2499 ที่ 16:53 องศาพิจิก คราสนี้กุมเสาร์ (ดับ) ทั้งคู่ทับลัคน์และคราสแรกของดวงต้นกำเนิดสนิท นี่คือสัญญาณอันตราย หลังเลือกตั้ง 3 วัน เกิดอมาวสีที่ 17:34 องศากุมภ์ 90 คราสเสาร์พอดี วันที่ 2 มีนาคมเกิดประท้วงใหญ่ วันที่ 16 กันยายน เสาร์จรทับคราสอีกครั้งและ 90 อาทิตย์ในดวงเลือกตั้ง จันทร์จะเข้าจุดดับทับลัคน์ เกิดรัฐประหารขึ้นวันนั้น

ครั้งที่ 10 เกิด 15 ธันวาคม 2500 จอมพลสฤษดิ์รัฐประหารอีก 20 ตุลาคม 2501 ยกเลิกรัฐธรรมนูญแล้วร่างใหม่ เลือกตั้งครั้งที่ 11 เกิด 10 กุมภาพันธ์ 2512 ห่างหายไปถึง 11 ปี จอมพลถนอม กิตติขจรรัฐประหารตัวเอง 17 พฤศจิกายน 2514 ยกเลิกรัฐธรรมนูญอีกและประกาศธรรมนูญการปกครอง 2515 (และม.17) ทำให้ตนเองมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ก่อให้เกิดกระแสไม่พอใจอย่างมากจากประชาชน จนนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีการร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ เลือกตั้งครั้งต่อไปเกิด 26 มกราคม 2518 สภาอยู่ได้ปีเศษก็ถูกยุบ เลือกตั้งครั้งที่ 13 เกิด 4 เมษายน 2519

ลัคนาดวงเลือกตั้งครั้งนี้อยู่ที่ 21 องศาเมษ รูปดาวน่ากลัวมาก เพราะลัคน์ถูกบาปเคราะห์ใหญ่ทั้ง 5 เล่นงาน มฤตยูราหูเล็ง เนปจูนพิจิก-พลูโตกันย์ทำมุม 150 และถูกเกณฑ์ 10 จากเสาร์กรกฎ บอกถึงภัยอันตรายร้ายแรง อังคารดาวเจ้าเรือนลัคน์อยู่เมถุน 90 พลูโตเพ็ญพอดี ชี้ถึงการใช้กำลังและความรุนแรง พุธนิจจ์ (ดับ) เล็งพลูโต การสื่อสารเสียหาย ระวังการโฆษณาชวนเชื่อและปลุกระดม ราหูคือความมัวเมา มฤตยูคือการระเบิดออก เมื่อร่วมกันเล็งลัคน์ หมายถึงความคลุ้มคลั่งของผู้คน จนนำไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และรัฐประหารที่นำโดยพล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ในเย็นนั้น 18:00 น.

แม้มีรัฐบาลใหม่ แต่บ้านเมืองยังวุ่นวายมาก พล.ร.อ.สงัดรัฐประหารอีกครั้ง 20 ตุลาคม 2520 และแต่งตั้งพล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์เป็นนายกฯ สถานการณ์จึงเริ่มคลี่คลาย รัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ 22 ธันวาคม 2521 เลือกตั้งครั้งที่ 14 เกิดขึ้น 22 เมษายน 2522 พล.อ.เกรียงศักดิ์เป็นนายกฯต่อ จนกระทั่งลาออกเพราะวิกฤติน้ำมันเมื่อ 3 มีนาคม 2523 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ขึ้นเป็นนายกฯต่อ ครั้งที่ 15 เกิดขึ้น 18 เมษายน 2526 ครั้งที่ 16 เกิด 27 กรกฎาคม 2529

พล.อ.เปรมเป็นนายกฯต่อเนื่อง จนยุบสภาและมีเลือกตั้งใหม่ครั้งที่ 17 เมื่อ 24 กรกฎาคม 2531 แกนนำพรรคเสียงข้างมากเชิญท่านเป็นนายกฯต่อ แต่ท่านปฏิเสธว่า “พอแล้ว” พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคชาติไทยที่ได้คะแนนเสียงมากสุด จึงจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนและขึ้นเป็นนายกฯ

วงรอบที่ 7 เริ่ม 8 กุมภาพันธ์ 2502 ในวันรุ่งขึ้น จอมพลสฤษดิ์เป็นนายกฯ นี่คือคำประกาศของยุค ทหารคุมการเมืองตลอดยุคนี้มีนายกฯทหาร 4 พลเรือน 4 ได้แก่จอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม ท่านสัญญา ธรรมศักดิ์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านธานินทร์ กรัยวิเชียร พล.อ.เกรียงศักดิ์ และพลเอกเปรม แต่อายุรัฐบาลพลเรือนรวมกันแค่ 3 ปี หรือ 10 % เท่านั้น

การเลือกตั้งครั้งที่ 17 เกิดขึ้นปลายวงรอบ ซึ่งสิ้นสุด 18 ธันวาคม 2531 การวางมือทางการเมืองของพล.อ.เปรม ย่อมสะท้อนถึงการจบวงรอบเดิมและเริ่มวงรอบใหม่

ยุคสมัยของ ธุรกิจคุมการเมืองเริ่มตั้งแต่นั้น