เคล็ดลับนวัตกรรมของหัวเว่ย

เคล็ดลับนวัตกรรมของหัวเว่ย

ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีน “หัวเว่ย” เป็นบริษัทลึกลับ มีแต่คนสงสัยว่าหัวเว่ยพัฒนาอย่างรวดเร็วจนเป็นผู้นำเทคโนโลยีไฮเทคของโลกได้อย่างไร

นักวิเคราะห์ตะวันตกหลายคนเชื่อว่าหัวเว่ยน่าจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนหรือมีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับรัฐบาลจีน จนสามารถเติบโตมาได้ถึงขนาดนี้ และนี่เองเป็นเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลตะวันตกค่อนข้างกังวลกับความปลอดภัยและภัยด้านความมั่นคงจากการใช้เทคโนโลยีหัวเว่ย (เช่น การโจรกรรมข้อมูลหรือส่งข้อมูลกลับไปให้รัฐบาลจีน)

แต่วันนี้เราลองมาฟังความข้างหัวเว่ยกันบ้างนะครับ โดยเฉพาะในเรื่องเคล็ดลับการพัฒนานวัตกรรม เพราะหัวเว่ยเองก็น่าจะมีของดีภายในอะไรบางอย่าง คงไม่ใช่เพียงแค่รัฐบาลจีนสนับสนุนถึงมีวันนี้ได้ (รัฐบาลจีนสนับสนุนกิจการหลายอย่าง ที่เจ๊งระเนระนาดก็มีถมไปครับ) เราลองฟังเคล็ดวิชาของหัวเว่ยดู เพื่อหาข้อคิดมาปรับใช้กับองค์กรของเรากันครับ

สวี่จื๋อจุน ประธานบริหารคนปัจจุบันของหัวเว่ย เพิ่งให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนอังกฤษเกี่ยวกับเคล็ดลับในการทำ R&D (Research & Development) ของหัวเว่ย สวี่จื๋อจุนบอกว่า โจทย์ยากที่สุดในการพัฒนานวัตกรรม คือการรักษาสมดุลย์ระหว่างการวิจัยพื้นฐาน (Basic Research) เพื่ออนาคต กับการวิจัยประยุกต์ (Applied Research) เพื่อตอบโจทย์ตลาด

การวิจัยพื้นฐานคือ การกล้าฝันกล้าตั้งคำถามกับความรู้และเทคโนโลยีพื้นฐาน โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะเอาไปปรับใช้ได้ไหมหรือเอาไปปรับใช้อย่างไร ถ้าไม่มีการวิจัยพื้นฐานเลย ก็ยากที่จะบุกเบิกสิ่งใหม่ แต่ถ้ามุ่งวิจัยพื้นฐานอย่างเดียว แต่สุดท้ายประยุกต์ใช้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ไม่ได้ ก็เปล่าประโยชน์เช่นกัน

หลายคนไม่รู้ว่าจุดเปลี่ยนของหัวเว่ย คือ ปี ค.ศ. 1998 และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ Best Practice ในการทำ R&D จากตะวันตก โดยหัวเว่ยในขณะนั้น ได้ว่าจ้าง IBM มาเป็นที่ปรึกษาด้านการวางโครงสร้างกระบวนการ R&D ของบริษัท

กระบวนการ R&D ของหัวเว่ยที่วางรากฐานมาตั้งแต่ตอนนั้น แบ่งได้เป็น 3 แผนก แผนกแรก คือ แผนกลงทุนเพื่ออนาคต แผนกที่ คือ แผนกลงทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค และแผนกที่ คือ แผนกลงทุนด้านความสามารถทางวิศวกรรมและเทคโนโลยีที่จำเป็นเพื่อที่จะผลิตผลิตภัณฑ์ออกมาให้ได้

พูดง่ายๆ ก็คือ กระบวนการ R&D ต้องครบเครื่องทั้งสามด้าน คือทั้งลงทุนสร้างสรรค์ความฝันใหม่ ลงทุนเอาที่ฝันมาออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ และลงทุนกระบวนการผลิต เช่น ทำโรงงานและวางเทคโนโลยี เพื่อจะทำให้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นเกิดขึ้นได้จริง

ทั้งสามแผนกนี้แบ่งงานกันชัดเจน และงบประมาณ R&D ในแต่ละปี ก็มีการแบ่งประเภทเป็นสามหมวดหมู่ เพราะฉะนั้นหน่วย R&D ในหัวเว่ย ไม่ได้มีหน่วยเดียวหรือมีเป้าประสงค์เดียว แต่ทำเป็นสามด้านและมีสามทีมเชื่อมโยงส่งลูกต่อกัน

แผนกการลงทุนทำ R&D เพื่ออนาคต ซึ่งเน้นการวิจัยพื้นฐาน ทำให้หัวเว่ยประสบความสำเร็จเป็นเจ้าของสิทธิบัตรจำนวนมาก (มีรายงานว่า หัวเว่ยถือครองสิทธิบัตรเกี่ยวกับ 5G ที่เป็นสิทธิบัตรสำคัญๆ โดยตรง 1,600 ฉบับ หรือราวๆ 19% ของสิทธิบัตร 5G ESTI ทั้งหมดในโลก) แต่ในขณะเดียวกัน อีกสองแผนกที่เหลือ ก็ช่วยให้หัวเว่ยสามารถเข็นผลิตภัณฑ์ออกมาตอบโจทย์ตลาดผู้บริโภคได้จริงๆ

ทราบไหมครับว่า นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 เป็นต้นมา เงินลงทุนทำ R&D เพื่ออนาคตของหัวเว่ย ซึ่งเน้นวิจัยพื้นฐานนั้น คิดเป็น 10% ของเงินลงทุน R&D ทั้งหมด ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตัวเลขนี้ค่อยๆ ขยับขึ้นเป็น 20% และมีแผนการว่าจะขยับขึ้นไปเป็น 30% ในอนาคตอันใกล้ นั่นก็คือ นับวันยิ่งต้องให้ความสำคัญมากขึ้นกับการบุกเบิกเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะในยุคนี้ที่โลกหมุนเร็วกว่าเดิมมาก 

อย่างเช่น ในเรื่องเทคโนโลยี 5G (ระบบการสื่อสารไร้สายในยุคที่ 5 ซึ่งมีความสามารถในการส่งข้อมูลในปริมาณที่มากกว่าระบบ 4G ถึง 1,000 เท่า) ตอนนี้หัวเว่ยถือได้ว่าเป็นผู้นำของโลกในด้านเทคโนโลยี 5G เรียบร้อยแล้วครับ แต่กว่าจะมีวันนี้ได้ จุดเริ่มต้นคือ แผนลงทุน 5G เพื่ออนาคตของบริษัท ซึ่งเริ่มทำมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 และตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 เป็นต้นมา อีกสองแผนกที่เหลือก็รับลูกต่อ โดยนำเอาผลวิจัยพื้นฐานต่างๆ ที่สะสมมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 มาพัฒนาจนเป็นผลิตภัณฑ์เกิดขึ้นได้จริง

จะเห็นได้ว่า กว่าที่หัวเว่ยจะมีวันนี้ได้นั้น มีการวางรากฐานมายาวนานนะครับ และยังมีการวางกระบวนการพัฒนานวัตกรรมอย่างครบวงจร ตั้งแต่มีทีมบุกเบิกไอเดียใหม่จนเข็นเป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด

สวี่จื๋อจุน ประธานบริหารคนปัจจุบันของหัวเว่ย ยังบอกว่า ณ ขณะนี้ เทคโนโลยี 5G ซึ่งทุกคนกำลังตื่นเต้นกำลังมาถึงขีดสุดแล้ว สำหรับหัวเว่ยซึ่งต้องมองไปในอนาคตข้างหน้าเสมอ ตอนนี้กำลังหันมาลงทุนพัฒนา 6G โดยคาดการณ์ว่าในช่วงปี ค.ศ. 2028 - 2030 จะสามารถเข็นผลิตภัณฑ์ 6G ออกมาได้

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เหรินเจิ้งเฟยผู้ก่อตั้งหัวเว่ย ได้ให้สัมภาษณ์บีบีซี โดยกล่าวทีเล่นทีจริงว่า ที่ลูกสาวและ CFO ของบริษัท คือ เมิ่งหวั่นโจว ถูกสหรัฐฯ ออกหมายจับนั้น ถ้าสหรัฐฯ ต้องการจะล้มหัวเว่ย ก็ดูท่าจะจับผิดคน เพราะการจับเมิ่งหวั่นโจวจะไม่กระทบกระเทือนหัวเว่ย เพราะหัวเว่ยบริหารงานเป็นระบบและกระบวนการ ไม่ยึดติดกับบุคคล เน้นความเป็นมืออาชีพ เพราะฉะนั้นถึงไม่มีตัวเขาและไม่มีเมิ่งหวั่นโจว หัวเว่ยก็ยังขับเคลื่อนไปสู่อนาคตได้อย่างแน่นอน

เหรินเจิ้งเฟยยังปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่า หัวเว่ยมีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลจีน และยังบอกว่า ไม่มีทางที่สหรัฐฯ จะมาบดขยี้หัวเว่ยได้ เพราะหัวเว่ยได้ขึ้นมาครองเทคโนโลยีแห่งอนาคตเรียบร้อยแล้ว

ฟังเรื่องราวของหัวเว่ยในเรื่องนวัตกรรมแล้ว อย่าลืมย้อนพิจารณาตัวเองและองค์กรนะครับว่า วันนี้ได้เริ่มคิดถึงอนาคตบ้างไหม และคิดได้ครบวงจรไหม?