ทุนมนุษย์ ของประเทศไทย

ทุนมนุษย์ ของประเทศไทย

ครั้งหนึ่งในที่ประชุม กมธ. สาธารณสุข เรื่องทุนมนุษย์(Human Capital) มีผู้ชี้แจงจากหน่วยงานสำนักงานนโยบายและแผน

 และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่ฟังแล้ว ไม่ประทับใจการชี้แจงเลย เพราะเพียงแต่มาอธิบายให้ฟังว่าตัวชี้วัดแต่ละตัวมีความหมายอย่างไร แต่ไม่ได้วิเคราะห์ให้เห็นที่มาของตัวชี้วัดว่ามาจากอะไร และการให้น้ำหนักของตัวชี้วัดทำอย่างไร ทำไมผลจึงออกมาอย่างนั้น และการจัดอันดับของธนาคารโลกเรื่องทุนมนุษย์น่าจะมีประโยชน์กับประเทศไทยอย่างไร

ธนาคารโลกได้จัดอันดับจากดัชนีชี้วัดทุนมนุษย์เรียกว่า Human Capital Index 2018 เป็นครั้งแรก และเผยแพร่ในเดือนต.ค.ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศสมาชิกทั้ง 157 ประเทศได้รู้สถานะทุนมนุษย์ของตนว่ามีศักยภาพ ประสิทธิภาพ มีความสามารถในการแข่งขันระดับไหนเมื่อเทียบเคียงกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก โดยมีคะแนนเต็มที่ 1.0 ซึ่งไม่มีประเทศไหนได้คะแนนเต็ม ประเทศที่ได้คะแนนสูงสุดคือสิงคโปร์ ที่ได้ 0.88 เป็นอันดับ 1 และประเทศไทยได้คะแนน 0.60 เป็นอันดับที่ 68 ตัวชี้วัด (Human Capital Index) ที่ธนาคารโลกนำมาคำนวณ ประกอบด้วยอัตราการรอดชีวิตของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี (Probability of Survival to Age 5) ค่าเฉลี่ยจำนวนปีการศึกษาของเด็ก(Expected Years of School) การศึกษาที่มีคุณภาพเฉลี่ย(Learning-adjusted Years of School) คะแนนทดสอบเชิงเหตุผล(Harmonized Test Scores) อัตราเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีที่ไม่แคระแกร็น(Healthy Growth Under 5 Not Stunted) และอัตราการรอดชีวิตของผู้ใหญ่(Adult Survival Rate)

ประเด็น คือ ตัวชี้วัดทั้งหมดนี้เกือบทั้งหมดไม่ได้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน แต่ธนาคารโลกได้นำมาหาค่าเฉลี่ยโดยการถัวน้ำหนัก แล้วเอาค่าถัวเฉลี่ยมาคำนวณอีกครั้งหนึ่งเป็นน้ำหนักด้านศักยภาพทุนมนุษย์ ก่อนที่จะจัดอันดับ ถ้าไล่เรียงกันมาตั้งแต่ต้นจะพบว่าตัวแปรแต่ละตัวนั้นมีที่มาที่ไปต่างกัน ทั้งนี้เพราะแต่ละสังคมมนุษย์มีระดับพัฒนาการทางเศรษฐกิจสังคมการเมืองไม่เท่ากัน อาทิเรื่องคะแนนทดสอบเชิงเหตุผล ที่พบว่าธนาคารโลกใช้คะแนนทดสอบของเด็กที่เข้าทดสอบ PISA บ้างTIMMS บ้าง PIRLS บ้าง หรือการสอบระดับภูมิภาคเช่น SACME, PSSEC, LIECE, EGRA ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีความเสมอต้นเสมอปลายหรือ Consistency ในทุกการสอบที่จัดขึ้น ไม่อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน คะแนนที่ได้มาก็ไม่แน่นอนเพราะบางปีเข้าทดสอบ บางปีไม่เข้าทดสอบ

อีกตัวแปรที่น่าจะมีปัญหามาก คือเรื่องอัตราการรอดชีวิตของผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องการทำนายอนาคตว่าเด็กอายุ 15 ปี ในปีที่ทำการสำรวจจะมีชีวิตอยู่รอดถึงอายุ 60 ปีมากน้อยขนาดไหน ในสภาวะสุขภาวะปัจจุบัน ซึ่งสำหรับประเทศไทยในขณะปัจจุบันประชาชนมีความเสี่ยงจากโรคที่ไม่ติดต่อสูงมาก รวมทั้งอุบัติเหตุทางถนนที่สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่โรคเหล่านี้จะไม่คงที่ การทำนายโดยใช้ข้อมูลปัจจุบันเพื่อทำนายอนาคตอีก 45 ปี จึงเป็นเรื่องของประมาณการหรือ projection ที่มีโอกาสคลาดเคลื่อนสูง

แม้กระทั่งเรื่องดัชนีจำนวนปีที่ได้รับการศึกษาในโรงเรียน แต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกัน ขนาดประเทศไทยเองยังเปลี่ยนแปลงตลอด การศึกษาภาคบังคับกำหนด 9 ปี แต่ให้การศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 15 ปี การตั้งต้นการรับการศึกษาอาจเริ่มตั้งแต่เกรดหนึ่งถึงจบมัธยมปลาย แต่บางประเทศอาจเริ่มตั้งแต่อนุบาลปฐมวัย และอีกจำนวนมากไม่ได้อยู่ในระบบสายสามัญหรือการศึกษาในโรงเรียน (Main Stream) แต่เป็นการศึกษานอกระบบ หรือแม้แต่เป็นการศึกษาด้วยตนเองหรือ Home School โดยเฉพาะประเทศด้อยพัฒนาที่ระบบการศึกษาในโรงเรียนไม่พร้อม และเมื่อนำมาพิจารณาสร้างดัชนีที่เรียนรู้จริง (Learning-adjusted Years of School) โดยคำนวณจากสัดส่วนของจำนวนปีที่นักเรียนในประเทศเรียนจริงๆ ลดทอนด้วยสัดส่วนของคะแนนสอบมาตรฐานของประเทศ ตัวเลขที่ได้ย่อมถูกบิดเบือนลงไปอีก

ที่พูดมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้หมายความว่าการจัดอันดับของธนาคารโลกเป็นเรื่องไร้สาระ แต่เป็นเรื่องที่ประเทศไทยควรนำมาวิเคราะห์ต่อในเรื่องที่เป็นจุดอ่อนของประเทศ และถ้าเราแก้ไขได้ตรงจุด ทุนมนุษย์ของประเทศไทยก็จะขยับสูงขึ้น และความเชื่อมั่นของต่างประเทศที่มีต่อประเทศไทยก็น่าจะเพิ่มสูงขึ้น

หลังจากผู้ชี้แจงได้อธิบายเนื้อหาของตัวชี้วัดและแผนงานของกระทรวงที่จะพัฒนาทุนมนุษย์แล้ว ได้ตั้งข้อสังเกตว่า

1.ธนาคารโลกให้น้ำหนักคะแนนทดสอบนานาชาติสูงมาก ทำให้ค่าเฉลี่ยดัชนีไทยต่ำ เรื่องนี้หน่วยงานควรนำไปวิเคราะห์แยกแยะให้ชัดเจนว่าที่คะแนนทดสอบของเด็กไทยต่ำนั้นเป็นเพราะอะไร และควรแยกแยะเพื่อใช้ในการพัฒนาความสามารถในการเข้าทดสอบของเด็กไทยที่มีความแตกต่างกันเช่นเด็กในเมืองกับเด็กชนบท เด็กที่เรียนโรงเรียนเน้นวิทยาศาสตร์กับเด็กโรงเรียนทั่วไป หรือเด็กสายสามัญกับเด็กสายอาชีวะ เพื่อค้นหาว่าเด็กกลุ่มไหนที่ต้องพัฒนามากสุด เพราะเท่าที่ทราบนั้นค่าเฉลี่ยคะแนนPISA ของเด็กไทยในเขตเมืองนั้นไม่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของเด็กสิงคโปร์ที่ถือว่าเป็นเด็กเขตเมืองเช่นกันเพราะสิงคโปร์เป็น City State ทั้งประเทศมีเพียงเมืองเดียว

