(เกือบ)5 ปี สนช. ประชาชนได้อะไร?

(เกือบ)5 ปี สนช. ประชาชนได้อะไร?

ตอนแรกผู้เขียนตั้งใจจะเขียนเรื่อง กฏกติกาว่าด้วยการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ต่างประเทศ เทียบกับ กกต. ไทย

เพื่อชี้ว่า กกต. ไทย มุ่ง ควบคุม พฤติกรรมของพรรคการเมือง แทนที่จะเน้นกำกับให้เกิด ความโปร่งใส เฉกเช่น กกต. หลายประเทศ

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2562 ผู้เขียนได้ไปร่วมวงเสวนาเรื่อง ก้าวสู่ปีที่ 5 สภาแต่งตั้ง ประชาชนได้อะไร?” ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโดยความร่วมมือของมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมายคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งในวงเสวนามีการสรุปการทำงานตลอดระยะเวลากว่า 4 ปี ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผู้เขียนจึงอยากขยายความความเห็นของตัวเอง และเก็บความเห็นบางส่วนของผู้ร่วมเสวนามาเล่าสู่กันฟัง

คุณณัชปกร นามเมือง เจ้าหน้าที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ในฐานะวิทยากร สรุปว่าเราสามารถเรียก สนช. ชุดนี้ได้อย่างเต็มปากว่า สภาทหาร เนื่องจากสมาชิกเกินครึ่งหรือ 58% เป็นเจ้าหน้าที่ทหารหรืออดีตทหาร รองลงมาเป็นข้าราชการประจำ 26% ภาคธุรกิจ 8% ข้าราชการตำรวจ 5% ที่เหลืออีกเพียง 3% เป็นนักวิชาการหรือตัวแทนจากภาคประชาสังคม

นอกจาก สนช. จะเป็น “สภาทหาร” แล้ว ยังเป็น “สภาชายวัยดึก” (หรือถ้าจะเรียกอย่างทันสมัยด้วยคำสุภาพสมัยนี้ก็ต้องเรียกว่า “สภาบุรุษ สว.” ย่อมาจาก “สภาบุรุษสูงวัย”) เนื่องจากสมาชิกที่อายุเกิน 60 ปี มีมากถึง 185 คน คิดเป็น 75% ของทั้งสภา และเป็นผู้ชายมากถึง 238 คน หรือ 95% ทั้งสภามีผู้หญิงเพียง 12 คนเท่านั้นเอง

ในเมื่อ สนช. ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการหรือทหารเพศชายวัยสูงอายุ จึงพอเดาได้ไม่ยากนักว่า โลกทัศน์’ โดยรวมของสมาชิก สนช. จะเป็นไปในทิศทางที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม และ ราชการนิยม เป็นหลัก

คุณณัชปกรสรุปต่อไปว่า ในรอบเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา สนช. รับกฎหมายไว้พิจารณา 504 ฉบับ รับหลักการ 460 ฉบับ และผ่านกฎหมายไปแล้ว 380 ฉบับ ไม่ต่างกับโรงงานอุตสาหกรรม เฉลี่ยออกกฎหมายปีละเกือบหนึ่งร้อยฉบับ การพิจารณากฎหมายที่รวดเร็วขนาดนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่ง สนช. มองว่าเป็นความภาคภูมิใจ แต่ผู้เขียนเห็นว่าอันตรายอย่างยิ่ง เพราะเป็นสภาที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมดและไร้ซึ่งฝ่ายค้านอย่างสิ้นเชิง ดังสถิติที่ไอลอว์รวบรวมว่า แม้แต่กฎหมายที่เสียงแตกมากที่สุดสามอันดับแรก ยังมีสมาชิกเห็นชอบไม่ต่ำกว่า 91% สะท้อนว่า สนช. แทบไม่เคยมีความเห็นต่างในการตรากฎหมายเลย

กฎหมายที่ใช้เวลาพิจารณานานมากเมื่อเทียบกับฉบับอื่นๆ ก็คือกฎหมายที่เห็นชัดว่ามีเนื้อหาขัดผลประโยชน์ของสมาชิก สนช. เอง เช่น ร่าง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจะเพิ่มภาระให้กับสมาชิก สนช. ที่ถือครองที่ดินรวมกันเกือบหมื่นล้านบาท

สุดท้ายกฎหมายฉบับนี้ก็ผ่านออกมาได้อย่างทุลักทุเล เก็บภาษีที่ดินในอัตราที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินจนผู้เขียนเห็นว่า รัฐไม่สามารถมีรายได้ตัวนี้อย่างเป็นกอบเป็นกำ และความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินที่ถ่างกว้างมากในประเทศนี้ก็ไม่อาจลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญเลย

กฎหมายอีกฉบับที่ใช้เวลาพิจารณานานมากใน สนช. และสุดท้ายก็ยังไม่สามารถผ่านออกมาได้ คือ ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับส่วนรวม (เรียกสั้นๆ ได้ว่า “พ.ร.บ. ผลประโยชน์ทับซ้อน”) ร่างกฎหมายฉบับนี้ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐที่พ้นตำแหน่งไม่เกิน 2 ปีไปดำรงตำแหน่งในภาคธุรกิจ ซึ่งชัดเจนว่าจะกระทบทันทีกับบรรดาข้าราชการและทหารวัยเกษียณใน สนช. ผู้นิยมไปนั่งกินเงินเดือนสบายๆ ในภาคธุรกิจ ดังที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาช้านาน ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ สนช. จะใช้เวลาพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้นาน และยังประวิงเวลาต่อไปเรื่อยๆ

ผู้เขียนเคยทำวิจัยชิ้นเล็กๆ เกี่ยวกับกฎเกณฑ์กำกับ revolving door หรือ ประตูหมุน ระหว่างภาครัฐกับเอกชนในต่างประเทศ พบว่าบทบัญญัติ “ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐที่พ้นตำแหน่งไม่เกิน 2 ปีไปดำรงตำแหน่งในภาคธุรกิจ ในร่างกฎหมายนี้เป็นมาตรฐานสากล บังคับใช้เป็นปกติในหลายประเทศ ฉะนั้นการที่สมาชิก สนช. จำนวนไม่น้อยออกมาคัดค้านกฎหมายนี้โดยอ้างว่า จะบั่นทอนแรงจูงใจของคนในการมาทำงานราชการ จึงเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้นและผิดฝาผิดตัว เพราะการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนเป็นเรื่องสำคัญที่ควรทำให้ได้มาตรฐานสากล และการเพิ่มแรงจูงใจให้คนมาทำงานราชการก็ทำได้หลายวิธีที่ตรงไปตรงมา โดยเฉพาะการปฏิรูประบบราชการอย่างจริงจัง ยุบเลิกหน่วยงานที่ไม่จำเป็นหรือล้าสมัย ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นอย่างเช่นเปลี่ยนจากระบบเอกสารกระดาษมาเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ให้คนที่ทำงานเช้าชามเย็นชามออกจากงาน จะได้มีเงินไปเพิ่มค่าตอบแทนให้กับข้าราชการน้ำดีที่ขยันทำงาน เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเห็นว่าข้ออ้างทำนองนี้ของสมาชิก สนช. ที่ไม่อยากให้แก้ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจอะไร ในเมื่อนี่คือสภาที่ปล่อยให้สมาชิกมีผลประโยชน์ทับซ้อนตลอดเวลา สมาชิกทุกคนสามารถรับเงินเดือนหลายทาง ทั้งจาก สนช. และจากงานประจำของตัวเองไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน แถมยังสามารถขาดประชุมมาลงมติเท่าไรก็ได้ จะไม่มาประชุมเกือบ 100% ก็ได้ ไม่ถือว่าขาดคุณสมบัติตราบใดที่ยื่นใบลาอย่างถูกต้อง เพราะ สนช. ชุดนี้ผ่านข้อบังคับจริยธรรมให้ทำได้

เป็นตลกร้ายไม่น้อยที่ สนช. ออกข้อบังคับจริยธรรมที่ไม่จัดการกับผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ และเปิดช่องให้สมาชิกไม่ต้องมาทำงาน ข้อบังคับแบบนี้ผู้เขียนเชื่อว่าหน่วยงานต้นสังกัดของสมาชิก สนช. ไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชน ไม่มีวันยอมให้ทำ!

ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตในวงเสวนาว่า จากการได้อ่านและติดตามกฎหมายที่ออกในยุคนี้ราว 30 กว่าฉบับ กฎหมายที่ดูจะไม่สร้างปัญหาแก่ประชาชน ไม่ขยายอำนาจรัฐมหาศาล หรือดูแล้วมีประโยชน์มากกว่าโทษ มีอยู่ 2 ลักษณะเท่านั้น

1.เป็นกฎหมายที่ไม่เกี่ยวกับประชาชนโดยตรง ไม่เกี่ยวกับเรื่องความมั่นคง ผลักดันมานานโดยองค์กรกำกับดูแลอิสระที่เข้าใจหน้าที่ของตัวเองเป็นอย่างดี มีเหตุผลรองรับชัดเจนในการแก้กฎหมาย กฎหมายที่เข้าข่ายนี้มีอาทิ พ.ร.บ. หลักทรัพย์ พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจสถาบันการเงิน เป็นต้น

2.เป็นกฎหมายที่เกิดจากแรงกดดันทางการค้า เกิดจากความจำเป็นที่จะต้องออกหรือปรับปรุงกฎหมายเดิมให้ได้มาตรฐานสากล ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออก กฎหมายที่เข้าข่ายนี้มีอาทิ การแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ. ประมง และ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เป็นต้น