อนาคตใหม่ กับ “หนักแผ่นดิน”

อนาคตใหม่  กับ “หนักแผ่นดิน”

เมื่อได้ยินเสียงเพลงหนักแผ่นดิน ผู้อาวุโสวัย 60-70 ต่างออกมากระตุกสังคมให้เรียนรู้ถึงอดีต แต่เพลงปลุกระดมฝ่ายขวาไทย ไม่ได้เกี่ยวข้อง

กับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เท่านั้น หากแต่ยังส่งผลกระทบถึง “พรรคการเมืองเชิงอุดมการณ์” สมัยโน้นอยู่ 2-3 พรรค

มองปรากฏการณ์ อนาคตใหม่ในวันนี้ ทำให้นึกถึง พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยและ พรรคพลังใหม่เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว

สองพรรคการเมืองข้างต้น เป็นศูนย์รวมปัญญาชนก้าวหน้า และคนหนุ่มสาวร่วมสมัย ผู้มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย และต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง

พรรคสังคมนิยมฯ ปักป้ายสังคมนิยมเด่นชัด ส่วนพรรคพลังใหม่ ยังอยู่ก้ำกึ่งระหว่างเสรีนิยมกับสังคมนิยมแบบรัฐสวัสดิการ

เลือกตั้ง 2518 สองพรรคคนรุ่นใหม่ ได้ ส.ส.มาเกินคาด และส่วนใหญ่กว่า 90% เป็นนักการเมืองหน้าใหม่ แต่โชคร้ายที่อุดมการณ์สังคมนิยมเบ่งบาน กลางสมรภูมิรบระหว่างฝ่ายขวากับฝ่ายซ้าย

เลือกตั้ง 2519 กระแสลมขวาจัดพัดแรงราวพายุใหญ่ กวาดอดีต ส.ส.พรรคสังคมนิยมฯ และพรรคพลังใหม่สอบตกกราวรูด

การล่มสลายของกองกำลังติดอาวุธในเขตป่า ส่งผลให้กระแสสังคมนิยมแบบจีนตกต่ำ และโรยราไปตามกาลเวลา สวนทางกับ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ที่หยั่งรากลึกในสังคมไทย ด้วยการบริหารประเทศของนายกฯ เปรม

เลือกตั้ง 2544 “ทักษิณ ชินวัตร” ปรากฏตัวบนถนนการเมืองสายประชาธิปไตยเต็มใบ หลังรัฐธรรมนูญ 2540 มีผลบังคับใช้และชุดนโยบายประชานิยม ฝังลึกบนแผ่นดินชนบท โดยเฉพาะภาคอีสาน และภาคเหนือมาจนถึงวันนี้

แม้จะมีรัฐประหาร 2 ครั้ง มีรัฐบาลพิเศษ 2 ชุด แต่ก็ยังไม่สามารถลบล้าง “ประชานิยมทักษิณ” ออกจากความคิดชาวบ้านได้

เลือกตั้ง 2562 คนรุ่นใหม่อย่าง ปิยบุตร แสงกนกกุลกับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจเริ่มต้นคิดการณ์ใหญ่ ตั้งเป้า เปลี่ยนการเมืองไทยด้วยการตั้งพรรคการเมืองลงสู่สังเวียนเลือกตั้ง

ปิยบุตร มีฐานมาจาก “คณะนิติราษฎร์” ซึ่งเป็นกลุ่มอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนธนาธร มีฐานทุนจากบริษัทของตระกูล “จึงรุ่งเรืองกิจ” ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ระดับโลก

เนื่องจาก ปิยบุตร จบกฎหมายจากฝรั่งเศส จึงได้รับอิทธิพลความคิดปีกซ้ายมาพอควร ส่วนธนาธร เติบโตมาในกงสีใหญ่ แต่ซึมซับแนวคิดก้าวหน้าสมัยเรียนที่ธรรมศาสตร์

เหลือเวลาอีกไม่วัน ก็จะมีการเลือกตั้ง พรรคอนาคตใหม่ กลายเป็นพรรคแห่งความหวังของคนรุ่นใหม่

แต่ธนาธร และมิตรสหาย อาจซ้ำรอยนักการเมืองหัวก้าวหน้า เมื่อ 40 ปีก่อน ท่ามกลางความขัดแย้งแตกหักของฝ่ายขวากับฝ่ายซ้าย พรรคสังคมนิยมฯและพรรคพลังใหม่ ถูกบดขยี้จนล้มหายตายจากไป

การปะทะกันของฝ่ายอนุรักษนิยมกับฝ่ายประชานิยม อาจทำให้ อนาคตใหม่วูบดับ นี่คือสภาพวัฒนธรรมการเมืองไทย