เมื่อ WTO รีฟอร์มรองรับ e-Commerce

เมื่อ WTO รีฟอร์มรองรับ e-Commerce

ในโลกของพาณิชย์สมัยใหม่ที่การค้าขายพึ่งพิงอยู่กับเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เราเรียกกันว่า e-Commerce

ส่งผลให้การเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิม จนเป็นที่มาของสมาชิก WTO ในการพยายามเจรจาและหาแนวทางร่วมกันเพื่อรองรับ e-Commerce เมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา 

WTO ในยุคแรก

หากย้อนกลับไป ตั้งแต่ในยุคของการก่อตั้ง GATT (General Agreement on Tariff and Trade) หรือความตกลงว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า จนกลายมาเป็น WTO หรือองค์การการค้าโลกในปี 2538 นั้น ระบบการเคลื่อนย้ายของสินค้าและบริการยังมีลักษณะในเชิงกายภาพอยู่มาก กล่าวคือ การนำเข้า/ส่งออกยังกระทำผ่านพรมแดนของประเทศต่างๆ เป็นหลัก จึงทำให้ทั้งประเทศผู้นำเข้า/ส่งออกสามารถตรวจตราสินค้าผ่านระบบพิกัดศุลกากรได้โดยไม่ยากนัก ดังนั้น แนวทางของ GATT/WTO ในยุคแรก จึงมีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศให้เป็นไปอย่างเสรี โดยพยายามขจัดอุปสรรคทางการค้าในรูปแบบต่างๆ เช่น การตั้งกำแพงภาษี หรือการบิดเบือนกลไกตลาด นอกจากนี้ WTO ยังพยายามส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกกำหนดมาตรฐานของกฎหมายภายในให้อยู่ภายใต้หลักการของการไม่เลือกปฏิบัติ (Non-discrimination) และมุ่งเน้นการปฏิบัติต่อสินค้า/บริการจากทุกประเทศอย่างเท่าเทียม

เมื่อโลกถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ปฏิเสธไม่ได้ว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (the 4th Industrial Revolution) คือ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบต่างๆ มาต่อยอดการผลิต ซึ่งส่งผลให้รูปแบบธุรกิจมีความแตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง และเกิดเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น (New Economy) หรือ อาจกล่าวได้ว่าวิทยาการสาขาต่างๆ ที่มีอยู่บนโลกกำลังค่อยๆ ผสานปัจจัยทางเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาตนเองเข้าสู่ยุค Digitalization อย่างเต็มรูปแบบ WTO ก็เช่นกัน “Trade-related aspect of e-Commerce” หรือการเจรจาเพื่อกำหนดมาตรฐานของการค้าระหว่างประเทศที่มี e-Commerce เป็นปัจจัยหลัก กำลังถูกหยิบยกขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายรอบการเจรจา สำหรับผู้เขียน นี่ก็อาจถึงเวลาที่ WTO จะปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์เพื่อรองรับ e-Commerce อย่างจริงจัง เพราะหากย้อนกลับไป กฎเกณฑ์บางอย่างของ WTO ได้ถูกบัญญัติไว้ในสมัยที่ Cloud Computing ยังเป็นแค่เรื่องสมมุติในหนัง fiction และการค้าขายหลักในยุคก่อนหน้านี้คือ Trade in goods/services ไม่ใช่ Digital Trade อย่างในปัจจุบัน

Digital Trade คืออะไร

จากการศึกษาพบว่ามีนิยามที่ค่อนข้างกว้าง และถูกกำหนดไว้แตกต่างกันไปตามแต่บริบทของแต่ละองค์กร ซึ่งในหลายกรณี digital trade ถูกตีความไว้ไม่ต่างจากนิยามของ e-Commerce และอาจกินความให้รวมถึงการสื่อสารและการไหลเวียนของข้อมูลผ่านระบบอินเทอร์เน็ตในลักษณะที่ก่อให้เกิด Value Chains ที่ส่งผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในรูปแบบต่างๆ

หากพิจารณาจากแนวทางการกำหนดนิยามของทั้ง WTO และ OECD พบว่า ได้ให้นิยามของ e-Commerce ไปในทิศทางเดียวกัน โดยให้หมายถึง “การซื้อขายสินค้า หรือการให้บริการ ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือโครงข่ายคอมพิวเตอร์”

