น้ำมันขาขึ้น ช่วยประคองตลาดหุ้น

น้ำมันขาขึ้น ช่วยประคองตลาดหุ้น

สถานการณ์การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกมีแนวโน้มที่ดีขึ้น

ดัชนี SET index เดือน ก.พ.62 ผันผวนตามคาด อย่างไรก็ดีสถานการณ์การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนดัชนี SET index โดย 

i) แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของ ธ.กลางสหรัฐฯ (เฟด) น่าจะชะลอลงชัดเจนในปีนี้ หลังรายงานการประชุม ธ.กลางสหรัฐฯ (US Fed meeting minutes) ล่าสุด ชี้ว่า เฟดน่าจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่ภายในสิ้นปี 2562 เฟดน่าจะประกาศความชัดเจนในการยุตินโยบายลดสภาพคล่อง ซึ่งจะเป็นบวกกับสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก และน่าจะช่วยจำกัดการไหลออกของเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ

ii) แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ฟื้นตัวแรง ต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2562 และล่าสุดรัฐมนตรีพลังงานของประเทศซาอุดิอาระเบีย ระบุว่าประเทศซาอุดิอาระเบียจะลดปริมาณการผลิตลงให้เหลือ 9.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน มี.ค.62 ต่ำกว่าเป้าหมายปริมาณการผลิต 10.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามข้อตกลงลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปก นอกจากนี้ทางกลุ่มโอเปกยังเปิดเผยในรายงานฉบับเดือน ก.พ.62 ว่าปริมาณการผลิตของกลุ่มฯ ในปัจจุบันลดลงเหลือ 30.8 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ม.ค. (ลดลง 8 แสนบาร์เรลต่อวัน จากเดือน ธ.ค.61) ทำให้ฝ่ายวิจัย บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) ประเมินว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบจะฟื้นตัวขึ้นเป็นประมาณ 70 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรลภายใน 1H62 จากการที่กลุ่มโอเปกลดปริมาณการผลิตลง 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน และปริมาณนำมันดิบในตลาดโลกที่จะลดลงจากการที่สหรัฐฯ ห้ามนำเข้าน้ำมันดิบจากประเทศอิหร่านทุกประเทศ (ปัจจุบันสหรัฐยังอนุญาติให้บางประเทศสามารถซื้อน้ำมันดิบจากประเทศอิหร่านถึง พ.ค.62 ดังนั้นหลังเดือน พ.ค.62 อุปทานน้ำมันดิบในตลาดจะโลกจะลดลงนั่นเอง) ซึ่งหากราคาน้ำมันดิบเป็นทิศทางการฟื้นตัวตามคาด หุ้นในกลุ่มพลังงานน่าจะมีแนวโน้มผลการดำเนินงานฟื้นตัวได้ใน 1H62 หลังจากที่ต้องเผชิญกับการบันทึกผลขาดทุนจากสต๊อกใน 4Q61 (เป็น 1 ในปัจจัยที่เราประเมินไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยเดือน ก.พ.62 มีความผันผวนในช่วงการรายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2561)

iii) สถานการณ์การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน เริ่มมีพัฒนาการในทางที่ดีขึ้น และมีโอกาสที่ทางสหรัฐฯจะยืดเวลาเส้นตายการเจรจาการค้าออกไปจากเดิมในเดือน มี.ค.62 นี้ 

