พินิจภาพสะท้อนที่หลากหลาย ‘ฉาอิรสุลตันเมาลา' ตอน 2*

พินิจภาพสะท้อนที่หลากหลาย ‘ฉาอิรสุลตันเมาลา' ตอน 2*

ลักษณะการเขียนรายงานวิจัยนี้ (1) ใช้อักษรไทยบางรูปแทนหน่วยเสียงภาษามลายูมาตรฐาน ภาษาอาหรับ และภาษาอื่น ๆที่ไม่ใช่ภาษาไทย

(2) ใช้คำภาษามลายูในลักษณะคำทับศัพท์ในกรณีเป็นคำนามเฉพาะ (3) ใช้คำนำหน้านามบุคคลของไทยตามสำเนียงภาษาไทย (4) การแปลบทกลอนภาษามลายูเป็นภาษาไทยวรรคต่อวรรคเป็นการแปลเอาความ โดยไม่ได้ยึดรูปแบบร้อยกรองภาษาไทย เพราะต้องการเน้นที่ความถูกต้องของเนื้อหา (5) มีการเขียนข้อความภาษาไทยและกำกับด้วยภาษามลายู เพื่อยืนยันความเดิม (6) ตัวบท “ฉาอิรสุลตันเมาลานา” ฉบับปริวรรตเป็นอักษร“รูมี” ในงานวิจัยนี้เป็นผลงานของ “รัตติยา สาและ”

ผลการวิจัย

การศึกษาตัวบท ฉาอิรสุลตันเมาลานา หรือ ฉสม ตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ ทำให้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ทั้ง 4 ข้อ ดังนี้

  1. ตัวบท ฉาอิรสุลตันเมาลานาบอกผู้อ่านให้รู้เรื่องอย่างกว้าง ๆ 5 เรื่อง

เรื่องที่ 1.  ตัวบท ฉสม ประกอบด้วยเนื้อหาสำคัญๆ 3 ส่วนได้แก่ (1) ฉาอิรบทที่ 1-36 เป็นการเปิดเรื่อง ซึ่งผู้รจนา ฉสม ได้เชิญชวนผู้อ่านให้ฟังกลอนสดุดีสุลตันอะฮมัดตาฌุดดินฮาลิมฉะฮ ที่ 2 ที่พสกนิกรเกอดะฮถวายพระสมัญญานามเป็น “สุลตันเมาลานา” (2)  มีเนื้อหา 4 ส่วนย่อยได้แก่ 2.1) ฉาอิรบทที่ 37-107 กล่าวถึงสุลตันอะฮมัดตาฌุดดินฯ ทรงส่งกองทัพบกเกอดะฮไปช่วยสิงโฆราปราบกบฏดาตูปังกาลัน ที่ปาตานี ในปี พ.ศ.2351 เจ้าเมืองสิงโฆราโกรธเกอดะฮมากที่ไม่ไปช่วยสิงโฆรารบทันเวลา จึงกักขังตัวเตอเมิงฆุงและทหารเกอดะฮไม่ให้กลับเมืองเป็นการลงโทษ ทำให้ดาโตะลักษมาณาต้องนำทหารเกอดะฮร่วมพันนาย เดินทางไปขอขมาเจ้าเมืองสิงโฆราที่ปาตานี ตามพระบัญชาของสุลตันเกอดะฮ 2.2) ฉาอิรบทที่ 108-883 กล่าวถึงสุลตันอะฮมัดตาฌุดดินฯ ทรงส่งอาวุธยุทโธปกรณ์พร้อมด้วยกองทัพเรือ ไปช่วยกองทัพสยาม รบกับพม่าเพื่อกอบกู้เมืองสาลังให้กลับคืนมาเป็นของสยามจนสำเร็จ สงครามระลอกนี้ใช้เวลานานประมาณ 6 เดือน ช่วงแรกพม่ายึดเมืองสาลังได้ แต่สุดท้ายสยามสามารถเอาเมืองสาลังกลับคืน 

2.3) ฉาอิรบทที่ 884-1059 กล่าวถึงสภาพหลังสงครามที่เกาะสาลัง ว่าพม่าได้เผาทำลายบ้านเมืองจนเสียหายมากมาย ฝ่ายกองทัพสยามเมื่อปราบพม่าได้สำเร็จแล้ว ก็แย่งกันขึ้นบกไปยึดทรัพย์สินของพม่า กำจัดคนบาดเจ็บด้วยการฆ่าฟันทิ้ง กวาดต้อนเชลยพม่ามอบแก่สยาม จัดกองกำลังทหารเพื่อคอยกำจัดหากมีพวกพม่าปรากฏให้เห็น ในระหว่างนั้นสยามมีคำสั่งให้ซ่อมแซมบ้านเมือง และสร้างกำแพงเมืองให้ได้เหมือนอย่างเก่า นักรบมลายูต้องทำงานหนักโดยไม่มีวันหยุด กองทัพฝ่ายมลายูยังกลับเมืองไม่ได้จนกว่าจะได้รับคำสั่งอนุญาตให้กลับ อย่างไรพวกเขาก็ต้องทนอยู่ให้ได้ทั้งที่กำลังขาดแคลนอาหาร 

2.4) ฉาอิรบทที่ 1060-1077 กล่าวถึงบรรยากาศที่คนเกอดะฮต้อนรับและรับรองบรรดานักรบเกอดะฮที่เดินทางกลับมาจากการทำสงครามกับพม่าที่สาลัง ที่บรรดาขุนนางชั้นผู้ใหญ่ได้เข้าเฝ้าสุลตันอะฮมัดตาฌุดดินฮาลิมฉะฮ ที่2 ณ ท้องพระโรง เพื่อกราบบังคมทูลทุกเรื่องราวตามแต่ลักษณะและบทบาทหน้าที่ของแต่ละคน ในโอกาสนี้ สุลต่านได้พระราชทานรางวัลและบรรดาศักดิ์แก่ขุนนางเหล่านั้นด้วย และ (3) ฉาอิรบทที่ 1078-1102 เป็นการปิดเรื่อง ในส่วนนี้กวีได้ออกตัวว่า ฉาอิรนี้ไม่ไพเราะหวานซึ้ง เขาได้ผูกเรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้นสำหรับทูลเกล้าฯ ถวายสุลตันอะฮมัดตาฌุดดิน ฯ เพื่อทรงทราบ และกวีได้กล่าวคำขออภัยทุกคนที่ถูกพาดพิง พร้อมทั้งเชิญชวนผู้สนใจให้ช่วยกันปรับปรุงฉาอิรนี้ให้สวยงามต่อไป

เรื่องที่ 2. ได้รู้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสาเหตุที่เกอดะฮต้องมีส่วนร่วมในการทำสงครามปราบกบฏปาตานีในปี พ.ศ.2351 และทำสงครามกับพม่าเพื่อกอบกู้สาลัง(ถลาง)ให้กลับคืนมาเป็นของสยามได้สำเร็จในปี พ.ศ.2352-2353

เรื่องที่ 3. ฉสม ได้ให้ข้อมูลอย่างชัดเจนว่า เกอดะฮไม่สนับสนุนดาตูปังกาลันให้ก่อกบฏในครั้งนั้น แต่เกอดะฮไม่ใช่เป็นฝ่ายทำลายปาตานี การสิ้นชีพของดาตูปังกาลันในสงครามครั้งนั้นเป็นปฏิบัติการของสยาม

เรื่องที่ 4. ได้รู้ว่า ฉสม ถือกำเนิดมาพร้อมกับสงครามใน พ.ศ.2351-2 เป็นอย่างเร็ว คือถือกำเนิดในช่วง 25 ปีแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยกวีนิรนามที่มีภูมิรู้เรื่องกิจสงคราม และเชี่ยวชาญการใช้ภาษา

เรื่องที่ 5. ได้รู้ว่า ฉสม เป็นคลังวรรณกรรมเกอดะฮที่ฝังจิตวิญญาณด้วยพลังชาติพันธุ์นิยมที่สามารถสานพลังรักชาติให้คนรุ่นหลังได้ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้อดีตของแผ่นดินเกิด คนเกอดะฮปัจจุบันเริ่มได้รู้จัก ฉสม บ้างแล้ว และมีผู้บริหารระดับสูงที่มีแนวคิดจะชู ฉสม ให้มีพื้นที่ในกิจการการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ของเกอดะฮ สำหรับฝ่ายไทยก็มีนักวิชาการระดับแนวหน้าในพื้นที่ภาคใต้ของไทยได้กล่าวถึง ฉสม ผ่านเวทีการประชุมสัมมนาที่ภูเก็ต ซึ่งต่อมามีนักเขียนฝั่งอันดามันได้นำ ฉสม ไปเผยแพร่ต่อในวงเสวนาและได้เรียงร้อยเป็นกลอนตีพิม์เป็นหนังสือบ้างแล้ว

[บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของความรู้ที่ได้มาจากงานวิจัยเรื่อง พินิจภาพสะท้อนที่หลากหลายในต้นฉบับตัวเขียนเรื่อง ‘ฉาอิรสุลตันเมาลานา’ ขอขอบคุณ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่ได้สนับสนุนให้การดำเนินงานวิจัยนี้สำเร็จลุล่วงด้วยดี]

โดย...

ศ.ดร.รัตติยา สาและ

นักวิจัย ฝ่าย 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

 

* พินิจภาพสะท้อนที่หลากหลายในต้นฉบับตัวเขียน ‘ฉาอิรสุลตันเมาลานา’ (ตอน 2)