ยุคที่สมาร์ทโฟน เข้าสู่ “จุดอิ่มตัว”

ยุคที่สมาร์ทโฟน เข้าสู่ “จุดอิ่มตัว”

ได้มีโอกาสมาบรรพชาอุปสมบทที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ประเทศอินเดีย

สถานที่แห่งนี้ เป็นจุดกำเนิดของพุทธศาสนา โดยพระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ จนเกิดเป็นพุทธศาสนา ที่ได้สืบทอดกันมาเป็นเวลากว่า 2,500 ปีแล้ว

กลับมาสู่ปัจจุบัน หากจะต้องแสวงหาจุดกำเนิดของเทคโนโลยีดิจิทัล ที่มีอิทธิพลกับชีวิตของเราอย่างที่ปฏิเสธไม่ได้ คงต้องคิดถึงการอุบัติขึ้นของ สมาร์ทโฟน ที่มาพร้อมกับการประกาศตัวของ ไอโฟน เมื่อ 12 ปีที่แล้ว (ไม่นับ สมาร์ทโฟน จากยุคก่อนหน้า) ที่มาพร้อมกับความง่ายดายของการใช้งานด้วยระบบนิ้วสัมผัส และแอพสโตร์ ที่เปลี่ยนแปลงการใช้งานของ สมาร์ทโฟน จากโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็น เอส - เคิร์ฟ ใหม่ ที่เป็นหน้าต่างแห่งการเข้าสู่บริการในโลกดิจิทัล จากทุกที่ทุกเวลา และดิสรัป ระบบนิเวศของทุกอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

แม้แต่สมาร์ทโฟน ที่ใช้ แอนดรอยด์ จากผู้ผลิต เช่น ซัมซุง หรือ หัวเว่ย ก็เป็นเพียงสิ่งที่ตามมาในภายหลัง จากยุคที่ถูกเริ่มต้นโดยไอโฟน

ในปัจจุบัน การเข้าสู่บริการในโลกดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น เฟสบุ๊ก ยูทูป ไลน์ หรือการใช้งานเว็บทั่วไป ได้อาศัย สมาร์ทโฟน เป็นอุปกรณ์หลักมานานแล้ว และได้แซงหน้าการใช้งานผ่าน คอมพิวเตอร์ หรือ โน้ตบุ๊ก ซึ่งเป็นอุปกรณ์หลักในยุคก่อนหน้า โดยได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าในประเทศที่กำลังพัฒนา ที่ประชากรส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึง คอมพิวเตอร์ หรือ โน้ตบุ๊ก

จะเห็นได้ว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยอดขายของ สมาร์ทโฟน ได้เติบโตขึ้นอย่างถล่มทลาย มีธุรกิจใหม่จำนวนมากที่เติบโตขึ้นมาจากการขายสมาร์ทโฟน และธุรกิจอีกจำนวนมากยิ่งกว่าที่เติบโตขึ้นมาจาก ธุรกิจแอพ บน ไอโฟน และ แอนดรอยด์

แม้แต่ในประเทศไทย ประชากรราวครึ่งหนึ่ง เป็นผู้ใช้งาน สมาร์ทโฟน โดยการล่มสลายของธุรกิจสื่อในยุคเดิม เช่น โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ หรือการปรับตัวของธุรกิจอื่นๆ โดยรวมไปถึงห้างร้าน และ ธนาคาร ที่ถึงกับต้องประกาศแผนลดพนักงาน ก็มีผลพวงมาจาก การปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยมีสมาร์ทโฟน เป็นหน้าต่างหลักในการใช้งาน

แต่ในปัจจุบัน เอส - เคิร์ฟ ใหม่นี้กำลังเข้าสู่จุดอิ่มตัว ดังจะเห็นได้จากยอดขายของไอโฟน ที่กำลังลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ปัญหาดังกล่าว มิได้เกิดขึ้น ด้วยสาเหตุแห่งสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน เท่านั้น พราะแม้แต่ในประเทศไทย ยอดขายของไอโฟน ก็ยังลดลง และรวมไปถึงยอดขายของ ซัมซุง ที่เคยแข่งขันอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่อีกด้วย

แม้ยอดขายของ สมาร์ทโฟน สัญชาติจีน เช่นหัวเว่ย กับ หรือ ออปโป ยังขยายตัวอยู่ แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ผู้บริโภค กำลังเริ่ม ซื้อสมาร์ทโฟนน้อยลง เพราะเทคโนโลยีนี้ กำลังเข้าสู่จุดอิ่มตัวแล้ว ในประเทศไทยเอง กำลังจะเหลือประชากรส่วนน้อย ที่ยังไม่มีสมาร์ทโฟน

ไม่แตกต่างกับ การเข้าสู่จุดอิ่มตัวของ คอมพิวเตอร์ และ โน้ตบุ๊ก เมื่อ 10 ปีก่อนหน้านี้

แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือธุรกิจแอพ ที่เติบโตมาพร้อมกับ สมาร์ทโฟน เช่น เฟสบุ๊ก ฯลฯ ก็กำลังเข้าสู่จุดอิ่มตัวเช่นกัน เมื่อผู้ใช้งานใหม่ ไม่มีการขยายตัวอีกต่อไป กล่าวคือ ทั้งระบบนิเวศที่เติบโตขึ้นมากับ เอส - เคิร์ฟนี้ ล้วนกำลังที่จะเข้าสู่จุดอิ่มตัว

ตามภาษาของผู้บริโภค เรากำลังเข้าสู่ยุคที่รู้สึกว่า ไม่มีอะไรใหม่ ที่ผู้บริโภคตื่นเต้นและพร้อมจะจ่ายเงินจำนวนมากกับ สมาร์ทโฟน อีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นแอปเปิล เจ้าของ ไอโฟนหรือ กูเกิล เจ้าของ แอนดรอยด์ ต่างก็ได้คาดคะเนไว้ล่วงหน้าว่า ยุคเฟื่องฟูของสมาร์ทโฟน ท้ายที่สุดก็ต้องจบ และได้วางแผนไว้ว่าจะไปต่อได้อย่างไร

แอปเปิลวอทช์ กูเกิลกลาสเสส ฯลฯ ต่างก็เป็นความพยายาม ที่จะสร้างอะไรใหม่ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจต่อในยุคหลังสมาร์ทโฟน

อย่างไรก็ดี ก็ยังไม่มีอะไรที่ “โดน แม้ทั้งสองบริษัท และ บริษัทอื่นๆ จะได้ทุ่มทุนทรัพย์ทางการวิจัยพัฒนาอย่างมหาศาล

ตอนนี้ก็ยังไม่มีใครตอบได้ ว่ายุคหลังสมาร์ทโฟน จะเป็นอย่างไร จะมีนวัตกรรมเปลี่ยนโลกอย่างที่สมาร์ทโฟนเคยเป็นอีกหรือไม่

ข้อดีของยุคนี้คือ เราอาจจะกลับไปสู่ยุคที่ ใครๆ ก็เสมอกัน ในการนำเสนอนวัตกรรม ที่มีโอกาสจะกลายมาเป็น เอส - เคิร์ฟ เปลี่ยนโลกสำหรับยุคต่อไป เพราะไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นบริษัทใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในยุคก่อนหน้า ที่จะกลายมาเป็นผู้บุกเบิกสำหรับยุคต่อไป

แต่ก่อนจะถึงเวลานั้น ธุรกิจในยุคปัจจุบัน จะต้องปรับตัว เมื่อยุคที่เฟื่องฟูของของสมาร์ทโฟนที่หลายคนอาจได้คุ้นเคยกันมา จะเริ่มเข้าสู่การสิ้นสุดแล้ว