ดังนั้น หากนำนิยามที่กล่าวไว้ข้างต้นมาปรับใช้กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน พบว่า มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจจำนวนมากที่ได้กระทำผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์หรือโครงข่ายคอมพิวเตอร์ ช่น การขายสินค้าในรูปแบบ Digital goods เช่น e-book, การให้บริการแบบ Digital services เช่น การให้บริการจองโรงแรม/เที่ยวบินออนไลน์ผ่าน platform ต่างๆ, การให้บริการ Peer-to-Peer Transactions เช่น Uber และ AirBnB, การให้บริการ Communication services เช่น Line และ Skype, การทำธุรกิจประเภทการใช้ประโยชน์หรืออาศัยการทำงานของ data flow เช่น Facebook และ Google และการให้บริการระบบชำระเงิน เช่น WeChat และ Alipay เป็นต้น

เส้นทางของ WTO ในการรองรับ e-Commerce

แท้จริงแล้ว ประเด็นเรื่อง e-Commerce ไม่ได้พึ่งถูกหยิบยกขึ้นครั้งแรก ในรอบการประชุมที่ Davos เมื่อเดือนที่ผ่านมา แต่ในปี 2541 สมาชิก WTO ได้เห็นพ้องให้มีการจัดตั้ง e-Commerce work program เพื่อกำหนดประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ digital trade เช่น การยกเว้นภาษีศุลกากรในสินค้าที่ส่งผ่าน electronic transmission ซึ่งในเวลาต่อมา องค์กรย่อยต่างๆ ของ WTO ไม่ว่าจะเป็น คณะมนตรีด้านการค้าบริการ/ค้าสินค้า/ด้านทรัพย์สินทางปัญญา ได้พยายามพิจารณาหาความเกี่ยวข้องและผลกระบทของ e-Commerce ใน sectors ของตนเองอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ความท้าท้ายของการกำหนดแนวนโยบายที่เกี่ยวกับ e-Commerce คือ การให้นิยามและการจำแนกความแตกต่าง (Classification) ของ e-Commerce ในรูปแบบต่างๆ หรือ อาจกล่าวได้ว่า ประเทศสมาชิกยังไม่สามารถกำหนดนิยามร่วมกันได้อย่างชัดเจนว่า อะไรบ้างที่ถือเป็น “การค้าสินค้า การให้บริการ หรือการผลิต โดยอาศัยช่องทางอิเล็กทรอนิกส์” ดังนั้น นิยาม e-Commerce ของ WTO ที่มีอยู่ในปัจจุบันจึงกว้างเกินกว่าจะกำหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องให้ลึกซึ้งไปกว่านี้ได้

สำหรับผู้เขียน หาก WTO มีความประสงค์จะปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อรองรับการเกิดขึ้นของ e-Commerce แล้ว WTO อาจต้องกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำเพื่อให้ประเทศสมาชิกปรับปรุงหรือบัญญัติกฎหมายภายในที่เกี่ยวข้องกับบริบทของ e-Commerce ด้วย เช่น กำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยเรื่อง cybersecurity และกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การกำหนดมาตรฐานที่เพิ่มขึ้นสำหรับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในเวที WTO นั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และอาจเป็นประเด็นสำคัญสำหรับประเทศสมาชิกที่มี Tech firms ขนาดใหญ่ ซึ่งมีอำนาจในการเจรจาต่อรอง เนื่องจาก Tech firms เหล่านั้น มี Algorithms ที่ถูกสร้างให้ศึกษาและใช้ประโยชน์จาก data flow เพื่อวัตถุประสงค์ในการวิเคราะห์กลุ่มลูกค้าสำหรับให้บริการหรือสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของตลาด อันเป็นการสร้างรายได้ให้ Tech firms อย่างมหาศาล ซึ่งในประเด็นเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลนี้ แม้โลกจะมี GDPR แล้วก็ตาม แต่หาก WTO ได้วางหลักกฎเกณฑ์เรื่องข้อมูลส่วนบุคคลด้วยอีกชั้นหนึ่ง เท่ากับว่าข้อกำหนดของการบังคับให้มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะกว้างขึ้นและซับซ้อนกว่าเดิมอีกมาก

ท้ายที่สุด ผู้เขียนเชื่อว่า แม้การบรรลุข้อตกลงแบบพหุภาคีของ WTO จะกระทำได้ไม่ง่ายนัก แต่เมื่ออนาคตของการค้าระหว่างประเทศอาจไม่ใช่สินค้า/บริการในเชิงกายภาพในแบบก่อน ทิศทางการเจรจาของ WTO นับต่อจากนี้ คงจะได้เห็นประเด็นเรื่องการกำหนด WTO digital trade rules บ้างไม่มากก็น้อย 

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน]