จับตา “สนช.” ดันร่างพ.ร.บ.ข้าว

จับตา “สนช.” ดันร่างพ.ร.บ.ข้าว

เรียกได้ว่า เป็นโค้งสุดท้ายของ “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” (สนช.) ต่อการพิจารณาร่างกฎหมาย ล่าสุด มีร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)

ที่ค้างในวาระพิจารณาสอง และ วาระสาม อีก 22 ฉบับ

 แต่มี “ร่างพ.ร.บ.” ที่ถูกสังคมจับตาและกลายเป็นประเด็นร้อน ก่อนที่ “สนช.” จะลดบทบาทด้านการทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ คือ ร่างพ.ร.บ.ข้าว พ.ศ... ฉบับที่ สมาชิก สนช. เข้าชื่อร่วมกันเสนอ และมี พล.อ.มารุต ปัชโชตะสิงห์ เป็นประธาน กมธ. โดยบรรจุในวาระพิจารณา วันที่ 26 กุมภาพันธ์ นี้ และถูกเสนอเป็นวาระพิจารณาแรก

ก่อนหน้านั้น เนื้อหาของร่างกฎหมาย​ ถูกท้วงติงจากสังคมอย่างหนัก ต่อประเด็นการ เข้าควบคุม มากกว่า สนับสนุนให้ภาคเกษตรกรมีศักยภาพด้านการผลิตข้าวที่มีคุณภาพ ทำให้ “พล.อ.มารุต” ยอมถอยจากเดิมที่จะพิจารณาเนื้อหา เมื่อสัปดาห์ก่อน และนำไปปรับปรุง ถึง 3 วันเต็มๆ ก่อนจะส่งร่างที่ปรับปรุง เข้าสู่การพิจารณาของ “สนช.”

โดยเนื้อหาที่ถูกปรับปรุง อาทิ การกำหนดให้ ชาวนารายย่อย นำพันธุ์ข้าวที่ไว้แลกเปลี่ยนกันในชุมชน​ทุกสายพันธุ์ ไปให้ กรมการข้าว ตรวจสอบและรับรองพันธุ์ว่าเป็นเมล็ดข้าวที่สามารถปลูกได้อย่างมีคุณภาพ ปรับเป็น “พันธุ์ข้าวที่ชาวนารายย่อย เก็บซึ่งเป็นพันธุ์เฉพาะท้องถิ่น หรือ พันธุ์พื้นเมือง ไม่ต้องถูกตีตราหรือรับรองว่าเป็นเมล็ดข้าวที่มีคุณภาพ” และสามารถปลูกได้ตามปกติ แต่กรณีที่ชาวนาอยากได้ “ใบรับรองพันธุ์” เพื่อต่อยอดทางการค้า - เพิ่มมูลค่าของผลผลิต สามารถยื่นขอใบรับรองจากกรมการข้าวได้

ขณะที่บทลงโทษชาวนาเฉพาะราย หรือเฉพาะคนนั้น ถูกตัดออก แต่มาตรการควบคุมมาตรฐาน หรือ ป้องปรามนำเข้า ข้าวเปลือกเถื่อน ยังมีอยู่ โดยกำหนดให้ การซื้อ-ขายข้าว ต้องมีใบเสร็จ อย่างน้อย ระบุว่ามาจากไหน จำนวนเท่าใด แต่หากคุมไม่อยู่และตรวจพบข้าวเปลือกที่นำเข้าผิดกฎหมาย ไม่มีที่มา “กรมการข้าว” สามารถสั่งระงับได้ รวมถึง ระงับการซื้อขายข้าวเปลือก จากมือชาวนา ถึง ชาวนา

ส่วนมาตรการควบคุม ธุรกิจขายเมล็ดพันธุ์ข้าว ร่างกฎหมายไม่มีบทควบคุมที่ชัดเจน เพียงแต่ระบุบทลงโทษ ผู้ประกอบธุรกิจจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว หากขายพันธุ์ที่อาจสร้างความเสียหายกับชาวนา หรือ เศรษฐกิจของประเทศ “กรมการข้าว” มีสิทธิสั่งระงับการจำหน่าย และหากฝ่าฝืนคำสั่ง ต้องโดนโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือ จำคุก 1เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ

ซึ่งถือเป็นมาตรการอย่างอ่อน ต่อ “ธุรกิจขายเมล็ดพันธุ์ข้าว” ที่อาจสร้างความเสียหายในวงกว้างและกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่ “สนช.” จะพิจารณารายมาตรา ก่อนลงมติ เชื่อว่า “สมาชิก สนช.” ที่เห็นแก่ประโยชน์ของชาวนา และประเทศ ต้องอภิปรายถึงรายละเอียดอย่างเข้มข้น เพื่อให้การเขียนกฎหมายแม่บท เพื่อชาวนา เกิดประโยชน์กับ กระดูกสันหลังของชาติ อย่างแท้จริ

นอกจากวาระนี้ ยังมีร่างกฎหมายที่ต้องจับตา ในชั้นพิจารณาของสนช. ที่มีกำหนดประชุม ไปจนถึง กลางเดือนมีนาคม ก่อนปรับบทบาท ไปเป็น ลงพื้นที่ฟังเสียงชาวบ้าน คือ ร่างพ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่ให้ อำนาจรัฐ สามารถเข้าควบคุมและยับยั้งสิทธิและเสรีภาพอันเป็นพื้นฐานของประชาชน 

แม้ในคำนิยามสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าว จะเป็นไปเพื่อเกิดประโยชน์กับชาติ-ความมั่นคง-ประชาชน แต่หากไม่สามารถควบคุม เจ้าหน้าที่รัฐ ให้ใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจ ต่อให้หลักการของร่างกฎหมายจะดีเพียงใด ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า ร่างกฎหมายที่กำหนดอาณาเขตการใช้อำนาจอย่างกว้างขวาง ย่อมมีมุมมอง 2 ด้าน

และในทางที่เป็นคุณ เป็น ประโยชน์​ย่อมมีด้านที่เป็นโทษเสมอ.

โดย... เทพจร