เสริมการแข่งขันธุรกิจด้วยทรัพย์สินทางปัญญา

เสริมการแข่งขันธุรกิจด้วยทรัพย์สินทางปัญญา

คงไม่มีปฏิเสธว่า “ความสามารถในการแข่งขัน” เป็นสิ่งจำเป็น แต่ใช่ว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นหรือได้มาง่ายๆ

 โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กๆ ที่มีข้อจำกัดหลายประการ ยิ่งไปกว่านั้น โลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปเร็วมากจนแทบปรับตัวไม่ทัน ใครปรับตัวช้าก็อาจตกขบวน ธุรกิจถดถอย หรือแย่กว่านั้นคือปิดกิจการ ใครปรับตัวทันหรือมีสิ่งมาช่วยขับเคลื่อนธุรกิจเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ก็ยืนอยู่ได้

หากผู้ประกอบการรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ว่า สิ่งที่จะมาช่วยขับเคลื่อนธุรกิจและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันนั้นมีอะไรบ้าง ผู้เชี่ยวชาญแต่ละท่านก็คงให้คำแนะนำในด้านที่ตนเองถนัด แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยมักมองข้าม หรือยังไม่เข้าใจเพียงพอ ทั้งๆ ที่สิ่งนี้เป็นปัจจัยพื้นฐานของธุรกิจทุกขนาดไม่ว่าจะเป็น SME หรือธุรกิจขนาดใหญ่ สิ่งนั้นก็คือ “ทรัพย์สินทางปัญญา” (Intellectual Property หรือ IP) มาถึงตรงนี้ คงมีคำถามว่าทรัพย์สินทางปัญญาจะช่วยเสริมความสามารถในการแข่งขันและทำให้ธุรกิจดีขึ้นได้อย่างไร จะเป็นไปได้ในทางปฏิบัติเพียงใด และที่สำคัญที่สุดก็คือ จะเริ่มต้นอย่างไร

วันนี้ผมขอแนะนะจุดเริ่มต้นในการเอาทรัพย์สินทางปัญญามาใช้เป็นตัวขับเคลื่อน โดยเฉพาะสำหรับ SME และธุรกิจขนาดใหญ่ ก็สามารถนำไปปรับใช้ได้เช่นกัน แต่มิใช่ว่าท่านจะต้องคิดประดิษฐ์นวัตกรรมใหม่ สร้างเครื่องหมายการค้าใหม่ ออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือลงทุนซื้อเทคโนโลยีใหม่ การเริ่มต้นที่ว่านี้คือ การสำรวจทรัพย์สินทางปัญญาหรือ IP ในองค์กร ว่ามีอะไรอยู่บ้าง แล้วนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การสำรวจ IP นี้สามารถทำได้ทันที ซึ่งต่างจากการคิดค้นหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่ต้องใช้ทั้งเวลาและทุนทรัพย์ แต่แน่นอนครับ ขั้นต่อไปก็ต้องมีการคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่อยกระดับความสามารถและสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจ ซึ่งผมจะได้นำเสนอต่อไป

โดยทั่วไป ธุรกิจทุกขนาดล้วนมี IP อยู่ในองค์กร เพียงแต่ว่าจะให้ความสำคัญหรือได้ใช้เป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจอย่างจริงจังหรือไม่ จะเห็นว่าอย่างน้อยผู้ประกอบการมักจะต้องมีเครื่องหมายการค้า หรือแบรนด์ หรือชื่อทางการค้าที่จะทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าหรือบริการของตนได้ บางรายอาจมีเทคนิค วิธีการในการผลิตสินค้า ซึ่งอาจจะเป็นความลับทางการค้า (trade secret) ซึ่งเป็น IP อย่างหนึ่ง IP หลักๆ ที่ใช้ในธุรกิจส่วนใหญ่ได้แก่ เครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ และความลับทางการค้า

ในการสำรวจ ควรเริ่มในจุดที่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการใดไว้บ้าง และมีเครื่องหมายใดที่ได้ใช้แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนบ้าง รวมถึงบรรดาโลโก้ สโลแกน หรือคำที่ใช้โฆษณาสินค้าซึ่งเป็นคำสั้นๆ ด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้ก็อาจเป็นเครื่องหมายการค้าได้ นอกจากนี้ ควรสำรวจด้วยว่าได้จดทะเบียนโดเมนเนม (Domain Name) ชื่อเว็บไซต์ เพราะสิ่งเหล่านี้มีมูลค่าทั้งสิ้น ส่วนการสำรวจสิทธิบัตรก็ควรดูว่า การประดิษฐ์นวัตกรรม หรือแบบผลิตภัณฑ์อะไรอยู่บ้าง มีการยื่นขอรับสิทธิบัตรไว้หรือยัง และควรดูต่อไปว่ามีสิ่งใดที่อยู่ในข่ายจะขอรับความคุ้มครองเป็นสิทธิบัตรได้ เป็นต้น

ต่อมา สิ่งใดเข้าข่ายเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ เช่น ภาพถ่ายสินค้า ภาพประกอบการโฆษณา คำบรรยายผลิตภัณฑ์ที่มีความเฉพาะ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่จ้างผู้อื่นเขียนขึ้น เพลงหรือหรือภาพยนตร์โฆษณา การโฆษณาหรือขายผลิตภัณฑ์ในทีวีซึ่งปัจจุบันมีเยอะมาก เนื้อหาในเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันต่างๆ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ทั้งสิ้น ซึ่งได้รับความคุ้มครองโดยอัตโนมัติ สิ่งใดที่ได้เก็บไว้เป็นความลับและมีมูลค่าเชิงพาณิชย์ กล่าวคือ สามารถสร้างความได้เปรียบในการค้า และได้จัดเก็บสิ่งดังกล่าวไว้เป็นอย่างดีโดยมีผู้เข้าถึงข้อมูลอย่างจำกัด อาทิ รายชื่อลูกค้าพร้อมข้อมูลรายละเอียดของลูกค้า หรืออาจมีวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการขายให้แก่ลูกค้านั้นๆ โดยเฉพาะ เทคนิคด้านการผลิตหรือการออกแบบ กระบวนการผลิต สูตรการผลิต รายละเอียดการผลิต หรือข้อมูลการสำรวจและวิจัยตลาด เหล่านี้อยู่ในข่ายเป็นความลับทางการค้าได้

เมื่อสำรวจ IP ต่างๆ แล้ว ก็ควรจัดเก็บข้อมูลไว้อย่างเป็นระบบ และพิจารณาว่า ใช้ IP ต่างๆ ในธุรกิจเต็มศักยภาพหรือยัง หากยัง ก็ควรพิจารณานำ IP ที่มีอยู่แล้วนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างไร เพราะการนำ IP มาใช้ มิใช่เป็นเพียงการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน แต่ยังช่วยกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดออก ช่วยให้ทราบว่าธุรกิจยังขาดอะไร หรือมีจุดอ่อนตรงไหน จะได้หาทางใช้ความคิดสร้างสรรค์ปิดจุดอ่อนดังกล่าว การสำรวจและจัดเก็บข้อมูล IP ไว้อย่างเป็นระบบนี้ถือว่าสำคัญ อย่าลืมว่าปัจจุบันนี้มีนักลงทุนประเภท venture capital ที่สนใจลงทุนในธุรกิจเกิดใหม่ (startup) และกำลังเติบโตอยู่ไม่น้อย ซึ่ง IP ของธุรกิจก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ดึงดูด หากนักลงทุนเหล่านี้มองเห็นศักยภาพของ IP ในธุรกิจของท่าน ก็จะช่วยสร้างโอกาส ได้รับการสนับสนุนในด้านการบริหาร การตลาด หรือด้านเทคนิคด้วย

ผมขอสรุปว่า ในภาวะปัจจุบันที่ทุกอย่างเคลื่อนที่และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พฤติกรรมการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคก็เปลี่ยนไปด้วย การค้าขายเปิดกว้างมากขึ้น ทุกอย่างก่อให้เกิดทั้งโอกาสและความเสี่ยง หากผู้ประกอบการไทยหยุดนิ่งก็ต้องเตรียมนับถอยหลัง อย่ากระนั้น เราควรหันมามองดู IP ในองค์กรของเราว่ามีอะไรบ้างแล้วนำมันมาใช้อย่างจริงจังเพื่อเพิ่มศักยภาพ หากผู้ประกอบการไทยได้ใช้ IP ขับเคลื่อนธุรกิจ แม้การขับเคลื่อนเหล่านี้อาจจะเป็นเครื่องยนต์เล็กๆ แต่หากหลายเครื่องยนต์ช่วยกันขับเคลื่อน การรวมพลังของเครื่องยนต์ IP ของทั้งประเทศ ย่อมกลายเป็นพลังอันมหาศาล ที่จะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปสู่ความสำเร็จ ครั้งต่อไปผมจะแนะนำว่าหลังการสำรวจ IP แล้วควรทำอะไรเพิ่มเติม

โดย... 

มนูญ ช่างชำนิ

ที่ปรึกษากฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญา

เราส์ แอนด์ โค, ประเทศไทย