2.เรื่องของทุนมนุษย์นั้น ไม่สามารถพิจารณาจากตัวแปรของธนาคารโลกโดยตรง แต่ต้องดูตัวแปรอื่นที่มีผลต่อตัวแปรที่ธนาคารโลกนำมาเป็นตัวชี้วัดด้วยเช่นเรื่องคุณภาพชีวิตตามมาตรฐาน หรือที่เรียกว่าQuality of Standard of Living ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะแค่ตัวชี้วัดด้านการศึกษากับสุขภาพเพียงสองตัวย่อมไม่พอเพียง

3.เรื่องทุนมนุษย์นี้ สิ่งที่สำคัญไม่ใช่ดัชนีแต่เป็นสัดส่วนระหว่างการลงทุน (Cost หรือInput) ที่ทำทำให้เกิดผลลัพธ์ (Output) การที่จะถือว่ามีทุนมนุษย์มากน้อยเพียงใดเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาจากสัดส่วนของการลงทุนต่อผลที่ได้รับ ถ้าได้ผลมากกว่าทุนที่ลงไปย่อมถือว่าได้ประโยชน์หรือคุ้มค่าจากการลงทุน ถ้าได้ผลน้อยกว่าที่ลงทุนก็ต้องหาทางแก้ไขเรื่องที่ลงทุนว่าจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการอย่างไร ให้ได้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่ามากขึ้น ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นี้อาจไม่ใช่ตัวเงินแต่เป็นเรื่องศักยภาพ ผลิตภาพ ความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น และ

4.หน่วยงานรัฐควรพิจารณาเรื่องอื่นที่ไม่ใช่แต่ตัวชี้วัดตัวที่ธนาคารโลกนำมาใช้พิจารณาคำนวณ อาทิในปัจจุบันมีการนำองค์ประกอบทางสังคมด้านสุขภาพมาคำนวณที่เรียกว่า Social Determinant of Health ที่ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเยล สหรัฐ พบว่าต้นทุนมนุษย์ไม่ได้มีแค่เรื่องเงิน แต่มีเรื่องการถูกทอดทิ้งจากสังคม ซึ่งมีความสัมพันธ์กันอย่างมาก ระบบสุขภาพไม่ใช่แค่เรื่องความเจ็บป่วยจากโรคภัยไข้เจ็บ แต่เป็นเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ การมีสังคมที่ชุมชนช่วยกันดูแล ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และสิ่งเหล่านี้จะนำมาซึ่งการห่างไกลจากความเจ็บป่วยโดยเฉพาะจากโรคไม่ติดต่อเช่นความดัน เบาหวาน มะเร็ง หัวใจ ที่เป็นตัวชี้วัดที่เป็นปลายเหตุ

ที่ประชุมมีความเห็นว่าประเทศไทยน่าจะเพิ่มอันดับให้สูงขึ้นได้ ถ้าเราสามารถจัดการกับปัญหาที่เป็นต้นเหตุ ที่ธนาคารโลกนำมาเป็นตัวชี้วัด ถ้าเราแก้ถูกจุด ก็มีโอกาสขยับอันดับได้อย่างมาก เพราะเรามีหลายอย่างที่บางประเทศไม่มีเช่นระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้ารักษาฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย และมีการศึกษาฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับเด็กและเยาวชนให้ยาวนานถึง 15 ปี ซึ่งหลายประเทศไม่มี ตรงนี้น่าจะเป็นจุดแข็งที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถยกระดับทุนมนุษย์ได้มากขึ้น แต่ก็ไม่แน่ใจมากนัก เพราะทั้งระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าของ สปสช. ก็ดี ระบบการศึกษาในโรงเรียนของกระทรวงศึกษาก็ดี ยังวนเวียนอยู่กับปัญหาเดิมๆมากมายแก้ไม่จบ