การคาดการณ์เกี่ยวกับสงครามการค้า

การคาดการณ์เกี่ยวกับสงครามการค้า

โลกกำลังค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมตามเงื่อนไขเหตุปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไป จึงทำให้ผลการคาดการณ์อนาคตภายใต้กรอบความคิดเก่าที่เคยใช้ได้ดี

ก็กลับกลายเป็นว่าใช้ไม่ค่อยจะได้อีกต่อไป

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ - จีน ได้เริ่มปะทุขึ้นมาเมื่อปีที่แล้ว ตามนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ประกาศไว้ในช่วงการหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อ 2 ปีที่แล้ว นักวิเคราะห์เศรษฐกิจโลกจำนวนมากได้เคยคาดการณ์ไว้ตั้งแต่แรกเมื่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งอย่างเหนือความคาดหมายว่า นโยบายกีดกันทางการค้าของเขาจะนำไปสู่การเริ่มต้นของสงครามการค้าที่ตอบโต้กันไปมาระหว่างจีนกับสหรัฐ และคาดว่าน่าจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี ที่จะมีต่อแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตที่เป็นฐานเสียงของเขาเอง รวมถึงผู้บริโภคโดยรวมของสหรัฐในที่สุด แต่ทางฝ่ายของประธานาธิบดีสหรัฐ ก็ได้ให้เหตุผลว่ามีความจำเป็นที่จะต้องตอบโต้จีนที่ทำการเอาเปรียบในหลายกรณี โดยเฉพาะเรื่องการขโมยความลับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นเทคโนโลยี่สำคัญของบริษัทอเมริกันที่เข้าไปลงทุนในจีน ซึ่งทางฝ่ายจีนก็ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้โดยสิ้นเชิงเสมอมา

หากเราพิจารณาเรื่องนี้ตามกรอบความคิดเดิมๆ แล้ว เราก็จะได้ข้อสรุปว่า การกีดกันทางการค้าไม่น่าจะเป็นผลดีกับทุกฝ่ายในที่สุดเพราะจะเสียหายด้วยกันทุกฝ่าย แต่ก็มีนักวิเคราะห์บางส่วนที่นำเสนอความเห็นในฝ่ายของอเมริกันว่า ในข้อเท็จจริงแล้ว แม้ว่าทั้งคู่จะกำลังทำสงครามการค้ากันอยู่ แต่ทั้งคู่ก็ยังคงมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในแบบที่ยังต้องพึ่งพาซึ่งกันและกันอยู่ด้วย และดูเหมือนว่าในปัจจุบันนี้ สหรัฐจะยังคงถือไพ่ที่เหนือกว่าในแง่ของการมีพื้นฐานความรู้ด้านเทคโนโลยีชั้นสูงที่ต้องใช้ในการผลิตสินค้าขั้นกลางที่เหนือกว่าจีน ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จีนจะต้องเร่งกวดให้ทันเพื่อปิดช่องโหว่นี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สหรัฐจะต้องรีบตัดสินใจเลือกทำสงครามการค้ากับจีนในตอนนี้ เพราะจะดีกว่าการปล่อยให้สถานการณ์เลวร้ายมากกว่านี้เมื่อจีนสามารถไล่ตามสหรัฐได้ทันในเชิงเทคโนโลยีชั้นสูง

ล่าสุดก็มีท่าทีว่า ทั้ง 2 ฝ่ายจะสามารถตกลงหาข้อสรุปร่วมกันได้ในเบื้องต้นเพื่อจำกัดขอบเขตของสงครามการค้านี้ไม่ให้บานปลายมากขึ้นก่อนเส้นตายในวันที่ 2 มี.ค.2562 ที่สหรัฐเคยประกาศว่าจะปรับขึ้นอัตราภาษีสินค้านำเข้าสินค้าจากจีน โดยที่จีนได้ยื่นข้อเสนอที่จะให้มีการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐมากขึ้น เพื่อลดปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐที่มีกับจีน ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้ประธานาธิบดีสหรัฐสามารถอ้างความสำเร็จทางการเมืองบางส่วนจากนโยบายของเขาที่ได้ประกาศไว้ในช่วงหาเสียงได้ แม้ว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่แท้จริงจะมีไม่มากก็ตาม เพราะนักเศรษฐศาสตร์ในฝ่ายพรรครีพับลิกันได้ออกมาวิเคราะห์แล้วว่า การเพิ่มการนำเข้าสินค้าของสหรัฐโดยจีนนี้น่าจะมีผลต่อการลดภาวะขาดดุลการค้าของสหรัฐในระยะสั้นเท่านั้น เพราะตราบใดที่ชาวอเมริกันเองยังไม่สามารถเพิ่มอัตราการออมโดยรวมภายในประเทศให้สูงขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญแล้ว ก็จะไม่สามารถลดระดับการขาดดุลการค้าโดยรวมที่เกิดจาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศที่มากเกินไปได้อยู่ดี

นอกจากนี้แล้ว ยังมีส่วนที่ยากที่สุดที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ ซึ่งก็คือประเด็นเรื่องที่สหรัฐกล่าวหาจีนว่าได้ลักลอบขโมยความลับทางเทคโนโลยีจากบริษัทของสหรัฐที่เข้าไปลงทุน ซึ่งทางจีนได้ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้มาตลอด และแม้สมมติว่าทั้ง 2 ฝ่ายหาข้อสรุปในเรื่องนี้ได้ ก็ยังจะเป็นเรื่องที่ยากมากที่สหรัฐจะมั่นใจในข้อกำหนดบังคับที่จะใช้ได้ในทางปฏิบัติในกรณีที่หากเกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้นอีกในอนาคต

ดังนั้น ทางออกที่จะเป็นไปได้และเป็นประโยชน์กับทั้ง 2 ฝ่ายก็คือ ในที่สุดแล้ว อาจจะต้องออกมาในรูปที่สหรัฐยินยอมขายเทคโนโลยีบางอย่างที่จีนต้องการในราคาที่จีนยอมรับได้ หรือในบางกรณีก็อาจเป็นการลงทุนร่วมกันเพื่อร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ต่อไปก็ได้ ซึ่งก็จะเป็นทางออกที่จะสามารถช่วยลดต้นทุนในการตรวจสอบฝ่ายตรงข้ามในเรื่องการละเมิดข้อตกลงให้ได้อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ทางออกในลักษณะนี้จะมีความเป็นไปได้จริงนั้น อาจจำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในเงื่อนไขข้อจำกัดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนหนึ่งเสียก่อน ซึ่งก็อาจรวมถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจและการเมืองโลกในอนาคตด้วย ดังนั้นโจทย์เหล่านี้จึงเป็นโจทย์วิจัยใหม่ที่ท้าทายสำหรับผู้เกี่ยวข้องที่ต้องการจะลดข้อขัดแย้งเพื่อนำไปสู่ทางออกที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายได้ต่อไปในอนาคต