AVหนทางที่ยังไม่ไร้ซึ่งคนขับ

AVหนทางที่ยังไม่ไร้ซึ่งคนขับ

เส้นทางการแข่งขันเพื่อชิงความเป็นเจ้าแห่งรถยนต์ไร้คนขับ (Autonomous Vehicle, AV) ยังคงไร้ผู้ชนะในวันนี้

เพราะนอกจากกฏหมายยังไม่อนุญาตให้รถยนต์ขับเคลื่อนโดยขาดการควบคุมจากผู้ขับขี่อย่างเด็ดขาดแล้ว นวัตกรรมรถยนต์ไร้คนขับยังคงต้องการข้อมูล การทดสอบและเทคโนโลยีเพื่อยกระดับนวัตกรรม AV ขึ้นเต็มรูปแบบสู่ระดับ 5 (Full Automation) แต่ดูเหมือนว่าหนทางนี้อาจไม่ไกลจนเกินเอื้อม

เทสล่า (Tesla) ที่มุ่งมั่นในการผลิตรถยนต์พลังไฟฟ้า (EV) มีความหวังที่จะอัพเกรดรถยนต์พลังไฟฟ้าให้พร้อมเป็นรถยนต์ไร้คนขับด้วยการใช้ซอฟต์แวร์อัพเดท (Over-The-Air) ผนวกกับออฟชั่นที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ เวย์โม (Waymo) ทีมผู้บุกเบิกนวัตกรรม AV จากค่ายกูเกิลเร่งชิงชัยโดยการพัฒนานวัตกรรม AV กับรถยนต์จากค่ายพันธมิตรอย่างเช่น มินิแวนจากไครสเลอร์และจากจากัวร์ และอาจเป็นรายแรกที่พร้อมให้บริการรถแท็กซี่ไร้คนขับ (Robo-Taxi) มีชื่อว่า “Waymo One” ออกสู่ท้องถนน  ขณะที่ซอฟต์แบงค์ (SoftBank) ร่วมลงทุนใน “GM Cruise” ของกลุ่มจีเอ็มเพื่อผลิตรถแท็กซี่และรถส่งสินค้าแบบไร้คนขับออกสู่ตลาดเช่นกัน

สร้างคนขับ ไม่ใช่สร้างรถ

ทีมงานเวย์โมซึ่งเริ่มพัฒนานวัตกรรม AV ภายใต้กูเกิลมาตั้งแต่ปี 2009 และมีข้อมูลแผนที่เกือบทุกพื้นที่ทั่วโลกจากกูเกิลแมพ (Google Map) พร้อมความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม Deep Learning ได้เริ่มการทดสอบเพื่อพัฒนารถยนต์ไร้คนขับโดยสามารถเก็บข้อมูลได้กว่า 10 ล้านไมล์จาก 25 เมือง อีกทั้งทดสอบการขับรถมินิแวนของไครสเลอร์ (Chrysler Pacifica) ที่มีคนขับนั่งอยู่ด้วยในตัวเมืองซานฟรานซิสโกและบนฟรีเวย์ เริ่มให้บริการฟรี Robo-Taxi ที่มีคนขับนั่งอยู่ด้วยในเมืองฟินิกซ์ มลรัฐอริโซนา ในปลายปี 2018 และมีแผนให้ Robo-Taxi ขับเคลื่อนเองโดยปราศจากคนขับ ตลอดจนการเพิ่มรถยนต์ที่ติดตั้งอุปกรณ์ AV กับค่ายรถจากัวร์ (Jaguar I-Pace SUV) เข้าในขบวนรถ Waymo One อีก 20,000 คัน

รถยนต์ AV ของเวย์โมติดตั้งมาพร้อมกับระบบเรดาร์ (Radar) กล้องระบบลิดาร์ (Lidar) ที่เวย์โมพัฒนาขึ้นเอง ล่าสุดติดตั้งเซนเซอร์สำหรับจับภาพความละเอียดสูงในระยะไกล และระบบจับภาพระยะใกล้เพื่อช่วยให้เวย์โมมองเห็น 360 องศาโดยไม่ถูกรบกวน เชื่อว่าเวย์โมกำลังร่วมมือกับค่ายรถยนต์พันธมิตรอย่าง เรย์โนลด์ นิสสันและมิตซูมิชิมอเตอร์ ในการผลิต Robo-Taxi  คาดว่าการร่วมมือกับค่ายรถยนต์จากยุโรปและญี่ปุ่นอาจช่วยให้เวย์โมผลิตรถ AV ได้ถึง 1 ล้านคันต่อปี ตอกย้ำวิสัยทัศน์ของเวย์โมที่ว่า “ต้องการสร้างคนขับ ไม่ใช่สร้างรถ”

