สิ่งที่เริ่มขาดหายไป......การคิด

สิ่งที่เริ่มขาดหายไป......การคิด

ในวันๆ หนึ่งได้เคยสังเกตบ้างไหมว่าเรามีเวลาและให้ความสำคัญกับ การ “คิด” ซักเท่าใด? จะพบว่าในแต่ละวันเวลาที่ใช้ในการคิดนั้นน้อยลงทุกขณะ

 แต่ในทางกลับกันบรรดาองค์กรชั้นนำของโลกต่างระบุออกมาว่า ทักษะที่สำคัญสำหรับอนาคตนั้น คือ เรื่องของการคิด ไม่ว่าจะเป็นคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative thinking) หรือ คิดเชิงวิพากษ์ (Critical thinking) น่าสนใจที่ท่านผู้อ่านแต่ละท่านจะลองสำรวจตนเองดูนะครับว่า แต่ละวันท่านได้แบ่งเวลาสำหรับการ “คิด” ไว้หรือไม่ และสามารถคิดอย่างต่อเนื่องนานเพียงใด?

ปัจจุบันพัฒนาการของเทคโนโลยี การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนการที่เราให้ความสำคัญกับความเร็วมากขึ้น ทำให้เวลาในการ “คิด” ของคนไทยน้อยลง มีปัจจัยที่สำคัญ 4 ประการที่ทำให้เรา คิดกันน้อยลง ประการแรกคือ ความสำคัญของความเร็ว เนื่องจากความเร็วกลายเป็นสิ่งที่ทั้งคนและองค์กรให้ความสำคัญและเทิดทูนมากขึ้น และการให้ความสำคัญกับเรื่องความเร็วนั้นได้กลายมาเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนใช้เวลาในการ “คิด” น้อยลง

ปัจจัยประการที่สองคือ คือเราคิดกันน้อยลง เนื่องจากพัฒนาการของเทคโนโลยีต่างๆ ทำให้คน outsource การคิดให้กับเทคโนโลยีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ต่างๆ ทั้ง Siri, Alexa, Google Assistant แม้กระทั่งการคิดเชิงสร้างสรรค์และคิดเชิงวิพากษ์ก็ถูกมอบหมายให้เทคโนโลยีทำแทนเรากันมากขึ้น

ปัจจัยประการที่สาม คือเกิดขึ้นจากสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ที่ส่งผลให้เวลาในการคิดถูกรบกวนมากขึ้น หลายๆ ท่านจะประสบกับสภาวะ Distracted Thinking ที่พอจะเริ่มคิด ก็จะถูกรบกวนด้วยบรรดา Notification ต่างๆ ทำให้การคิดถูกขัดจังหวะและขาดความต่อเนื่อง ซึ่งสุดท้ายการคิดที่ถูกรบกวนอยู่ตลอดเวลาก็เปรียบเสมือนกับการไม่ได้คิดนั้นเอง

ปัจจัยประการที่สี่ ที่ทำให้เรา “คิด” กันน้อยลงก็ คือ ค่านิยมของการทำงานและการดำรงชีวิตในปัจจุบัน ที่มุ่งเน้น ความยุ่ง หรือ Busyness ในหลายสถานการณ์การที่การจะทำให้ตนเองมีคุณค่า คือการดูยุ่ง ลองนึกภาพดูว่าถ้าเจ้านายเดินเข้ามาในห้องทำงานและระหว่าง สถานการณ์ที่ท่านกำลังยุ่งกับการทำงานจนหัวฟู กับ การนั่งสงบนิ่งอยู่เฉยๆ มองออกไปนอกหน้าต่าง พร้อมกับกำลังคิด สถานการณ์ไหนที่จะสร้างความประทับใจให้กับเจ้านายได้มากกว่ากัน?

เมื่อเราทราบถึงปัจจัยที่ทำให้คน “คิด” กันน้อยลงทั้ง 4 ประการ ก็ควรจะหาหนทางในการแก้ปัญหาดังกล่าว การที่เราจะมีเวลาในการ “คิด” มากขึ้น จึงเป็นส่ิงสำคัญที่ทุกคนควรจะตระหนัก และองค์กรเองก็ควรจะสนับสนุนให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี ใช่ว่าจะสนับสนุนให้เพียงแค่ได้มีเวลาในการคิดมากขึ้นเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าคิด แต่ไม่สามารถกระทำได้นั้นก็ไม่มีประโยชน์ ดังนั้นการคิด จึงควรจะมาควบคุมกับการกระทำ หรือ Action ด้วย

ในหนังสือชื่อ Open to think ที่เขียนโดย Dan Pontefract ได้นำเรื่องของการคิดและการกระทำมาสร้างเป็นตาราง 2x2 ทำให้พบเห็นว่ามีคนอยู่ 4 กลุ่ม เมื่อนำเรื่องของการคิดและการกระทำมาคิดร่วมกัน

กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่ไม่ทั้งคู่ นั้นคือ ไม่คิดและไม่ทำเลย ซึ่งเป็นกลุ่มที่น่าสงสารมาก เหมือนกับใช้ชีวิตแบบ autopilot ทำในสิ่งเดิมๆ สิ่งที่คุ้นเคยไปเรื่อยๆ กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มที่คิดแต่ไม่ทำ เป็นกลุ่มที่พบบ่อยในบรรดาพวก “นักคิด” ทั้งหลาย ที่จะคิดเก่ง คิดนาน คิดสร้างสรรค์ แต่ไม่สามารถนำสิ่งที่คิดไปสู่การปฏิบัติได้ และหลายๆ ครั้งก็วนเวียนและใช้เวลาอยู่กับการคิดที่นานเกินไปจนไม่สามารถตัดสินใจและปฏิบัติได้เสียที

กลุ่มที่สามเป็นคิดที่ไม่คิดแต่ทำเลย ซึ่งก็จะพบบ่อยเหมือนกัน โดยกลุ่มนี้จะรีบลงมือทำในสิ่งต่างๆ โดยขาดการคิดให้ชัดเจนและรอบคอบก่อน ซึ่งเราจะพบคนกลุ่มนี้มากขึ้นในคนยุคปัจจุบัน สุดท้ายคือกลุ่มที่ทั้งการคิดและการกระทำ มีการคิดไตร่ตรองและสุดท้ายนำสิ่งที่คิดไปกระทำต่อ ส่วนท่านผู้อ่านจะอยู่ในกลุ่มไหนก็ลองพิจารณากันเองนะครับ