อย่างไรก็ดีแม้จะมีประเด็นบวกต่อตลาดหุ้นไทย แต่ในเชิงของ Valuation นั้น โอกาสในการปรับขึ้นของดัชนี SET index ในระยะสั้น อาจต้องเผชิญปัจจัยกดดันจาก PE ที่จะพุ่งขึ้นทั้งในมุมของ Trailing PE (อัตราส่วนราคาเทียบกับ EPS ย้อนหลัง 4 ไตรมาส) และ Forward PE (อัตราส่วนราคาเทียบกับประมาณการ EPS) โดยเราประเมินว่า 1) กำไรของบริษัทจดทะเบียนที่จะรายงานในช่วงโค้งสุดท้ายของเดือน ก.พ.62 นั้น โดยรวมจะลดลงราว 25-30% YoY ซึ่งจะทำให้ Trailing PE ของ SET index ปรับขึ้นโดยอัตโนมัติ ล่าสุด Trailing PE ของ SET index ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 16 เท่า (ต้นปี 2562 อยู่ที่ 14.8 เท่า) และ 2) Forward PE เสี่ยงที่จะเพิ่มขึ้น จากการปรับลดประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียน โดยล่าสุดข้อมูลจาก Bloomberg consensus (ข้อมูลประมาณการฯโดยเฉลี่ย) EPS ปี 2562 ของ SET index อยู่ที่ 111.4 บาท/หุ้น ถูกปรับลดลงมาจากเมื่อต้นปีแล้วราว -3.3% และล่าสุด Forward PE ของ SET index อยู่ที่  14.8 เท่า (ต้นปี 2562 อยู่ที่ 13.7 เท่า) ซึ่งเราประเมินว่าการปรับปรุงประมาณการฯของนักวิเคราะห์จะเริ่มนิ่งและเห็นภาพ Valuation ของ SET index ที่ชัดเจนขึ้นในช่วงเดือน มี.ค.62 ภายหลังการประชุมนักวิเคราะห์ หลังรายงานงบการเงินประจำปี 2562

สำหรับการลงทุนในระยะกลาง เรายังแนะนำให้จับตาสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังมีสัญญาณการชะลอตัว ล่าสุดส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯระยะยาว (อายุ 10 ปี) และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น (อายุ 3 เดือน) ยังลดลงต่อเนื่องแสดงให้เห็นสภาวะ Flat yield curve ที่เป็นการส่งสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัวในอีก 12 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ล่าสุด ข้อมูล ณ วันที่ 4 ก.พ. โดย เฟดสาขานิวยอร์ก โอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว หรือ Recession ในอีก 12 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 23.6% สูงสุดตั้งแต่หลังวิกฤตฯปี 2551 (เฟดสาขานิวยอร์กใช้ข้อมูล Yield curve ในการพยากรณ์)

อย่างไรก็ดี นักลงทุนควรติดตามข้อมูลดังกล่าวสำหรับการพิจารณาการลงทุนในระยะกลาง แต่ไม่ควรที่จะตื่นตระหนกกับตัวเลขความน่าจะเป็นดังกล่าวมากเกินไป ดังที่ผมเคยได้อธิบายไว้ในบทความที่ลงตีพิมพ์ใน นสพ กรุงเทพธุรกิจ ช่วงปลายปี 2561 แล้ว ("Flat Yield Curve ตระหนัก แต่อย่าเพิ่งตื่นตระหนก")

โดยสรุปกลยุทธ์การลงทุนในตลาดหุ้นไทย เราประเมินว่าดัชนี SET index จะยังคงผันผวนอยู่ โดยมีปัจจัยบวกจากต่างประเทศ แต่ก็มีปัจจัยลบที่คอยถ่วงดุลคือเรื่อง Valuation ของตลาดหุ้นไทย ดังนั้นจึงยังคงแนะนำกลยุทธ์ 'ขายทำกำไร' เมื่อราคาปรับขึ้นแรง และ "ซื้อสะสม" เมื่อราคาปรับลงแรง โดยประเมินแนวต้านที่สำคัญของ SET index ในระยะสั้นคือระดับดัชนี 1,660 จุด (เส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน EMA) โดยหุ้นกลุ่มที่น่าสนใจจะเป็นหุ้นกลุ่มที่เชื่อมโยงสินค้าโภคภัณฑ์ที่ Underperform ตลาดมาก่อนหน้านี้ เช่น หุ้นกลุ่มพลังงานและโรงกลั่น