ความเป็นจริงแห่งสงครามเกาหลี

ความเป็นจริงแห่งสงครามเกาหลี

สงครามเกาหลีเป็นที่กล่าวขานน้อยกว่าเมื่อเทียบกับสงครามอื่นๆ ผู้คนส่วนใหญ่จึงไม่รู้ความเป็นไปมากนัก สิ่งที่ได้ยินมาดูเหมือนว่า

ฝ่ายสหประชาชาติเป็นผู้ชนะและฝ่ายจีนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่ความเป็นจริงคนละเรื่องเลย การเข้าใจสงครามเกาหลีให้ดีขึ้นเห็นจะต้องเริ่มตั้งแต่ที่มาของสงคราม 

ความเป็นจริงแห่งสงครามเกาหลี

ในที่ประชุม Potsdam ปี 1945 ประธานาธิบดีทรูแมน แห่งสหรัฐ ได้ขอให้โจเซฟ สตาลิน แห่งสหภาพโซเวียต ประกาศสงครามต่อญี่ปุ่นและทำการยึดครองเกาหลี เพื่อให้สงครามในเอเชียแปซิฟิคจบสิ้นเร็วขึ้น สหภาพโซเวียตก็ได้ทำเช่นนั้นและปลดอาวุธญี่ปุ่นในเกาหลี ทั้งยังได้จัดตั้งรัฐบาลในเกาหลีเหนืออย่างรวดเร็ว สหรัฐเกรงว่าสหภาพโซเวียตจะมีอิทธิพลไปทั่วคาบสมุทรเกาหลี จึงขอให้แบ่งเขตดูแลระหว่าง 2 ประเทศ ณ เส้นขนานที่ 38 เกาหลีฝ่ายเหนือมีรัฐบาลและกองทัพที่เป็นปึกแผ่น และมีความพร้อมอย่างรวดเร็ว แต่สหรัฐถือว่าเกาหลีอยู่นอกอาณาเขตความมั่นคงของสหรัฐ จึงไม่ได้ให้ความสนใจและใช้บุคลากรชุดเดียวกับภายใต้อำนาจญี่ปุ่นเพื่อทำการบริหารงาน ทำให้เกาหลี ฝ่ายใต้ เต็มไปด้วยความวุ่นวาย และคิมอิลซุง ผู้นำเกาหลี ฝ่ายเหนือ เห็นเป็นโอกาสในการรวมชาติให้เป็นปึกแผ่น 

เกาหลีเหนือ เริ่มรุกเข้าไปในเกาหลีใต้ผ่านเส้นขนานที่ 38 ในวันที่ 25 มิ.ย. 1950 ด้วยกำลัง 75,000 นายพร้อมรถถัง T34 ล่าสุดของโซเวียต ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนไม่เห็นด้วยกับการรวมชาติด้วยกำลัง เกาหลีเหนือยึดกรุงโซลได้ภายในเวลาเพียง 1 วัน 

ประธานาธิบดีทรูแมนลังเลที่จะจัดการกับสถานการณ์คับขันขณะนั้น เนื่องจากการขออนุมัติจากสภาจะต้องใช้เวลานาน จึงหันไปหาสหประชาชาติ ซึ่งก็ได้รับมติโดยง่ายให้สหรัฐและประเทศสมาชิกส่งทหารเข้าไป เนื่องจากสหภาพโซเวียตกำลังคว่ำบาตรสหประชาชาติที่ให้รัฐบาลจีนในไต้หวันเป็นสมาชิกสหประชาชาติ มตินั้นจึงไม่ได้รับการวีโต้แต่อย่างใด 

กองกำลังสหประชาชาติอยู่ภายใต้บัญชาการของกองทัพบกสหรัฐ โดยมีกองทัพที่ 8 เป็นศูนย์กลางและกองกำลังที่ส่งเข้าไปมีกองทหารราบที่ 24, 25, 29 และกองทหารม้าที่ 1 กองทหารราบที่ 24 เริ่มปฏิบัติการเป็นหน่วยแรกที่เมืองโอซาน เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 1950กองกำลังฝ่ายสหรัฐ โดยรวมแล้วมีทหารที่มีประสบการณ์ในการรบเพียงไม่เกิน 20% นี่คือสาเหตุที่ทำให้สู้ฝ่ายเกาหลีเหนือไม่ได้และต้องถอยร่นไปและถูกรุกไล่จนเหลือที่มั่นเล็ก ๆ รอบเมืองปูซาน (ราวใต้เส้นขนานที่ 36 และตะวันออกของเส้นแวงที่ 128) ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 1950 

ต่อเมื่อสหรัฐยกพลขึ้นบกที่อินชอน ในเดือน ก.ย.1950 ตัดขาดกองกำลังเกาหลีเหนือ ด้านตะวันตก และรุกกลับอย่างขนานใหญ่ ด้วยกองกำลังสหประชาชาติที่ได้รับการเสริมกำลังอย่างเต็มที่ กองกำลังเกาหลีเหนือจึงถอยร่นอย่างรวดเร็ว ข้ามเส้นขนานที่ 38 ไปจนเกือบถึงแม่น้ำยาลู ที่แบ่งเขตแดนระหว่างจีนและเกาหลี บางแห่งกองกำลังสหประชาชาติยึดได้เมืองที่ติดชายแดนเลย เช่น เมืองโซซาน นี่คือสถานะ ณ ประมาณสิ้นเดือน ต.ค.1950 

ในระหว่างการรุกกลับของกองกำลังสหประชาติ รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนได้เตือนรัฐบาลสหรัฐผ่านเอกอัครราชทูตอินเดียว่า รัฐบาลจีนจะแทรกแซง ถ้ากองกำลังสหรัฐอเมริกาเคลื่อนเกินเส้นขนานที่ 38 ส่วนเหตุผลของจีนเองคือ การคุกคามต่อความมั่นคงของจีนที่จะต้องใช้ไฟฟ้าพลังน้ำจากเกาหลีเหนือ และ การถูกปิดกั้นจากภายนอกทั้งด้านเกาหลี เวียดนาม และไต้หวัน นอกจากนี้ การรบด้านเกาหลีจะได้เปรียบกว่าการรบด้านเวียดนามกับไต้หวัน 

กองกำลังสหรัฐที่เข้าไปในเกาหลีเหนือมีกองทัพที่ 8 เคลื่อนตัวตามชายฝั่งตะวันตก กองทัพที่ 10 เคลื่อนตามชายฝั่งตะวันออก และ กองกำลังเกาหลีใต้เคลื่อนระหว่างกึ่งกลาง ในตอนนั้นฝ่ายสหรัฐยังไม่เชื่อว่ามีกองกำลังจีนในเกาหลี แต่กองกำลังจีนได้เข้าไปในเกาหลีเหนือตั้งแต่วันที่ 19 ต.ค.1950 โดยมีการพรางตัวเป็นอย่างดีและเริ่มปะทะกับกองกำลังสหประชาชาติตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค. โดยใช้วิธีแทรกซึมเข้าแนวหลังข้าศึกแล้วทำการล้อมไว้และทำลายเป็นกลุ่มๆ โดยเฉพาะเมื่อกองทัพที่ 8 สหรัฐเคลื่อนตัวตามหุบเขาแคบๆ นี่คือยุทธวิธีสุดคลาสสิกที่จีนใช้มาตั้งแต่รบกับญี่ปุ่นแล้ว เพียงแต่ฝ่ายสหรัฐไม่เคยรู้เลย ยุทธการครั้งที่ 1 นี้ กองกำลังจีนผลักดันกองกำลังสหประชาชาติด้านตะวันตกให้อยู่ใต้แม่น้ำชองชอน กองกำลังสหประชาชาติสูญเสียไป 15,000 นาย และอาวุธยุทโธปกรณ์มากมาย ส่วนกองทหารอาสาสมัครจีนสูญเสีย 10,000 นาย ทั้งๆ ที่อำนาจการยิงฝ่ายสหประชาชาติเหนือกว่ามากมาย 

หลังจากยุทธการครั้งที่ 1 กองกำลังจีนทำการจัดกำลังรบใหม่และวางแผนให้กองทัพที่ 13 จัดการกับกองทัพที่ 8 สหรัฐทางตะวันตกและกองทัพที่ 9 จัดการกับกองทัพที่ 10 สหรัฐทางตะวันออก โดยมีเป้าหมายคือการบุกยึดเปียงยางคืน ส่วนฝ่ายสหประชาชาติก็วางแผนการรุกกลับเช่นเดียวกัน ทั้ง 2 ฝ่ายเริ่มปะทะกันเมื่อเช้ามืดของวันที่ 25 พ.ย.1950 ฝ่ายจีนใช้กลยุทธเดิมคือ ปิดล้อมแล้วทำลายเป็นกลุ่มๆ ทางด้านตะวันตก ฝ่ายสหประชาชาติถอยไม่เป็นกระบวน ฝ่ายจีนยึดได้เปียงยางในวันที่ 6 ธ.ค. และฝ่ายสหรัฐถอยเลยเส้นขนานที่ 38 ในวันที่ 23 ธ.ค.1950 ส่วนทางด้านตะวันออกฝ่ายสหประชาชาติถอยไปยังท่าเรือฮุงนัมและหนีออกทางทะเลไปยังปูซาน ในยุทธการครั้งที่ 2 นี้ สหรัฐสูญเสียกำลังไป 36,000 นาย และทิ้งอาวุธยุทโธปกรณ์ไว้เบื้องหลังมากมายอีกตามเคย 

ที่จริงแล้ว ฝ่ายจีนไม่มีความพร้อมในการรบเลยภายหลังยุทธการ 2 ครั้ง เนื่องจากการส่งกำลังบำรุงที่ไม่ทันการณ์ แม้กระทั่งเสื้อผ้าฤดูหนาว แต่ก็จำเป็นต้องชิงความได้เปรียบ ในยุทธการครั้งที่ 3 ฝ่ายจีนและเกาหลีเหนือทำการรุกตลอดแนวรบที่เส้นขนานที่ 38 ในวันที่ 31 ธ.ค. 1950 จนกระทั่งฝ่ายสหประชาชาติถอย (ประมาณ 110 กิโลเมตร) ไปถึงเส้นขนานที่ 37 ในวันที่ 8 ม.ค.1951 ฝ่ายสหประชาชาติสูญเสียกำลังอีก 19,000 นาย 

ฝ่ายจีนและเกาหลีเหนือล้ามาก จากยุทธการทั้ง 3 ครั้ง โดยที่ยังไม่มีกำลังใหม่มาทดแทนเลย อีกทั้งการส่งกำลังบำรุงก็ไม่ทันการ เนื่องจากแนวหลังมีระยะทางไกลขึ้นมากและถูกรบกวนจากเครื่องบินทิ้งระเบิดตลอดเวลา ในวันที่ 25 ม.ค.1951 ฝ่ายสหประชาชาติ ถือโอกาสโจมตีอย่างหนักด้วยอำนาจการยิงที่รุนแรงเป็นพิเศษ ฝ่ายจีนได้แต่ต่อสู้เพื่อดึงเวลาให้การส่งกำลังบำรุงมาถึง แต่ก็ต้องถอยร่นกลับไปที่เส้นขนานที่ 38 การต่อสู้ดำเนินไปจนถึงวันที่ 21 เม.ย.1951 ฝ่ายสหประชาชาติจึงได้ยุติการโจมตีเมื่อกำลังเสริมของฝ่ายจีนมาถึง ในยุทธการครั้งที่ 4 นี้ ฝ่ายสหประชาชาติสูญเสีย 78,000 นาย ส่วนฝ่ายจีนและเกาหลีเหนือสูญเสีย 42,000 นาย นี่คือยุทธการที่ใช้เวลานานที่สุดในสงครามเกาหลีคือ 87 วัน 

ยุทธการทั้ง 4 ครั้งทำให้ฝ่ายสหรัฐมองไม่เห็นหนทางชนะ นายพลแมคอาเธอร์ ต้องการใช้ระเบิดนิวเคลียร์ แต่ประธานาธิบดีทรูแมนต้องการจำกัดสงคราม ฝ่ายจีนเองก็รอกำลังเสริมอีก 9 กองพล การรบเริ่มขึ้นใหม่ในวันที่ 22 เม.ย.1951 คราวนี้กองกำลังฝ่ายสหประชาชาติไม่หลงให้ปิดล้อมแล้ว การรบจึงเป็นการยันฝ่ายตรงข้ามไปตลอดแนวตะวันตก-ตะวันออกของคาบสมุทรเกาหลีและดำเนินไปประมาณหนึ่งเดือน ฝ่ายจีนถึงถอนกำลังกลับเส้นขนานที่ 38 แต่กองกำลังใหม่บางส่วนไม่มีประสบการณ์เพียงพอ จึงถูกฝ่ายสหประชาชาติล้อมปราบบ้าง หลังจากนั้น ทั้ง 2 ฝ่ายจึงหยุดอยู่ที่เส้นขนานที่ 38 ฝ่ายสหประชาชาติสูญเสีย 82,000 นาย ฝ่ายจีนสูญเสีย 75,000 นาย หลังจากนั้นมีแต่การรบเล็ก ๆ ที่ไม่ค่อยมีความสำคัญมากนัก 

การเจรจาเริ่มต้นในเดือน ก.ค.1951 ฝ่ายสหรัฐพยายามเรียกร้องเงื่อนไขห้ามไม่ให้ฝ่ายเกาหลีเหนือมีการฟื้นฟูบูรณะถนน ทางรถไฟ และ สนามบิน ตลอดจนเงื่อนไขอื่นๆ ที่ตกลงกันไม่ได้ เช่น นักโทษสงคราม จนการเจรจากลายเป็นการทะเลาะกันที่กินเวลายาวนานถึง 2 ปี แต่ข้อตกลงสุดท้ายที่ได้ก็เป็นเพียงการหยุดยิงและการแลกเปลี่ยนนักโทษสงคราม ไม่ใช่สัญญาสันติภาพ 

ในสงครามครั้งนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายมีกำลังทหารในสงครามโดยประมาณ 1.2 ล้านคนเท่าๆ กัน แต่อาจจะมีบางจุดของเวลาที่กำลังพลแตกต่างกันบ้าง ตามจังหวะการส่งกำลังบำรุง 

รายละเอียดที่เล่ามานี้มีพื้นฐานมาจาก 3-4 แหล่ง และแต่ละแหล่งล้วนแต่มาจากฝ่ายตะวันตกทั้งสิ้น ตัวเลขต่างๆ จึงไม่ได้ห่างจากความเป็นจริงและไม่ได้เอียงเข้าข้างหนึ่งข้างใด ในทางตรงกันข้าม ตัวเลขทางการของกองทัพสหรัฐมีความคลาดเคลื่อนสูงมาก โดยกล่าวว่า ฝ่ายจีนสูญเสีย 900,000 นาย ซึ่งหมายความว่าทหารจีนที่มารบในเกาหลีตายเกือบหมดเลย 

ชาวอเมริกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายพลแมคอาเธอร์ หยิ่งยะโสถือว่าตัวเองชนะสงครามโลกมาแล้ว จีนเป็นชนชาติต่ำต้อยไม่มีอะไรน่ากลัว ไม่สนใจเรียนรู้ฝ่ายตรงข้าม สหรัฐจึงเพลี่ยงพล้ำฝ่ายตรงข้ามถึง 3 ยุทธการขนาดใหญ่ๆ ติดๆ กันแก่กลยุทธที่จีนใช้มาเป็น 10-20 ปี ใครที่อ่านสามก๊ก ก็จะรู้ว่า การปิดล้อมและซุ่มโจมตีเป็นเรื่องธรรมดาที่มีมาแต่โบราณ นอกจากนี้ ฝ่ายสหประชาชาติมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เหนือกว่ามากมาย ทั้งคุณภาพ ปริมาณ และก็ด้วยกำลังพลที่ประมาณเท่าๆ กัน (แต่อาจไม่เท่ากันเป็นบางเวลา) 

สิ่งที่สหรัฐบรรลุในสงครามเกาหลี จึงไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นความสำเร็จ ถ้าไม่ใช่ความพ่ายแพ้