กลุ่มโกลด์แมน แซคส์ได้ประมาณว่าธุรกิจ Robo-Taxi อาจมีมูลค่าสูงถึง 285,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2030 และหากขับเคลื่อนแบบไร้คนขับอาจสร้างกำไรเพิ่มขึ้นเป็น 20%

 

ค่ายรถไม่น้อยหน้า

สำหรับเทสล่าซึ่งรถยนต์ที่จำหน่ายไปแล้วได้ช่วยเก็บข้อมูลการขับขี่ให้กว่า 5,000 ล้านไมล์ รถเทสล่าติดตั้งระบบช่วยการมองเห็นของรถแบบ 360 องศาที่มองไกลได้ถึง 250 เมตร มีอุลตร้าโซนิคเซนเซอร์ที่ช่วยในการจับภาพของวัตถุที่เคลื่อนไหวและอยู่นิ่ง ระบบเรดาร์ที่ทำงานได้แม้ในสภาวะฝนตกหนัก มีหมอกควันหรือฝุ่นหนา ข้อมูลจะถูกประมวลผลด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่ทำงานร่วมกับระบบการจับภาพแบบ Neural Net ที่มีซอฟต์แวร์ประมวลผลจากระบบโซนาร์และเรดาร์ เพื่อช่วยในการมองเห็นรอบทิศทางและถูกต้องปลอดภัยมากกว่าที่สายตาผู้ขับขี่จะเห็นได้

 ขณะที่บริษัท GM Cruise ได้ส่งรถ Chevy Bolt ที่ติดตั้งระบบ AV ให้วิ่งทดสอบในเมืองซานฟรานซิสโกด้วยความเร็ว 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเช่นกัน โดยบริษัทฮอนด้าได้เข้าร่วมลงทุนใน GM Cruise ถึง 2,750 ล้านดอลลาร์และซอฟต์แบงค์เข้าร่วมลงทุนที่ 2,250 ล้านดอลลาร์

รถยนต์จากกลุ่มยุโรปจัดอยู่ในแนวหน้าของการพัฒนานวัตกรรม AV เช่นกัน โดยบริษัทเดมเลอร์ (Daimler) กล่าวว่า รถยนต์ทดสอบของเดมเลอร์เกือบขับเคลื่อนโดยปราศจากคนขับหรือที่จัดอยู่ในระดับ 4 ซึ่งบริษัทมีแผนในปี 2021 จะจำหน่ายรถ AV ระดับ 3 โดยที่รถยนต์สามารถขับเคลื่อนได้เองเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ออดี้ (Audi) ยังมีแผนที่จะส่งรถยนต์ไร้คนขับสู่ตลาดในปี 2020 ตลอดจนรถยนต์จากค่ายบีเอ็มดับเบิลยู (BMW) ก็ได้ผ่านการทดสอบรถยนต์ AV ระดับ 4 ในกรุงมิวนิคและมลรัฐแคลิฟอร์เนียแล้วเช่นกัน

 

นวัตกรรมที่ต้องตามให้ทัน

ด้วยจำนวนรถยนต์กว่า 1,200 ล้านคัน บนท้องถนนและอุบัติเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1.3 ล้านรายต่อปี ความตั้งใจที่จะลดจำนวนอุบัติเหตุให้น้อยลง และการแก้ปัญหาการขาดแคลนคนขับรถบรรทุกหรือรถแท็กซี่ได้ผลักดันให้นวัตกรรม AV พัฒนาอย่างรวดเร็ว และสร้างสิ่งประดิษฐ์ใหม่เพื่อใช้ในการทำงาน อุตสาหกรรมของประเทศไทยซึ่งจัดอยู่ในซัพพลายเชนการผลิตรถยนต์ จึงควรเร่งศึกษาและนำเทคโนโลยีด้าน AV มาใช้ในธุรกิจ รวมถึงโอกาสในการจัดการปัญหาทางคมนาคมเพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนน